คุ้ยประวัติ “สาเก” เครื่องดื่มอันลือลั่น จากวัฒนธรรมชาติญี่ปุ่น
เหล้าสีใส ๆ ขาว ๆ ชนิดเดียวกันกับสาเกมีหลากหลายสัญชาติมาก ๆ ในโลกใบนี้ ด้วยกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันออกไป อย่างที่พวกเราเคยเห็นว่ามันมีหน้าตาที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน เช่น สาเก สาโท เหมาไถ โซจู จิน วอดก้า ซึ่งเหล้าพวกนี้เป็นเหล้าชนิดใสไร้สี โดยส่วนใหญ่ทำมาจาก ข้าว และธัญพืชต่าง ๆ ที่มีในแต่ละประเทศแหล่งผลิต ทำให้เหล้าเหล่านี้เกิดเอกลักษณ์ และความแตกต่างกันออกไป
วันนี้ Thomas Thailand จะมาพูดถึงเหล้าขาวประจำชาติญี่ปุ่นอย่าง “สาเก” กันหน่อย ว่ามีที่มาและที่ไปอย่างไร
“สาเก” มีกระบวนการผลิตเช่นเดียวกันกับไวน์และเบียร์ โดยมีวัตถุดิบหลักก็คือ ข้าว ซึ่งเราต่างก็รู้ ๆ กันว่าข้าวญี่ปุ่นก็มีความพิเศษในตัวมันเองที่ทำให้สาเกมีรสชาติที่ดีเยี่ยม โดยอีกชื่อที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเรียกกันก็คือ “ไวน์ข้าว”
ไวน์ข้าว หรือสาเก มีส่วนสำคัญมากในประวัติศาสตร์ชาติญี่ปุ่น ที่มาพร้อมกับวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่น ซึ่งคนญี่ปุ่นเชื่อว่า “สาเก” มีความพิเศษเหมือนกับไวน์ ถ้าได้ทานพร้อมกับอาหารญี่ปุ่นจะทำให้อร่อยมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าทานกับอาหารชาติอื่น รสชาติที่ได้สัมผัสก็จะแตกต่างออกไป โดยปัจจุบัน สาเกญี่ปุ่นนั้นก็มีชื่อเสียงเรียงนามขยายวงกว้างออกไปในหลากหลายประเทศ ทำให้ผู้คนทั่วโลกได้มีโอกาสลิ้มลองกัน เพราะถ้ามีร้านอาหารญี่ปุ่นก็ต้องควบคู่มากับสาเกอย่างแน่นอน
ขั้นตอนการทำเหล้า “สาเก” ที่ละเมียดละไม
เหล้าสาเก มีวัตถุดิบหลักทำมาจาก ‘ข้าว’ โดยกระบวนการจะต้องคำนึงถึงความบริสุทธิ์ และรสชาติของวัตถุดิบเป็นอย่างมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับการสีข้าว มักจะสีข้าวจนให้เหลือแค่ใจกลางของเมล็ดข้าว
ความพรีเมียมของสาเกนั้นจะขึ้นอยู่กับสีของข้าว และจำนวนใจกลางเมล็ดข้าวที่สีได้ แถมยังต้องใช้น้ำที่มีความบริสุทธิ์สูงและมีปริมาณแร่ธาตุที่เหมาะสม ที่เรียกว่า ‘มิยาสุ’ โดยส่วนใหญ่มาจากน้ำที่มีแร่ธาตุ และธรรมชาติที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังมีการนำเชื้อราชนิดพิเศษอย่าง ‘Aspergillus oryzae’ ที่จะมาทำให้แป้งจากข้าวนั้นกลายเป็นน้ำตาลกลูโคส และยีสต์จากทางสาเก ก็จะมาเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสที่ได้มาเป็นแอลกอฮอล์ในที่สุด
ส่วนใหญ่แล้วสาเกจะใช้ระยะเวลาการบ่มที่ยาวนานกว่า 9 – 12 เดือน ทำให้สาเกมีแอลกอฮอล์ 17 – 19 ดีกรีโดยประมาณ ซึ่งจะมีการนำน้ำมาใส่ลงไปในเหล้าเพื่อให้เกิดการเจือจาง ก่อนจะนำมาบรรจุขวด ในแต่ละโรงผลิตก็จะมีสูตรที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้เชี่ยวชาญของโรงผลิตนั้น ๆ
ประวัติศาสตร์ ที่มาของ “สาเก” มีต้นกำเนิดมาอย่างไร
จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ไม่ทราบแน่ชัดว่า “สาเก” ได้เริ่มต้นมาจากยุคไหน โดยคาดการณ์กันว่า สาเก นั้นมาจากยุคยาโยอิ หรือช่วง 300 ปีก่อนคริสตกาล
ช่วงยุคนาระ เป็นยุคแรก ๆ ของสาเกที่เริ่มมีชื่อเสียง มีการนำเอามาใช้ประกอบพิธีกรรมในวัง มีการผลิตสาเกเข้าสู่วังหลวงในยุคนี้ โดยจะมีเพียงจักรพรรดิที่ได้ลิ้มลองรสชาติของสาเกเท่านั้น
จนมาถึงช่วงสมัยเฮอัง ได้มีการผลิตสาเกในหมู่ประชาชน วัด และศาลเจ้าอย่างทั่วถึง ทำให้เป็นเริ่มที่รู้จัก
ยุคมูโรมาจิ เป็นยุครุ่งเรือง และทำให้สาเกมีอิทธิพลอย่างมากในวงกว้าง เพราะเห็นได้ว่ามีโรงเหล้าสาเก เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และเริ่มมีการเก็บภาษีเหล้าให้กับทางรัฐบาล
ช่วงครึ่งหลังของทางศตวรรษที่ 16 มีการพัฒนาวิธีกรรมการผลิตมากขึ้น และมีกระบวนการปลอดเชื้อที่คิดค้นขึ้นมา เรียกว่า ‘ฮิอิเระ’ (Hi-ire) รวมทั้งยังมีการบ่มสาเกด้วยถังไม้
ช่วงเอโดะ มีการนำเทคนิค เติมแอลกอฮอล์ เพื่อทำให้ สาเก มีความบริสุทธิ์ ปรับปรุงรสชาติและไม่มีสารเจือปนจากสิ่งอื่น ๆ และแบคทีเรีย
ปี 1904 มีการก่อตั้งสถาบันวิจัยสุรา (National Research Institute of Brewing) โดยกระทรวงเศรษฐกิจ และหน่วยงานนี้ยังได้รับมอบหมายในการพัฒนา ศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีการผลิตสาเก
ตั้งแต่อดีต – ปัจจุบัน สาเกได้ถูกตั้งให้เป็นเครื่องดื่มอันทรงคุณค่าที่ผลิตจากข้าว โดยคนญี่ปุ่นก็ยังนำมาใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนา เทศกาลต่าง ๆ รวมถึงงานสังคม
6 ประเภทของ “สาเก” จากชาติญี่ปุ่นที่ควรรู้
สาเก Junmai
สาเกชนิดอาวุธหนัก ที่เรียกได้ว่าไม่มีสารเจือปนใด ๆ เช่น น้ำตาล แอลกอฮอล์ เป็นสาเกที่ได้จากการหมักข้าวล้วน ซึ่งไม่มีกลิ่นที่โดดเด่น โดยแต่ละแบรนด์จะมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่คาดการณ์ไม่ได้ เพราะไม่ได้เติมแอลกอฮอลล์ลงไป แต่อย่างไรก็ตาม สาเกประเภท Junmai ก็จะมีหลายเกรด แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับทางผู้ผลิต และสูตรต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเสิร์ฟเป็นชนิดร้อน
สาเก Ginjo
สาเกที่จะเป็น Ginjo ได้ต้องมีการสีข้าวออกไปประมาณ 40% และเหลือเนื้อข้าวอยู่ที่ 60% มีการตกแตกสี กลิ่นให้หอมชวนรับประทาน โดย Ginjo นั้นจะใช้ยีสต์ชนิดพิเศษ และการหมักในอุณหภูมิที่ต่ำ เหมาะแก่การเสิร์ฟแบบเย็นและทานคู่กับอาหารที่สุด
สาเก Daiginjo
มีความคล้ายกันกับสาเก Ginjo แต่จะมีการสีข้าวออกไปประมาณ 50% – 60% และเหลือเนื้อข้าวอยู่ที่ 30% – 50% ขึ้นอยู่กับสูตรของโรงผลิต ทำให้มีความเข้มข้นขึ้นจากเดิมเหมาะแก่การเสิร์ฟแบบเย็น
สาเก Honjozo
สาเก Honjozo มีการสีข้าวโดยให้เหลือเนื้อข้าวไม่น้อยกว่า 70% และทำการเสริมแอลกอฮอล์ลงไป เพื่อให้เกิดรสชาติที่โดดเด่นมากขึ้น เสิร์ฟอุ่น หรือเสิร์ฟเย็นก็ได้
สาเก Namazake
เป็นสาเกที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ ได้อารมณ์เหมือนเหล้าหมักเอง ถ้าบ่มเสร็จแล้วจะได้รสชาติที่ถูกปากควรเก็บไว้ในที่เย็น เพื่อไม่ให้รสชาติเปลี่ยนไป
สาเก Namachozo
เป็นสาเกที่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์เพียงรอบเดียวเท่านั้น ควรเก็บไว้ในที่เย็นเช่นกัน โดยจะแตกต่างจาก Namazake ที่จะมีรสชาติที่หอม สดชื่นกว่า
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น สาเก ยังมีอีกหลากหลายประเภทแตกแขนงออกไปตามตำรา และสูตรของแต่ละฝ่ายกระบวนการผลิตอย่างมากมาย อาทิ สาเกสีขุ่นน้ำข้าว ที่เราเคยเห็นตามหนัง และการ์ตูน สาเกเหล่านี้จะเรียกว่า Nigori เป็นสาเกที่ไม่ได้ผ่านการกรอง ยังจะทำให้มีเศษเนื้อข้าว และส่วนผสมอื่น ๆ หลงเหลือ มีรสหวาน หอม ส่วนใหญ่สาเกประเภทนี้จะนิยมทานกับของหวาน
จากประวัติทั้งหมด ถือได้ว่า สาเก เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่มีความพิถีพิถัน ทั้งในด้านของกระบวนการผลิต ที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก ทำให้สาเกมีความเป็นเอกลักษณ์คงอยู่กับประเทศญี่ปุ่น แถมยังมีการส่งออกไปอย่างกว้างขวางในหลากหลายประเทศทั่วโลก เชื่อได้เลยว่าถ้าอาหารญี่ปุ่นยังคงเป็นที่นิยม สาเกก็ยังคงอยู่เคียงคู่กันไปอย่างแน่นอน