รู้จักฟังก์ชันเครื่องเล่นแผ่นเสียง เสน่ห์แห่งความวินเทจ
ในยุคดิจิทัลแบบนี้ คงมีไม่กี่คนที่จะนึกถึงการฟังเพลงผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียง สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่อยากเข้าสู่วงการแผ่นเสียง เสพความสุนทรีย์ของเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ทรงเสน่ห์จากเครื่องเล่นแผ่นเสียง เราจะพาไปทำความรู้จักกันว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงหลัก ๆ แล้วมีกี่ประเภท ฟังก์ชันอะไรบ้าง พร้อมแล้วไปลุยกันเลยครับ
เครื่องเล่นแผ่นเสียง มีกี่แบบ ?
ในที่นี้เราได้จำแนกแบ่งตามลักษณะการทำงานของเครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็น 3 ประเภท คือ
- ระบบอัตโนมัติ (Full Automatic) เพียงกดปุ่ม play กลไกของตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็จะยกโทนอาร์มออกมาวางเล่นเอง อีกทั้งเมื่อเล่นจบร่องเสียงสุดท้าย ตัวเครื่องจะมีเซ็นเซอร์ยกโทนอาร์มขึ้นมาให้เอง แถมยังพามาเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อยอีกด้วย
- ระบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi Automatic) คล้ายกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบระบบอัตโนมัติ มีเพียงบางขั้นตอนที่ต้องทำเอง เช่น อาจต้องยกเข็มมาวางเองในตอนเริ่มเล่น และตอนเก็บ ระบบอาจแค่ช่วยหยุด และยกเข็มขึ้นเมื่อเล่นจนจบร่องเสียงสุดท้ายเท่านั้น
- ระบบอัตโนมือ (Manual) ผู้ใช้ต้องทำหน้าที่เองตั้งแต่การเปิดเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้แพลตเตอร์หมุน ไปจนถึงนำโทนอาร์มกลับมาวางเข้าที่เอง แม้จะไม่อำนวยความสะดวกเท่าสองแบบแรก แต่ระบบนี้จะให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า
ฟังก์ชันมาตรฐานทั่วไปของเครื่องเล่นแผ่นเสียง
เครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นตัวดึงสัญญาณเสียงเพลงให้ออกมาจากแผ่นเสียง ซึ่งโดยทั่วไปในตลาดก็มีให้เลือกซื้อหลายระดับราคา และการใช้งาน แต่ก่อนที่จะไปเลือกซื้อกันนั้นเราก็ต้องรู้จักกับฟังก์ชันของเครื่องเล่นแผ่นเสียงก่อนว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง หลัก ๆ ตามมาตรฐานแล้วจะมีดังนี้
แพลตเตอร์ (Platter)
มีลักษณะเป็นจาน ทรงกลมแบน ขนาดใหญ่กว่าตัวแผ่นเสียงนิดหน่อย เพราะเป็นส่วนที่ใช้รองรับแผ่นเสียง วัสดุอาจมีทั้งทำมาจากโลหะ เช่น อะลูมิเนียมหรือทองเหลือง และอโลหะ เช่น อะครีลิคหรือกระจก ในเรื่องของการออกแบบยิ่งเป็นรุ่นที่ราคาสูง ก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น
การทำงานของเครื่องเล่นแผ่นเสียง แผ่นแพลตเตอร์จะหมุนไปตามเข็มนาฬิกาด้วยความเร็ว (รอบต่อนาที) ตามที่เราเลือก เช่น ระหว่าง 33 1/3 RPM, 45 RPM หรือ 78 RPM สำหรับในปัจจุบันจะมีให้เลือกเพียง 2 สปีด คือ 33 1/3 RPM และ 45 RPM
ก้านมอเตอร์ (Motor Pulley)
เป็นส่วนที่ต่อเชื่อมออกมาจากมอเตอร์ มีลักษณะเป็นแกนโลหะ ฟังก์ชันการใช้งานขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องเล่นแผ่นเสียง เช่น
เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Direct Drive ตัวมอเตอร์จะอยู่ใต้แพลตเตอร์ ส่วนก้านมอเตอร์จะโผล่ขึ้นมาตรงกลางของแผ่นแพลตเตอร์ ใช้ในการหมุนแผ่นแพลตเตอร์โดยตรง โดยอาศัยแรงหมุนของมอเตอร์
เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Belt Drive ใช้สายพานยางเป็นตัวดึงแผ่นแพลตเตอร์ให้หมุน สายพานจะถูกคล้องเข้ากับก้านมอเตอร์ ในขณะที่ตัวมอเตอร์จะออกไปอยู่นอกแกนของแพลตเตอร์
กล่องใส่มอเตอร์ (Motor Housing)
ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้าไปในตัวมอเตอร์
สายพาน (Rubber Belt)
สายพานลำเลียง มีทั้งแบบเส้นโค้งกลม และเส้นเหลี่ยม ส่วนมากมักทำด้วยยาง
แกนหมุน (Spindle)
แกนหมุนของเครื่องเล่นแผ่นเสียง มีลักษณะเป็นก้านโลหะที่แตะอยู่บนลูกปืนที่แผ่นแพลตเตอร์วางทับอยู่ แกนหมุนนี้จะโผล่ขึ้นมาตรงจุดศูนย์กลางเมื่อสวมแผ่นแพลตเตอร์ เพื่อเป็นตัวล็อกแผ่นเสียงบนแพลตเตอร์ขณะหมุน
แผ่นรองแผ่นเสียง (Turntable Mat)
เป็นแผ่นรองแผ่นเสียง ทำหน้าที่รองรับการสั่นสะเทือนที่เกิดจากแผ่นแพลตเตอร์ไม่ให้ไปกระทบถึงตัวแผ่นเสียงขณะที่กำลังเล่นอยู่ สำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงบางรุ่น แผ่นรองอาจยึดติดอยู่กับแผ่นแพลตเตอร์ไปเลย แต่โดยส่วนมากแล้วแผ่นรองกับแพลตเตอร์จะถูกแยกออกจากกัน แปลว่าเราสามารถใช้แผ่นรองอันอื่นจากคนละผู้ผลิตได้ เพราะขนาดจะมีมาตรฐานเหมือนกัน หรือมีขนาดเล็กกว่านิดหน่อย
วัสดุของแผ่นรองก็ส่งผลต่อเสียงเช่นกัน ซึ่งใครที่เป็นนักเล่นแผ่นเสียงอยู่แล้วอาจจะเข้าใจดี เพราะนอกจากจะช่วยรับการสั่นสะเทือนจากแผ่นแพลตเตอร์ไม่ให้ส่งผ่านไปถึงแผ่นเสียงแล้ว แผ่นรองที่มีคุณภาพดี ยังช่วยป้องกันไฟฟ้าสถิตย์ได้อีกด้วย
ปุ่มเปิด/ปิดเครื่องเล่นแผ่นเสียง (Power Button)
เมื่อกดเปิดมอเตอร์จะเริ่มทำงาน ก้านมอเตอร์จะหมุน ดึงให้สานพานหมุนตาม แล้วสายพานจะส่งแรงดึงไปที่ขอบของแผ่นแพลตเตอร์เพื่อให้เริ่มหมุนไปตามแรงดึงของสายพาน
ส่วนใหญ่แล้วเครื่องเล่นแผ่นเสียงจะติดตั้งปุ่มเปิด/ปิด ไว้บนตัวเครื่อง แต่บางรุ่นก็อาจจะไม่มีปุ่มนี้ มักพบกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ทำงานโดยการยก Tonearm แล้วเครื่องจะติด หมุนแผ่นไปเอง
ปุ่มเลือกสปีด (Speed Selection)
ฟังก์ชันของปุ่มเลือกสปีดในเครื่องเล่นแผ่นเสียงแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกันออกไป อาจออกแบบเลือกสปีดรอบหมุนของแผ่นแพลตเตอร์เป็นปุ่มกด หรือก้านโยก
ตุ้มน้ำหนัก (Counterweight)
เอาไว้ปรับตั้งน้ำหนักในการทำบาลานซ์ Tonearm เพื่อปรับจูนให้มีแรงกดบนปลายเข็มที่เหมาะสมกับหัวเข็มในแต่ละรุ่นของเครื่องเล่นแผ่นเสียง
จุดหมุน (Pivot)
เป็นตำแหน่งที่ Tonearm ถูกหนุนลอยขึ้นมาเหนือฐานเครื่อง และเป็นจุดที่จะสวิงเข้าหาและสวิงออกจากจุดศูนย์กลางของแผ่น
ที่ปรับแอนตี้ สเก็ตติง (Anti-Skating Control)
ใช้ปรับตั้งสมดุลของแรงต้าน Tonearm ขณะเล่น เพื่อไม่ให้ลื่นเข้าและถูกดันออกจากศูนย์กลางของแผ่น การปรับตั้งค่าแอนตี้ สเก็ตติงเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียง
ก้านยก/ปล่อย Tonearm (Cueing Lever)
เป็นกลไกที่ใช้พยุง Tonearm ให้ลอยขึ้นมา ออกแบบมาเพื่อให้ใช้แทนนิ้วมือยกโดยตรง ช่วยลดโอกาสการเกิดความเสียหายต่อแผ่นเสียงและหัวเข็ม
ตัวล็อก Tonearm (Tonearm Lock)
เป็นตัวล็อก Tonearm ป้องกันไม่ให้เคลื่อนที่ขณะไม่ได้ใช้งาน ช่วยลดโอกาสการเกิดความเสียหายต่อหัวเข็มได้
โทนอาร์ม (Tonearm)
เป็นส่วนที่ใช้ติดตั้งหัวเข็ม ทำหน้าที่เคลื่อนหัวเข็มไปตามร่องแผ่นเสียง โดยมากแล้วรูปทรงของ Tonearm จะมีอยู่ 3 ประเภท คือ โค้งรูปตัว S (S-shape), อาร์มตรง (Straight arm) และอาร์มรูปตัว J (J-Shape) ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นท่อ มีช่องว่างอยู่ด้านในไว้ร้อยสายสัญญาณที่ต่อมาจากหัวเข็มไปที่ขั้ว output และมักมีวัสดุที่ผลิตเป็นโลหะ
เฮดเชล (Headshell)
ส่วนที่เชื่อมต่อกับส่วนปลายของ Tonearm บางรุ่นสามารถหมุนถอดออกมาได้ หรือเชื่อมต่อตายตัวเลยก็มี ทำหน้าที่ปกป้องหัวเข็ม และยึดตัวบอดี้ของหัวเข็มให้นิ่ง และได้มุมที่เหมาะสมอยู่เสมอ
หัวเข็ม (Cartridge)
ชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็คือ หัวเข็ม มีปลายเล็ก แหลม ทำหน้าที่ลากตัวเองไปตามร่องของแผ่นเสียง ทำให้เกิดเป็นเสียง ภายในประกอบด้วยหลายส่วนประกอบหลายชิ้น เช่น ขดลวดทองแดง, แท่งแม่เหล็ก, ก้านและปลายเข็ม
แท่นเครื่อง (Plinth)
แผงบนเครื่องเล่นแผ่นเสียง เป็นฐานหลักใช้ติดตั้งชิ้นส่วนต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับการควบคุมการหมุนของแผ่นแพลตเตอร์ มีวัสดุและรูปแบบของแท่นเครื่องที่หลากหลายมาก มักใช้เทคนิคและเทคโนโลยีในการออกแบบที่ซับซ้อน เพื่อให้มีสมรรถนะสูงที่สุดในการป้องกันคลื่นความสั่นสะเทือนจากภายนอก
Output ของเครื่องเล่นแผ่นเสียง
จุดเชื่อมต่อกราวนด์
เชื่อมต่อสัญญาณกราวนด์ส่วนเกินในระบบให้ออกไปที่ earth ground สำหรับการใช้งานจริงอาจจะต่อหรือไม่ต้องต่อก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัญหาในระบบ
ขั้วต่อสัญญาณ Analog Output
จุดเชื่อมต่อสัญญาณ Analog Output จากเครื่องเล่นแผ่นเสียงไปที่เครื่องขยายเสียง (Amplifier)
สวิตช์เลือก ใช้/ไม่ใช้ ภาคขยายหัวเข็มในตัว (Pre Amp on/off Selector)
สำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงสมัยใหม่จะมีภาคขยายหัวเข็มติดตั้งมาให้ในตัว และมีฟังก์ชันให้เลือกว่าจะใช้หรือไม่ใช้
ขั้วต่อกับคอมพิวเตอร์ (Computer Interface)
ขั้วต่อ USB สำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ เพื่อดึงสัญญาณเสียงจากภาคขยายหัวเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียงไปแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลบนคอมพิวเตอร์
ช่องเสียบไฟเลี้ยง (12V DC Terminal)
จุดเสียบต่อกับ Power Supply จากภายนอก
สวิตช์เปิด/ปิด
เครื่องเล่นแผ่นเสียงสมัยใหม่ มักจะติดตั้งภาคขยายสัญญาณหัวเข็มมาให้ด้วย เนื่องจากการทำงานของภาคขยายหัวเข็ม (บอร์ดโฟโน) ต้องใช้ไฟเลี้ยง ทำให้สวิตช์เปิด/ปิด ควบคุมการทำงานของเครื่องทั้งระบบมารวมกันไว้ที่สวิตช์ตัวเดียวกัน แต่เครื่องเล่นแผ่นเสียงบางรุ่นก็แยกสวิตช์ภาคโฟโน กับการทำงานของมอเตอร์ออกเป็นคนละอันได้เช่นกัน
นี่เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบของเครื่องเล่นแผ่นเสียงนะครับ ใครที่เกิดหลงใหลให้กับความวินเทจของมันเข้าแล้ว ผมก็เวลคัมนะครับ เพราะวงการนี้เข้าแล้วออกยากมาก และสำหรับใครที่เป็นสายเล่นดนตรีอย่างพวกกีตาร์โปร่งเรามี รู้ก่อนซื้อกีตาร์โปร่ง เลือกยังไงให้เหมาะกับตัวเอง มาฝากอีกด้วยครับ