Search
Close this search box.
โรคจิตเวช มีอะไรบ้าง

โรคจิตเวช มีอะไรบ้าง สังเกตอาการก่อน ป้องกันได้!

ท่ามกลางความวุ่นวาย เคร่งเครียด และความกดดันในชีวิตประจำวันที่หลายคนต้องเผชิญ ทำให้ ‘โรคจิตเวช’ เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยมากขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะวัยทำงานที่ต้องแบกภาระหน้าที่ต่าง ๆ เอาไว้มากมาย มารู้จักว่าโรคทางจิตเวช มีอะไรบ้าง เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือป้องกันได้ก่อน

โรคจิตเวช คืออะไร

โรคจิตเวช คืออะไร

โรคจิตเวชเป็นหนึ่งในโรคที่หลายคนมองข้ามไปหรืออาจจะไม่กล้าเข้าไปพบแพทย์เพราะมองว่าโรคจิตเวชเป็นอาการของคนบ้า ซึ่งความจริงแล้ว…โรคจิตเวช คือกลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสมองโดยไม่รู้ตัวและควบคุมไม่ได้ ส่งผลกระทบถึงพฤติกรรมในกิจวัตรประจำวัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ป่วยหลายคนไม่รู้ตัวว่าเข้าข่ายป่วยเป็นโรคจิตเวช หรือบางรายอาจจะรู้แต่ไม่กล้าเข้าพบแพทย์ ทำให้อาการทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงเกิดอาการแทรกซ้อนที่มีความอันตรายต่อชีวิตได้เลยทีเดียว

โดยกลุ่มโรคจิตเวชประกอบด้วยหลายโรคหลายอาการแตกต่างกันออกไป สามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ ซึ่งคุณเองหรือคนรอบข้างสามารถสังเกตอาการเกี่ยวกับโรคจิตเวชได้เองในระดับเบื้องต้น เพื่อรู้เท่าทันและเข้ารับคำแนะนำหรือรักษาได้อย่างเหมาะสม มารู้จักและเรียนรู้กันได้เลยว่าโรคทางจิตเวช มีอะไรบ้าง

โรคทางจิตเวช มีอะไรบ้าง

โรคจิตเวช โรคซึมเศร้า (Depression)

1. โรคซึมเศร้า (Depression)

‘ซึมเศร้า’ เป็นโรคจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย ประมาณ 10-20% ของประชากรทั้งหมด สามารถสังเกตอาการเศร้า ท้อแท้ หดหู่ เบื่อหน่าย รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าหรือกำลังเป็นภาระของคนรอบข้าง ไม่อยากทำอะไร นอนไม่หลับ ปวดหัว เบื่ออาหาร หรือบางรายอาจรู้สึกว่าไม่รู้จะอยู่ต่อไปอย่างไรและเพื่ออะไร หากปล่อยละเลยเอาไว้จะสามารถนำไปสู่ความเสี่ยงการทำร้ายหรือจบชีวิตตนเองได้ ลองสังเกตอาการเหล่านี้ดูถ้ามีมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการ

โรคจิตเวช โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)

2. โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)

การวิตกกังวลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งสามารถคงอยู่ได้ถึงว่าจะผ่านพ้นสถานการณ์นั้นไปแล้ว แต่ถ้ามีอาการเหล่านี้เรื้อรังเกินกว่า 6 เดือนถือเป็นโรคเรื้อรังทางจิตเวช เช่น ตกอยู่ในภาวะกังวลและความเครียดอยู่ตลอดเวลา รู้สึกไม่สบายใจ หงุดหงิดง่าย ร้อนรน เหงื่อออก มือสั่น ใจสั่น หายใจไม่สะดวก กลัวตาย กลัวการเข้าสังคม อาจส่งผลให้มีปัญหาในการนอนหลับ ร่างกายเหนื่อยล้า และกล้ามเนื้อบีบตัวตึงได้ด้วย ซึ่งโรควิตกกังวลนั้นพบได้บ่อยประมาณ 5-10% ของประชากรไทยเลยทีเดียว

โรคจิตเวช โรคแพนิก (Panic Disorder)

3. โรคแพนิก (Panic Disorder)

อาการของโรคแพนิกหรือหรือโรคตื่นตระหนก เป็นโรคจิตเวชที่รุนแรงชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน ระบบประสาทไวต่อสิ่งกระตุ้น หรือราวกับโดนจู่โจมทั้งที่ไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์อันตราย สามารถเกิดขึ้นรวดเร็วใน 3-10 นาที หรือเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ นานเป็นชั่วโมงได้ และหายเป็นปกติ มักมีอาการหายใจติดขัด หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ จุกแน่น เหงื่อออก ตัวสั่น รู้สึกเหมือนจะหมดสติ ทั้งนี้ หากมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น กังวลว่าจะมีอาการแพนิกเกิดขึ้นอีก ควบคุมตนเองไม่ได้ จนพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาทางออกและรับมือโดยเร็วที่สุด

โรคจิตเวช โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)

4. โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)

‘ไบโพลาร์’ หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสุดขั้ว โรคจิตเวชที่มีลักษณะอาการทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า และอารมณ์ดีเกินปกติ (Mania หรือ Hypomania) ซึ่งในช่วงที่ซึมเศร้าจะรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวังอยู่หลายวันนานหลายเดือน แล้วก็จะหายไปสักพักหนึ่งก่อนเข้าสู่ช่วงอารมณ์ดีเกินปกติ เช่น คึกคัก มีความกระฉับกระเฉง พลังงานเยอะ มนุษยสัมพันธ์ดี แต่จะควบคุมอารมณ์ได้ยากหรือไม่ได้ เวลาอยากทำอะไรต้องลงมือทำทันที ถ้าขัดใจจะหงุดหงิดได้ง่าย หากมีอาการเหล่านี้ต่อเนื่องกันยาวนานกว่า 1 สัปดาห์ สามารถเข้ารับการรักษากับแพทย์ได้เลย

โรคจิตเวช โรคจิตเภท (Schizophrenia)

5. โรคจิตเภท (Schizophrenia)

โรคจิตเวชที่เกิดจากความผิดปกติทางความคิด การรับรู้ และพฤติกรรมที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง อาจถึงขั้นรุนแรงและเรื้อรังได้ มักมีอาการประสาทหลอน หูแว่ว แสดงออกด้วยการพูดหรือหัวเราะคนเดียว หลงผิดหรือหวาดระแวง รวมถึงมีความผิดปกติของวิธีคิดทำให้ความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันผิดปกติไป หากมีอาการเหล่านี้นานเกิน 6 เดือนโดยที่ไม่ได้รับการรักษา นอกจากจะทำให้การรักษายากขึ้นแล้ว ผลการรักษายังอาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี เพราะฉะนั้น หากเริ่มรู้ตัวหรือสงสัยในอาการที่ตนเองมีอยู่ ควรรีบเข้าปรึกษากับแพทย์จะดีที่สุด

โรคจิตเวช โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder : OCD)

6. โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder : OCD)

อาการย้ำคิด ย้ำทำก็เป็นหนึ่งในโรคจิตเวชเช่นกัน คนที่มีความย้ำคิดเรื่องเดิมวนเวียนซ้ำ ๆ หรือมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ จนทำให้รู้สึกวิตกกังวล กลัว หรือไม่สบายใจ และพยายามจะจัดการกับความคิดและความรู้สึกเช่นนี้ด้วยการทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆ เช่น ล้างมือบ่อย ห่วงเรื่องความสะอาด ถามเรื่องเดิมซ้ำเพราะต้องการยืนยันคำตอบเพื่อสร้างความมั่นใจ หรือกังวลว่าจะตกอยู่ในอันตราย แม้จะไม่สามารถควบคุมความคิดได้ แต่รู้สึกว่าจำเป็นต้องทำเพื่อคลายความกังวลลง ซึ่งโรคนี้เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย เฉลี่ยอายุของผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการคืออายุประมาณ 19 ปี

โรคจิตเวช โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias)

7. โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias)

เป็นอาการของโรคจิตเวชที่จะมีความหวาดกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือสถานการณ์บางอย่างขั้นรุนแรงและไม่มีเหตุผล ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นทันทีที่พบเจอหรือนึกถึงสิ่งที่กลัว โดยอาจจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น ความสูง ความมืด สัตว์บางชนิด หรือแม้แต่การขึ้นเครื่องบิน อาการทางกายที่พบได้ เช่น หายใจเร็ว ใจสั่น เหงื่อออกมาก หรือในบางกรณีอาจถึงขั้นเกิดภาวะตื่นตระหนก (Panic Attack) สามารถเข้ารับการรักษาหรือบำบัดอย่างถูกวิธีได้

โรคจิตเวช โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder : PTSD)

8. โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder : PTSD)

เป็นโรคจิตเวชที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายหรือสะเทือนใจอย่างมากที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก เช่น รอดชีวิตจากอุบัติเหตุร้ายแรง เป็นพยานในการเสียชีวิตของผู้อื่น ถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ หรือการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้รู้สึกตกใจ หวาดกลัวหรือกลัวว่าจะเกิดขึ้นซ้ำ จนหวาดระแวงไปหมด ตกใจง่าย และรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ หากตกอยู่ในภาวะนี้นาน ๆ จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาและฟื้นฟูจิตใจให้กลับมาใช้ชีวิตปกติ

โรคจิตเวช โรคสมองเสื่อม (Dementia)

9. โรคสมองเสื่อม (Dementia)

โรคจิตเวชที่เป็นภาวะสมองทำงานลดลงอย่างถาวร ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการคิด ความจำ การใช้เหตุผล และพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยไม่สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ได้ เป็นกลุ่มของอาการที่เกิดจากความเสียหายของสมองที่ส่งผลต่อการทำงานในชีวิตประจำวัน เช่น อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) โรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือด (Vascular Dementia) โรคสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ อย่างโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) มักพบในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป

ได้ทำความเข้าใจกันแล้วว่า…โรคจิตเวช มีอะไรบ้าง ซึ่งการสังเกตอาการที่อาจบ่งชี้ถึงปัญหาทางจิตเวชเหล่านี้จะช่วยให้เราและคนรอบข้างสามารถรับรู้ถึงปัญหาและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที การรักษาอาจควบคู่ไปด้วยการบำบัดทางจิต การใช้ยา และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ซึ่งมีความสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตกลับมามีความสุขได้อีกครั้ง

SHARE

RELATED POSTS

ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ถึงเบือนหน้าหนีกับการทำประกัน รู้หรือไม่? ประเทศไทยมีจำนวนการทำประกันหรือซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตน้อยกว่าประเทศอื่นอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่เฉลี่ยแล้วคนญี่ปุ่น 1…