หุ้น IPO

รู้จักหุ้น IPO คืออะไร ฉบับเข้าใจง่าย จองซื้อได้ไหมถ้าเป็นรายย่อย

หุ้นน้องใหม่ที่เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์อย่าง หุ้น IPO อาจทำให้นักลงทุนมือใหม่เกิดความสงสัยว่าหุ้นตัวนี้มันคืออะไร ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีหลายคนได้สัมผัสการจองซื้อหุ้น IPO กันไปแล้ว แต่สำหรับวันนี้เราจะมาเล่าให้นักลงทุนมือใหม่ฟังกันว่า หุ้น IPO คืออะไร รวมถึงเรื่องที่ควรรู้ก่อนลงทุนในหุ้น IPO

หุ้น IPO คืออะไร

หุ้น IPO (Initial Public Offering) คือ การเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ซึ่งการออกเสนอขายหุ้น IPO เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ ที่นอกเหนือจากการกู้ยืมเงินกับธนาคาร โดยกระบวนการจะทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่ทำหน้าที่ในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) ซึ่งนักลงทุนก็จะได้หุ้นของบริษัทเป็นสิ่งตอบแทน

หุ้น IPO

เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจถึงหุ้น IPO มากยิ่งขึ้น จะขอยกตัวอย่าง หากเราเปิดร้านกาแฟ แล้วธุรกิจเติบโตไปได้สวยจึงมีแผนจะขยายกิจการ เท่ากับว่า เรากำลังต้องการเงินลงทุนเพิ่ม ซึ่งมีตัวเลือกอยู่ 2 ทาง คือ กู้เงินจากธนาคาร กับ หาหุ้นส่วน หรือที่เรียกว่า การระดมทุนโดยการขายหุ้นเพิ่มทุน

สมมุติว่าจากเดิมที่เราถือหุ้นอยู่ 100% จำนวนหุ้นทั้งหมดมี 1,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท เท่ากับตอนนี้เรามีทุนจดทะเบียน 100,000 บาท ซึ่งเรากำลังต้องการทุนจดทะเบียนเพิ่มอีกเท่านึงเป็น 200,000 บาท ด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนอีก 1,000 หุ้น แล้วเราก็จะได้เงินมาขยายกิจการต่อไป ในขณะที่สัดส่วนหุ้นของเราจะลดลง ทีนี้ร้านกาแฟของเราก็จะมีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาเสริมกำลังร่วมเป็นผู้ถือหุ้นด้วยกัน

แต่ถ้าในกรณีที่เป็นบริษัทใหญ่ เราก็สามารถเสนอขายหุ้นให้กับบุคคลสาธารณะได้ แต่ต้องยึดกฎของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเรียก “การขายหุ้นเพิ่มทุน” ส่วนนี้ว่า “หุ้น IPO”

ประเภทของหุ้น IPO

หุ้น IPO ที่เราจะเห็นทั่วไปมี 2 ประเภท คือ

  • หุ้น IPO ที่ออกและเสนอขายในประเทศ (Domestic IPO) ต้องมีการขออนุญาต ยื่นแบบคำขอ แบบแสดงรายการข้อมูล และหนังสือชี้ชวนการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ Filing) กับสำนักงาน กลต. และจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์
  • หุ้น IPO ที่ออกและเสนอขายในประเทศและต่างประเทศด้วย (International Offering) ส่วนนี้นอกจากจะดำเนินการกับสำนักงาน กลต. ไทยและตลาดหลักทรัพย์ไทยแล้ว ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย
หุ้น IPO

ใครสามารถจองหุ้น IPO ได้บ้าง

หุ้น IPO ที่เปิดขายให้นักลงทุนรายย่อยจองนั้น ประชาชนทั่วไปสามารถจองหุ้น IPO ตัวนั้นได้ แต่มีข้อจำกัดว่า ไม่ให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการและผู้บริหาร รวมถึงผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์นั้น ๆ จองหุ้นบริษัทตัวเองได้

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ควรรู้ไว้ก่อน คือ นักลงทุนรายย่อยไม่ได้มีโอกาสซื้อหุ้น IPO ของทุกบริษัทมหาชน เพราะถ้าบริษัทนั้นเลือกกระจายหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์แล้วนักลงทุนรายย่อยไม่ใช่ลูกค้าจึงจองหุ้น IOP ตัวนั้นไม่ได้

ในกรณีที่นักลงทุนรายย่อยสามารถจองหุ้น IPO ได้ ก็ต่อเมื่อเป็นการขายหรือกระจายหุ้น IPO ด้วยวิธี Small Lot First หรือการจัดสรรหุ้นให้สิทธิผู้จองซื้อขั้นต่ำก่อนเท่านั้น  โดยบริษัทผู้เสนอขายหุ้นจะระบุวันและเวลาในการจองซื้อหุ้น IPO ไว้

จองหุ้น IPO กับ การขายหุ้นหลังจอง

สังเกตไหมครับ เราใช้คำว่า “จองหุ้น” มากกว่า ซื้อหุ้น เพราะว่า เมื่อเราได้รับการจัดสรรหุ้น ใช่ว่าเราจะได้รับหุ้นในทันที มันมีกระบวนการที่จะต้องจดทะเบียนเพิ่มทุน และยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จองต่อกระทรวงพาณิชย์เสียก่อน หลังจากนั้นถ้าเราระบุในขั้นตอนจองว่าจะขอรับใบหุ้น ทางนายทะเบียนหุ้นก็จัดส่งใบหุ้นให้ทางไปรษณีย์ตอบรับตามที่ระบุในใบจอง ภายใน 45 วัน นับจากวันปิดจอง หมายความว่า เราอาจได้รับใบหุ้นไม่ทันวันเปิดทำการซื้อขาย

แต่ถ้าเราระบุว่าจะรับเป็นหุ้น โดยเป็นการฝากไว้ในบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ที่เราเปิดบัญชีอยู่ด้วย ทางนายทะเบียนก็จะนำยอดหุ้นเข้าในบัญชีซื้อขายทันที ฉะนั้น ถ้าเราอยากซื้อขายหุ้น IPO ที่จองให้ได้ไวที่สุด ก็จำเป็นจะต้องมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเลือกเปิดบัญชีแบบไร้ใบหลักทรัพย์ (Scripless) กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์

หุ้น IPO

จองซื้อหุ้น IPO ต้องมีเงินเท่าไหร่?

การจองซื้อหุ้น IPO ในแต่ละครั้งจะใช้เงินไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO จะกำหนดจำนวนการจองซื้อขั้นต่ำไว้ที่เท่าไหร่ รวมถึงวิธีการกระจายหุ้นด้วย หากบริษัทเลือกที่จะกระจายหุ้นผ่านโบรกเกอร์ ก็ทำให้มีข้อจำกัดอย่างที่เราได้บอกไปนั่นเองครับ

อย่างหุ้น OR หรือ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ใช้วิธีการกระจายหุ้น Small Lot First โดยกำหนดขั้นต่ำการจองซื้อของรายย่อยไว้ที่ 300 หุ้น ในราคาหุ้นละ 18.00 บาท หรือใช้เงินเพียง 5,400 บาท ก็สามารถจองหุ้น IPO ตัวนี้ได้แล้วนั่นเอง

ซึ่งในขณะที่หุ้น IPO อีกตัวอย่าง บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) เลือกวิธีการกระจายหุ้นแบบ Small Lot First เช่นเดียวกัน โดยกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 หุ้น ที่ราคา 36.50 บาท/หุ้น ทำให้ผู้ลงทุนจะต้องใช้เงินจำนวน 36,500 บาท เพื่อจองหุ้น IPO ตัวนี้

“ทุกการลงทุน มีความเสี่ยง” ถึงแม้ว่าหุ้น IPO จะมีโอกาสทำกำไรได้สูงในช่วงระยะเวลาที่สั้นก็ตาม แต่ก็มีความเสี่ยงสูงจากหลายปัจจัยอีกเช่นกัน ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องรู้จักที่จะประเมินราคา รวมถึงแนวโน้มของบริษัทก่อนที่จะตัดสินใจจองซื้อหุ้น IPO นะครับ

SHARE

RELATED POSTS

เปิดคู่มือมือใหม่! สิ่งที่ต้องรู้ก่อนลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ปัจจุบัน โลกแห่งการลงทุนมีทางเลือกมากมายสำหรับนักลงทุน…
ทำความรู้จัก Solana เครือข่ายบล็อกเชนที่มาแรงที่สุดในตอนนี้! ต้องยอมรับว่าปัจจุบันบล็อกเชนและคริปโทเคอร์เรนซีเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีความสำคัญมากขึ้นในระบบการเงินดิจิทัล…