Search
Close this search box.
J-POP

ทิศทางของวงการ J-POP กระแสเพลงญี่ปุ่นที่น่าจับตามอง

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้จะเห็นได้ชัดว่า ‘เพลงญี่ปุ่น’ และ ‘ศิลปินญี่ปุ่น’ ได้กลายมาเป็นที่รู้จักในบ้านเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Fujii Kaze, LiSA, Kenshi Yonezu, Official HIGE DANdism และ YOASOBI ส่วนหนึ่งมาจากกระแสตาม Social Network แต่อีกส่วนที่น่าสนใจคือ ‘เสน่ห์’ ในแบบฉบับของเพลงญี่ปุ่นที่หาไม่ได้จากชาติไหน ๆ ซึ่งในบทความนี้ Thomas Thailand จะพาทุกคนไปท่องโลกของอุตสาหกรรมเพลงญี่ปุ่นกัน เรียกได้ว่าเป็นของดีที่จะทำให้หูเราเคลือบทองได้เลยทีเดียว

J-POP เพลงญี่ปุ่น

กระแสสื่อบันเทิงและอุตสาหกรรมเพลงญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

รู้หรือไม่? กระแสบันเทิงญี่ปุ่นอยู่คู่กับคนไทยมานานแล้ว เราต้องเริ่มร้อยเรียงจากยุครุ่งเรืองที่สุดของวงการญี่ปุ่นในช่วงยุค 80-90 ที่ทุกอย่างยังเป็นแอนะล็อกอยู่ สำหรับคนที่อายุ 20 กลาง ๆ ขึ้นไป น่าจะเคยได้สัมผัสกับสื่อบันเทิงญี่ปุ่นผ่านทางช่องฟรีทีวีกันมาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะซีรีส์ เพลง อนิเมะ และรายการวาไรตี้ หากจะให้นิยามความพิเศษของสื่อบันเทิงญี่ปุ่นในขณะนั้นก็ต้องเป็นเรื่องของความแปลกใหม่อย่างซีรีส์ที่มีการนำอาชีพต่าง ๆ มาเจาะลึก นำเสนอมุมมองของคนในสายอาชีพแบบน่าสนใจ และให้คนทั่วไปมองเห็นภาพชัดมากขึ้น อาทิ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น ตัดภาพมาที่วงการเพลงญี่ปุ่น ณ เวลานั้น ก็มีวงดนตรีและศิลปินระดับตำนานมากมายถือกำเนิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ‘X Japan’ ‘L’Arc-en-Ciel’ ที่มีเอกลักษณ์ทางดนตรีและแฟชั่นไม่เหมือนใครจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่เดินตามฝันบนเส้นทางสายดนตรี ซึ่งศิลปิน/นักแสดงญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นต้องยอมรับจริง ๆ ว่าเป็นที่รู้จักและโด่งดังในไทยไม่แพ้นักแสดง/ไอดอลจากเกาหลีใต้ในปัจจุบัน โดยช่วงนั้นญี่ปุ่นพยายามผลักดันสื่อและตีตลาดออกนอกประเทศอย่างเต็มที่

แต่เมื่อมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ญี่ปุ่นก็เริ่มปิดกั้นไม่ให้คนนอกประเทศเข้าถึงสื่อญี่ปุ่นในหลายแขนง จากเคยเข้าถึงได้ง่ายกลับกลายเป็นเหมือนเมืองลับแลที่ไม่รู้เลยว่ามีอะไรอยู่บ้าง เช่นเดียวกับวงการเพลงญี่ปุ่นที่ศิลปินส่วนใหญ่เลือกหันไปสร้างชื่อเสียงในประเทศแทนการตีตลาดนอก เพราะสุดท้ายแล้วตลาดในประเทศก็รับประกันเรื่องของความสำเร็จได้แน่นอนกว่า แม้ผลงานมีศักยภาพสูงพอจะส่งออกก็ตาม ด้วยเหตุนี้ทำให้การฟังเพลงญี่ปุ่นของแฟนเพลงต่างประเทศจำเป็นต้องเปลี่ยนไป บวกกับในช่วงที่ YouTube เป็นช่องทางหลักในการสร้างชื่อของศิลปินทั่วโลก แต่ศิลปินญี่ปุ่น “ส่วนใหญ่” เลือกที่จะลงเพลงพอหอมปากหอมคอเท่านั้น เช่น การลงเพลงฉบับ Short Version ที่ฟังได้ไม่จบเพลง หรือหนักกว่านั้นคือไม่มาข้องเกี่ยวกับแพลตฟอร์มสากลเหล่านี้เลย การเข้าถึงจึงต้องต้องอุดหนุนผ่านช่องทางภายในประเทศญี่ปุ่นเป็นหลักเท่านั้น ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้รับรู้ถึงสื่อญี่ปุ่นสักเท่าไหร่นั่นเอง

การกลับมาของเพลงญี่ปุ่น

ของดีต่อให้อยู่ในที่ลึกลับแค่ไหนสุดท้ายก็ถูกหาจนเจออยู่ดี มาดูปัจจัยทาง ‘สังคม’ กันว่ามีตัวแปรอะไรบ้างที่ทำให้เพลงญี่ปุ่นกลายเป็นกระแสที่คนทั่วโลกให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีทั้งหมด 3 องค์ประกอบหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่

Tiktok & YouTube

แพลตฟอร์มเหล่านี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากเลย เพราะคนที่เล่นอยู่น่าจะรู้ดีว่าเป็นช่องทางที่สร้างกระแสให้กับเพลงจากทั่วทุกมุมโลกได้ง่ายที่สุดไม่เว้นแม้แต่เพลงญี่ปุ่น ผ่านการนำไปใช้เป็น background music หรือเต้น cover รวมถึงแปลความหมาย ยกตัวอย่างเพลงญี่ปุ่นที่กลายเป็นไวรัลแบบที่น่าจะเห็นภาพชัดที่สุดก็คงต้องเป็น ‘Shinunoga E-Wa’ และ ‘Matsuri’ จากศิลปินมากความสามารถ Fujii Kaze ที่จู่ ๆ ทั้งสองเพลงก็เกิดเป็นไวรัลขึ้นมา แต่ก็เป็นโอกาสให้พ่อหนุ่มคนนี้แจ้งเกิดต่อคนทั่วโลกไปในทันที

อนิเมะ

‘อนิเมะ’ นับเป็นสื่อบันเทิงไม่กี่อย่างที่ญี่ปุ่นยังคงผลักดันออกนอกประเทศมาทุกยุคทุกสมัย ยิ่งปัจจุบันมีบริการ Streaming Platform อย่าง ‘Netflix’ ‘Bilibili’ ‘Disney+’ ก็ยิ่งสร้างการรับรู้ให้คนเข้าถึงอนิเมะเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยปกติอนิเมะหนึ่งเรื่องจะมีเพลงเปิดและปิด tie-in อยู่ในนั้นด้วย เป็นการโปรโมตแบบพึ่งพาอาศัยกันไปในตัวอยู่แล้ว พออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดเป็นกระแสขึ้นมาก็จะพาให้อีกอย่างเป็นกระแสไปด้วย เช่น Demon Slayer ดาบพิฆาตอสูร ถือเป็นเรื่องที่ทั้งเพลงและอนิเมะประสบความสำเร็จอย่างมาก แม้แต่เด็ก ๆ ในไทยก็รู้จักและร้องตามได้ นี่จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ค่อนข้างได้ผลในการดันกระแสของเพลงญี่ปุ่นให้เพิ่มขึ้น

การรู้จักผ่านศิลปินที่ชอบ

ศิลปินต่างประเทศที่มีอิทธิพลในบ้านเราที่สุดตอนนี้คงหนีไม่พ้นเหล่าไอดอลเกาหลี หรือวงการ K-POP หลายครั้งที่ศิลปินมักจะเปิดเพลงญี่ปุ่นตามไลฟ์ นำไปร้องในคอนเสิร์ต หรือ cover ลง YouTube แต่สังเกตกันไหมว่า… ทำไมศิลปินเกาหลีส่วนใหญ่ถึงออกเพลงญี่ปุ่นและอัลบั้มญี่ปุ่นมาวางขายเอาใจแฟน ๆ ชาวอาทิตย์อุทัยพิเศษกว่าประเทศอื่น เรื่องนี้มีเหตุผล ดังนี้

จุดแข็งของเพลงญี่ปุ่น

ปัจจุบันอุตสาหกรรมตลาดเพลงญี่ปุ่นใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากอเมริกาเท่านั้น และครองอันดับนี้มานานหลายสิบปีแล้ว หมายความว่าหากมีพื้นที่ในตลาดนี้ได้ก็จะสามารถทำเงินอย่างมหาศาล จึงไม่แปลกที่ศิลปิน K-POP หรือแม้แต่อเมริกายังต้องมาทำการตลาดที่ญี่ปุ่น และแน่นอนว่า ‘กำลังซื้อ’ เป็นสิ่งที่จะขับเคลื่อนและผลักดันให้ตลาดเพลงญี่ปุ่นยิ่งใหญ่ได้ แต่สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือการสร้าง Loyalty โดยผลงานจะต้องมีคุณภาพและมัดใจเหล่าคนฟังได้อย่างอยู่หมัด ไม่ว่าจะเป็น…

  • เพลงญี่ปุ่นกับความเก่งในการพลิกแพลง

ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 20 เดิมทีญี่ปุ่นรับอิทธิพลต่าง ๆ มาจากตะวันตก รสนิยมของคนในยุคนั้นจึงชอบความเป็น Western เสียส่วนใหญ่ รวมถึงอิทธิพลทางดนตรีก็เช่นกัน ซึ่งในยุค 70-80 ก็มีเพลงญี่ปุ่นแนวหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมานั่นคือ ‘City Pop’ ที่ผสมผสานกลิ่นอายของแนว Pop, Jazz, Disco, Funk และ R&B เอาไว้ ออกมาเป็นแนวเพลงที่ให้ความรู้สึกถึงเมืองหลวงยามค่ำคืน แต่รู้ไหม? คำว่า City Pop เพิ่งถูกนิยามโดยชาวต่างชาติไม่กี่ปีมานี้เอง นอกจากนี้ยังมีเพลงญี่ปุ่นอีกมากมายที่ยังไม่มีคำนิยามเฉพาะตัวว่าคือแนวเพลงอะไร เมื่อฟังเพลงญี่ปุ่นทีไรก็ต้องประหลาดใจและเซอร์ไพรส์อยู่หลายครั้งถึงความแปลกใหม่

  • เพลงญี่ปุ่นกับความเป็นนักพรรณนา

ไม่ใช่แค่แนวเพลงเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เพลงญี่ปุ่นมัดใจผู้ฟังได้อยู่หมัด แต่เนื้อเพลงยังมีความเป็นนักกวีกันสุด ๆ เลยด้วย โดยเฉพาะการนำสิ่งของรอบตัว ช่วงเวลาหรือฤดูกาลมาพรรณนาเปรียบเปรย เช่น “เมืองที่ถูกย้อมไปด้วยสีเหลืองอำพันยามตะวันตกดินนั้นได้สะท้อนแสงและเงาที่เต็มไปด้วยความทุกข์ใจ” ซึ่งในเพลงญี่ปุ่นเราสามารถพบการเล่าเรื่องได้หลายรูปแบบมากตั้งแต่ปั่นจักรยานไปหาคนคนหนึ่ง จนถึงปรัชญาการใช้ชีวิต เหมือนได้ฟังเรื่องสั้นเลยก็ว่าได้

  • เพลงญี่ปุ่นกับการนำเสนอที่หลากหลาย

ปกติศิลปินส่วนใหญ่มักจะมาในรูปแบบศิลปินเดี่ยวหรือวง แต่ที่ญี่ปุ่นมีการนำเสนอที่ล้ำไปอีกขั้นในรูปแบบของ Vocaloid ที่นำเสียง AI มาเป็นเสียงร้องหลักสำหรับนักแต่งเพลงที่ไม่กล้าใช้เสียงหรือไม่สามารถใช้เสียงตัวเองได้ ซึ่ง AI มีหลายเสียงให้เราเลือกและแต่ละเสียงยังมีชื่อด้วย โดย AI ที่จะได้ยินชื่อกันบ่อยสุดคือ Hatsune Miku นอกจากนั้นยังมี ‘Utaite อุไตเตะ’ ที่เหมือนศิลปินทั่วไปแทบทุกอย่างแต่ไม่เปิดเผยหน้าตา แม้แต่ในคอนเสิร์ตเราก็จะไม่ได้เห็นหน้าพวกเขา ด้วยลูกเล่นแบบนี้ก็สร้างประสบการณ์การเสพเพลงญี่ปุ่นที่แตกต่างออกไปได้อย่างไม่น่าเบื่อ

ทิศทางต่อจากนี้ของวงการเพลงญี่ปุ่น

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าด้วยกระแสของโลกที่ญี่ปุ่นไม่อาจต้านทานไหว ทำให้ตอนนี้ญี่ปุ่นเริ่มมองตลาดสากลมากขึ้นแล้ว มีการสร้างคอนเทนต์ หรือสื่อสารถึงอินเตอร์แฟนมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าต่อจากนี้เราจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ จากวงการเพลงญี่ปุ่นมากขึ้นอีก ด้วยศักยภาพทั้งทางกระแสสังคมและจุดแข็งของเพลงญี่ปุ่นก็ถือได้ว่าวงการนี้กำลังเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นทั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นข่าวดีสุด ๆ สำหรับแฟนเพลงญี่ปุ่นที่จะมีคนร่วมพูดคุยมากขึ้น

วงการเพลงญี่ปุ่นเปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็ง ยังมีแนวเพลงและศิลปินอีกมากที่รอให้คุณได้ค้นพบ และยังเป็นแหล่งขุมทรัพย์ชั้นดีในการศึกษาหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของการสร้างผลงานศิลปะ รับประกันว่าวงการนี้จะทำให้คุณเซอร์ไพรส์ไม่รู้จบ

SHARE

RELATED POSTS

เปิดคู่มือมือใหม่! สิ่งที่ต้องรู้ก่อนลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ปัจจุบัน โลกแห่งการลงทุนมีทางเลือกมากมายสำหรับนักลงทุน…
โรคฝันกลางวัน อันตรายของการก้าวข้ามเส้นจินตนาการสู่การเพ้อฝัน เคยรู้สึกไหม? กับการติดอยู่กับความคิดบางอย่างที่พยายามจะลืมหรือสลัดออกจากหัวเท่าไหร่ก็ทำไม่ได้…