Search
Close this search box.
ประเภทของสตาร์ตอัพ

6 ประเภทของสตาร์ตอัพ
ที่กำลังเข้ามา Disrupt วิถีชีวิตคนเมือง

หาก LINE, Grab, GET, Uber, Foodpanda ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคุณ ณ เวลานี้ นั่นก็แสดงว่าคุณได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งปรากฏการณ์ Disruptive Technology ปรากฏการณ์การแทรกแซงทางเทคโนโลยี ซึ่งเกิดพร้อมการมาของ ‘สตาร์ตอัพ (Startup)’ ธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แน่นอนว่า
ซูเปอร์แอปพลิเคชัน (Super Application) ที่กล่าวไปข้างต้นมีชื่อคุ้นหูคุณเป็นอย่างดี แต่ทราบหรือไม่ว่าแท้จริงแล้วยังมี ‘ประเภทของสตาร์ตอัพ’ อีกหลายสาขาที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตคนเมืองในอนาคต

สตาร์ตอัพ VS SMEs
ประเภทธุรกิจที่แตกต่างเหมือนกัน

หลายคนยังคงสับสนว่าธุรกิจสตร์ตอัพคืออะไร มีความเหมือนหรือแตกต่างจากการลงทุนในธุรกิจ SMEs อย่างไร ขออธิบายพอสังเขปให้เข้าใจพร้อมกันตรงนี้ว่า ทั้งสองเหมือนกันในแง่ของเป้าหมายในการขายสินค้าและบริการ ทว่าขั้นตอนการดำเนินงานนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย 

SMEs คือธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางที่ค่อนข้างมีระเบียบแบบแผนในการดำเนินงาน มีกฎหมายควบคุม และมีโครงสร้างพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ สามารถถอดบทเรียนจากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้ว นำมาดัดแปลงต่อยอดได้ ธุรกิจประเภทนี้นอกจากมุ่งเน้นสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการแล้ว รัฐบาลยังส่งเสริมเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้จากเจ้าของกิจการไปสู่ประชาชน ผ่านการจ้างงานในรูปแบบต่างๆ ด้วย

ประเภทของสตาร์ตอัพ

ขณะที่ธุรกิจสตาร์ตอัพได้รับอิสระในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการมากกว่า ผ่านการใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ตลอดจนช่วยส่งเสริมความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต เช่น พนักงานออฟฟิศไม่ต้องการเดินทางออกไปทานอาหารที่ร้านค้า เพราะต้องเผชิญสภาพอากาศร้อนและการจราจรแออัด จึงเป็นแรงบันดาลในการสร้างแอปฯ บริการส่งเมนูอร่อยถึงที่ ทั้งนี้กระบวนการทำงานของธุรกิจสตาร์ตอัพนั้น ทีมงานส่วนใหญ่จะไม่เน้นลงทุนเอง แต่เน้นวางกลยุทธ์เพื่อให้ประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว แล้วนำไอเดียที่ได้ไปเสนอให้กับผู้สนใจลงทุน เพื่อระดมทุนสร้างธุรกิจให้เป็นรูปเป็นร่างต่อไป โดยปัจจุบันธุรกิจประเภทนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่เชี่ยวชาญทั้งเทคโนโลยี และการใช้ความคิดสร้างสรรค์แก้ปัญหาเป็นอย่างมาก

ประเภทของสตาร์ตอัพ
ที่กำลังเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตคนเมือง

ประเภทของสตาร์ตอัพ Fintech

1. FinTech สตาร์ตอัพด้านธุรกรรมการเงินแบบไม่ผ่านธนาคาร

FinTech (Financial + Technology) คือสตาร์ตอัพด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุน เกิดจากไอเดียที่ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการด้านการเงิน โดยไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ในเรื่องการทำธุรกรรมออนไลน์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการบริการข้อมูลด้านการลงทุน เช่น การวิเคราะห์หุ้น การวิเคราะห์แนวโน้มตลาดด้วย ซึ่งเป็นธุรกิจที่ช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพและความแม่นยำ ทั้งยังลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อนจากการเดินทางไปสถาบันการเงินด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามด้วยความที่ FinTech ส่วนใหญ่มาในรูปแบบออนไลน์ จึงต้องใส่ใจเรื่องความปลอดภัย และรูปแบบการใช้งานที่สะดวก รวดเร็วมากเป็นพิเศษ

ประเภทของสตาร์ตอัพ Food Tech

2. FoodTech สตาร์ตอัพด้านอาหารที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค

เพราะอาหารมีความสำคัญกับการใช้ชีวิตของคนเราแทบตลอดทั้งวัน FoodTech (Food + Technology) จึงมุ่งเน้นตอบโจทย์ผู้บริโภคในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต แปรรูป จัดส่ง และธุรกิจร้านอาหาร ที่ผ่านมาเราจะเห็นวงการอาหารถูก Disrupt ในแง่ของบริการการจัดส่งและธุรกิจร้านอาหารมากที่สุด ดังจะเห็นได้จากบริการ Delivery และ Booking ผ่านแอปฯ มากมาย ซึ่งล้วนเป็นไอเดียการสร้างธุรกิจที่ยกระดับชีวิตผู้บริโภคให้สะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็ทำให้ร้านอาหารและผู้ประกอบการต้องปรับตัวไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งกระแสการ Disrupt ที่น่าจับตามอง ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร, ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมอย่างรุนแรงนั่นคือ แนวคิดการผลิตอาหารสังเคราะห์จากห้องแล็บสู่ห้องครัว เพื่อลดการเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การสังเคราะห์เนื้อหมูเสมือนจริง เป็นต้น

ประเภทของสตาร์ตอัพ Edtech

3. EdTech สตาร์ตอัพที่เน้นแก้ปัญหาในระบบการศึกษา

EdTech (Education + Technology) เป็นธุรกิจที่เน้นนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการศึกษา ช่วยให้ผู้ใช้บริการได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบด้านการศึกษา องค์ความรู้ ตลอดจนช่วงชีวิตในวัยเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับสูงได้ง่ายขึ้น ตลอดจนช่วยให้เด็กและผู้ปกครองเข้าถึงข่าวสารด้านการศึกษาง่ายกว่าที่เคยเป็นมา เช่น ให้นักเรียนเรียนหนังสือผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ โดยไม่ต้องนั่งฟังครูบรรยายในห้องเรียน ส่วนครูให้คอยอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยี ฯลฯ เทคโนโลยีการศึกษาเหล่านี้ยังมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในระบบการศึกษาไทยด้วย อย่างกรณีที่นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษมาหลายปีแต่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ รวมถึงกรณีที่บุคลากรในโรงเรียนมีภาระงานเอกสารมากเกินกว่าจะให้การสอนได้เต็มที่ ทั้งนี้ในประเทศไทยมีการตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาของคน 1 ล้านคน ให้ได้ภายในปี 2020

ประเภทของสตาร์ตอัพ InsurTech

4. InsurTech สตาร์ตอัพที่สร้างมิติใหม่ในการทำประกัน

InsurTech (Insurance + Technology) เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการทำประกัน พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมประกันภัยให้ทันสมัย ง่าย และรวดเร็ว โดยเน้นอำนวยความสะดวกเรื่องการทำความเข้าใจเงื่อนไขการทำประกัน ค่าเบี้ย รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ธุรกิจสไตล์นี้จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการในหลายๆ ด้าน เช่น ตัวแทนขายไม่ต้องออกพบลูกค้า แต่ผู้สนใจซื้อสามารถเสิร์ชหาแผนประกันที่ตรงกันความต้องการเองได้ นอกจากนี้การสร้างแพลตฟอร์มขายประกันออนไลน์ ยังเพิ่มโอกาสในการสร้างความน่าเชื่อถือของตัวแทนขายในสายตาลูกค้าได้ง่ายกว่าด้วย

ประเภทของสตาร์ตอัพ HealthTech

5. HealthTech สตาร์ตอัพด้านสุขภาพและการแพทย์ในยุคดิจิทัล

HealthTech (Health + Technology) มุ่งแก้ปัญหาที่เกิดจากข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข เช่น ระยะทางที่ห่างไกล ค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินความจำเป็น นอกจากนี้ยังเน้นสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิการรักษาด้วย โดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนาวงการแพทย์ให้ก้าวล้ำ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการทุกระดับชั้น ตลอดจนมีการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาแทนที่การทำงานของบุคลากรในวงการแพทย์ เพื่อสร้างความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการทำงาน ที่เห็นว่าเริ่มมีการใช้จริงในต่างประเทศแล้ว ก็มีแพลตฟอร์มการวินิจฉัยโรคจากทางไกลผ่านโปรแกรมออนไลน์, แพลตฟอร์มการประเมินอาการทางจิตโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล เป็นต้น

ประเภทของสตาร์ตอัพ PropTech

6. PropTech สตาร์ตอัพที่เข้ามาปฏิวัติวงการอสังหาริมทรัพย์

PropTech (Property Technology) คือเครื่องมือสร้างแบรนด์ในยุค 4.0 ของบรรดาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เจ้าดัง โดยมีการนำเทคโนโลยีมาไว้ในบ้าน คอนโดมิเนียม และสำนักงาน เพื่อสร้างจุดขายให้สินค้าและอำนวยความสะดวกให้กับผู้อยู่อาศัย เช่น ระบบป้องกันภัย, ระบบแสงสว่าง, ระบบอุณหภูมิ, ระบบประหยัดพลังงาน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะนำนวัตกรรมมาช่วยในเรื่องการเสนอขาย การโฆษณา และการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ เช่น การเปิดให้จองห้องออนไลน์ การเปิดให้ออกแบบห้องในฝันผ่านแพลตฟอร์ม Interior Design แบบ 3 มิติ ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีสร้างจุดแข็งให้แบรนด์ ผ่านการเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับสินค้าและบริการ

เห็นได้ชัดว่าสตาร์ตอัพทุกประเภทกำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราหลายอย่าง คุณพร้อมแล้วหรือยังกับการใช้ชีวิตร่วมกับเทคโนโลยีสุดล้ำเหล่านี้ แม้ไม่มีใครการันตีว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่เราได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การเตรียมตัวรับมือตั้งแต่เนิ่นก็เป็นทางเลือกที่ไม่ควรมองข้าม

SHARE

RELATED POSTS

ปฏิวัติการดื่มกาแฟในบ้านด้วยโมเดลธุรกิจของ Nespresso ที่กว่าจะประสบความสำเร็จนี้ต้องล้มเหลวมากี่ครั้งจนกลายเป็น Business…