บุกหลังบาร์ของคราฟต์เบียร์ (Craft Beer)
คืออะไร พร้อมตอบทุกข้อสงสัย
คราฟต์เบียร์ ‘Craft Beer’ ไม่ใช่เสียงขานรับของคนที่เรียกชื่อ (ค้าบเบียร์) แต่เป็นเบียร์ประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้ดื่มทั่วโลก วันนี้กระผมนาย Thomas จะพาทุกคนไปท่องโลกแห่งคราฟต์เบียร์ เหมือนไปบุกหลังบาร์เลยล่ะครับ เริ่มตั้งแต่ทำความรู้จักว่าคราฟต์เบียร์คืออะไร แล้วมันต่างจากเบียร์สดหรือเบียร์ขวดทั่วไปอย่างไร พร้อมเรื่องต่าง ๆ อีกมากมายที่เหล่าคอเบียร์ห้ามพลาด
ปฐมบท – คราฟต์เบียร์ (Craft Beer) คืออะไร
คราฟต์เบียร์ (Craft Beer) คือ การทำเบียร์สไตล์อเมริกันที่เกิดจากผู้ผลิตรายเล็ก โดยประกอบด้วยคุณสมบัติทั้ง 3 อย่าง (กำหนดโดย Brewers Association) คือ
- โรงเบียร์มีขนาดเล็ก
มีกำลังการผลิตไม่เกิน 6 ล้านบาร์เรล ต่อปี (ประมาณ 700 ล้านลิตร) - เจ้าของเป็นผู้ถือหุ้นมากกว่า 75% (Independent)
- ใช้วัตถุดิบธรรมชาติทั้งหมด
(ห้ามใส่วัตถุดิบสังเคราะห์กลิ่นหรือรส ถ้าจะใส่ต้องใส่เพื่อให้มีกลิ่นและรสชาติดีขึ้นเท่านั้น)
เมื่อการผลิตคราฟต์เบียร์ถูกจำกัดจำนวน แต่กลับมีอิสระในการผลิตมากกว่า โดยเฉพาะกระบวนการกว่าจะออกมาเป็นคราฟต์เบียร์ จะต้องใช้ฝีมือและความพิถีพิถันในการทำเป็นพิเศษ จึงทำให้มีความโฮมเมดและรสชาติที่ได้มีความเรียลกว่าเบียร์ทั่วไป
แล้วคราฟต์เบียร์ (Craft Beer) ต่างจาก เบียร์สดหรือเบียร์ขวดยังไง ?
สิ่งที่คราฟต์เบียร์เป็น นั่นแหละคือความแตกต่าง ทั้งกระบวนการผลิตที่ผลิตโดยใช้ฝีมือ เป็นผู้ผลิตที่ไม่ใช่รูปแบบของอุตสาหกรรม และที่สัมผัสถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจนก็คือ คราฟต์เบียร์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากการผลิตด้วยความใส่ใจเพื่อให้ได้รสชาติและคุณภาพที่ดีสำหรับผู้ดื่ม
หรือจริง ๆ แล้วจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ Craft Beer จากฝั่งคอเบียร์ กับ Specialty coffee จากฝั่งคอกาแฟ มีความคล้ายกันอยู่ตรงที่ใส่ใจในกระบวนการทำ และเน้นที่เรื่องรสชาติและคุณภาพให้ผู้ดื่มเป็นหลัก นั่นเองครับ
แต่ถ้าใครยังสงสัยว่า Specialty coffee คือยังไง ลองไป ทำความรู้จักวงการกาแฟคุณภาพสูง คลิกเลย» สไตล์การชงกาแฟแบบ Specialty Coffee
รู้จักการให้กำเนิดเบียร์
เบียร์จะเกิดได้ต้องมี 4 ส่วนประกอบหลัก นี้
– ยีสต์ (Yeast) นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดแอลกอฮอล์และก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
Top Ferment – Ale Yeast ยีสต์ผิวหน้าของน้ำเบียร์
Bottom Ferment – Lager Yeast ยีสต์ด้านล่างของน้ำเบียร์
– ฮ็อปส์ (Hops) พืชที่ใช้ถนอมอาหาร ใช้แค่ส่วนของดอกในการหมัก เพื่อให้ได้กลิ่นหอมและรสขม
– มอลต์ (Malt) เมล็ดธัญพืชที่นำมาหมักเบียร์ มอลต์แต่ละแบบมีผลต่อสีและรสชาติของเบียร์ (เปลี่ยนใช้ข้าวชนิดอื่นได้ เช่น ข้าวสาลี)
– น้ำ (Water) เบียร์มีส่วนประกอบเป็นน้ำ 95% ขึ้นไป น้ำจากแหล่งที่ต่างกันก็มีรสชาติและแร่ธาตุต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อรสชาติเบียร์
5 Steps การทำ คราฟต์เบียร์ (Craft Beer)
- Mashing: หรือการบ่ม นำมอลต์บดหยาบ ต้มในน้ำอุ่นประมาณ 60 – 70 องศาเซลเซียส แล้วนำไปต้มใน Mash Tun (เครื่องบดขนาดใหญ่) ผสมจนได้ลักษณะ Wort
- Boiling: หรือการต้ม นำ Wort มาต้มให้เดือดในอุณหภูมิ 100 องศา แล้วใส่ hops ลงไป (ขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละคน)
- Whirlpool: หรือการตกตะกอน วนน้ำที่ต้มแล้ว ทำให้เกิดการตกตะกอน เพื่อลดอุณหภูมิให้เหมาะสำหรับขั้นตอนในการหมัก
- Ferment: หรือการหมัก ย้ายน้ำ Wort มาใส่ในถังหมัก ใส่ยีสต์ชนิดที่ต้องการ (ยีสต์เปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์) ต้องควบคุมอุณหภูมิให้ได้ตามค่าปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต้องการ การทำงานของยีสต์แบ่งเป็น 2 แบบ ตามประเภท คือ
Ale Yeast จะได้เบียร์ประเภท Ale คือ Top Ferment
Lager Yeast จะได้เบียร์ประเภท Lager คือ Bottom Ferment - Packaging: นำเบียร์ที่ได้มาใส่บรรจุภัณฑ์ที่ต้องการ
8 ประเภทคราฟต์เบียร์ที่ติดท็อปฮิตในไทย
1. “Lager” คราฟต์เบียร์ สายนุ่มลิ้น
ลาเกอร์ (Lager) คราฟต์เบียร์ Bottom Ferment ยีสต์ที่ทำงานด้านล่างของถังหมัก หมักด้วยอุณหภูมิที่เย็นกว่าปกติ สีใส สดชื่น ให้รสชาติขม แต่นุ่มลิ้น
2. คราฟต์เบียร์ สายบอดี้บาง หอมหวาน ต้อง “Pilsner”
Pilsner เป็นคราฟต์เบียร์ Bottom Ferment เช่นกัน ลักษณะของรสชาติเฉพาะที่มีบอดี้บาง ๆ รสหวานอ่อน ๆ และมีกลิ่มหอมจากฮ็อปส์และมอลต์
3. คราฟต์เบียร์ “Witbier” สายกลิ่น Citrus ต้องจัด
Witbier เบียร์สีขาว (Wit แปลว่า ขาว) คราฟต์เบียร์ ทำจากข้าวสาลี มักมีกลิ่นของเปลือกส้ม (Citrus) และเมล็ดผักชี เป็นสไตล์การทำเบียร์ของเบลเยียม ดื่มง่าย ลื่นคอ ใครที่กำลังเลี่ยงรสขม ต้องตัวนี้เลย
4. “Hefeweizen” คราฟต์เบียร์ยอดฮิต ถูกปากคนไทย
Hefeweizen คราฟต์เบียร์สไตล์เยอรมัน ดื่มง่าย แถมถูกปากคนไทย มีกลิ่นฮ็อปส์จาง ๆ และหมักด้วยยีสต์เข้ม อาจทำให้มีกลิ่นผลไม้อย่าง กล้วยหรือแอปเปิลโผล่มาได้
5. “Pale Ale” คราฟต์เบียร์หอม หวาน ดื่มง่าย
คราฟต์เบียร์สีเหลืองทอง ที่เด่นในรสชาติของฮ็อปส์ มีกลิ่น Citrus จาง ๆ รสชาติอ่อน ดื่มง่าย บอดี้บาง
6. “IPA” คราฟต์เบียร์ยอดฮิต ขั้นกว่าของ Pale Ale
Indian Pale Ale หรือ IPA คราฟต์เบียร์ มีสีส้มออกทองแดง โดดเด่นด้วยบอดี้ที่เข้มข้น มีปริมาณฮ็อปส์และยีสต์มากขึ้น ส่งผลให้เบียร์มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นตามไปด้วย และมีกลิ่น รสของฮ็อปส์ที่ชัดเจน
7. คราฟต์เบียร์ สายหนักแน่น ต้องตัวนี้ “Double IPA”
คราฟต์เบียร์ Double IPA หรือบางที่เรียกว่า imperial IPA โดยต่อยอดมาจาก IPA แต่ใส่ฮ็อปส์เพิ่มขึ้นและหมักยีสต์นานขึ้น 2 เท่า ทำให้มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูง ตามด้วยกลิ่นและบอดี้ของเบียร์ก็แน่นเพิ่มเป็น 2 เท่าเช่นกัน
8. “Stout Beer” สายคราฟต์เบียร์ดำ ได้รสนุ่มลึก
สเตาท์เบียร์ (Stout Beer) เป็นคราฟต์เบียร์ Ale มีสีดำ ได้จากการหมักข้าวบาร์เลย์ที่อบจนเกือบไหม้ ผสมกับมอลต์ ปริมาณแอลกอฮอล์มีไม่สูง เด่นเรื่องความครีมมี่ สัมผัสนุ่มลึก และมีรสชาติคล้ายโกโก้ กาแฟ วานิลลา
แนะนำยี่ห้อคราฟต์เบียร์ที่ควรลอง
- Mahanakorn White | Ale – คราฟต์เบียร์มหานคร มีกลิ่นและรสส้มอ่อน ๆ มีกลิ่นฮ็อปส์และสัมผัสจากมอลต์
- Full Moon Brewworks (Chalawan | Pale Ale) – คราฟต์เบียร์ชาละวัน กลิ่นลิ้นจี่ ดอกไม้ และผิวมะนาว ผสมดอกฮ็อปส์ 6 ชนิด
- The Brewing Project (Whale | Pale Ale) – คราฟต์เบียร์ วาฬ สไตล์ American Pale Ale ให้กลิ่นและรสชาติของผลไม้เมืองร้อนอย่างเปลือกมะนาว
- Udomsuk Brewing – คราฟต์เบียร์รสชาติออกขม ดุดันตามสไตล์อเมริกัน (อาจหาดื่มยากหน่อยนะครับ)
- Golden Coins – นอกจากคราฟต์เบียร์แล้ว ยังมี Golden Coins Taproom คราฟต์เบียร์บาร์แห่งแรกของกรุงเทพฯ มีทั้ง IPA (5%) Pale Ale (5.5%) Wish Do! (6%) และ Happy Stout (5%)
- Stone Head – คราฟต์เบียร์สายจัดหนัก ใครเป็นมือใหม่แนะนำให้เริ่มจาก Seven Days Witbier แต่ถ้าอยากไปสุดเลยก็แนะนำ The Dark Side
- Triple Pearl – คราฟต์เบียร์สไตล์ Wheat Beer เพิ่มกลิ่นและสัมผัสให้ชัดและโดดเด่นขึ้น ให้รสชาตินุ่ม ๆ สบาย ๆ
- Sandport – คราฟต์เบียร์ที่โด่งดังเรื่องเบียร์ดำอย่าง Too Much Coffee Porter คราฟต์เบียร์หอมกลิ่นกาแฟ
- Devanom – คราฟต์เบียร์สุดเก๋า แนะนำเป็น Devanom Red is more รสชาติหวานจากการผสมของคาราเมลมอลต์ 4 ชนิด แถมเนื้อเบียร์ยังมีสีแดงสมชื่อ Red is more
- Chiang Mai Beer – คราฟต์เบียร์จากเชียงใหม่ แนะนำเป็นตัว Weizen ดื่มง่าย นุ่ม ลื่น เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบขม
เรื่องราวของสายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างคราฟต์เบียร์จะมีอะไรน่าสนใจอีกบ้าง รอติดตามได้เลย เพราะบทความเดียวมันไม่พอแน่ ๆ ครับ แต่สำหรับใครที่รู้สึกว่าคราฟต์เบียร์ไม่ใช่ทาง แต่มาสายยาดอง ต้องนี่เลย Thaisho (ไทยโช) ร้านยาดองใกล้ BTS เมามายแบบหัวปักพื้น หรืออยากเปลี่ยนบรรยากาศมานั่งชิล 10 ร้าน Rooftop ดูวิวกรุงเทพฯ แบบ 360 องศา เหมาะพาคนรู้ใจไปดินเนอร์