Search
Close this search box.
มวยปล้ำ

ความเป็นมาและเหตุผลที่ทำให้ ‘มวยปล้ำ’ เป็นศิลปะที่นิยมทั่วโลก

ในยุคปัจจุบันนี้ คำถามว่า “มวยปล้ำเป็นการแสดงไหม?” อาจจะฟังดูเชยไปแล้ว เพราะขนาดนักมวยปล้ำใน WWE (World Wrestling Entertainment) ยังออกมายืนยันว่ามันเป็นการแสดงที่ต้องเล่นจริงและเจ็บจริง! เหล่านักมวยปล้ำจึงต้องฝึกฝนร่างกาย พร้อมแลกหยาดเหงื่อและหยดเลือดเพื่อความบันเทิงของผู้ชม รวมถึงคิดหาคาแรกเตอร์ เพลงเปิดตัว และท่าไม้ตายสุดคลาสสิก องค์ประกอบทั้งหมดนี้อาจบ่งชี้ว่า มวยปล้ำเป็นโชว์ชนิดหนึ่งได้ แต่ว่า…มันกลับมีการแข่งขัน พร้อมกฎกติกาอย่างชัดเจนร่วมด้วย การนำเสนอในรูปแบบนี้จึงทำให้มวยปล้ำถูกจัดระเบียบให้กลายเป็น ‘กีฬาเพื่อความบันเทิง’ สำหรับผู้ชมสายฮาร์ดคอร์ที่ชอบความรุนแรงแบบถึงแก่น แต่สิ่งที่จะเป็นกีฬาก็เรียกได้ไม่เต็มปาก ครั้นจะบอกว่าเป็นความบันเทิงก็พูดได้ไม่เต็มร้อยนี้คืออะไร? วันนี้เราจะมาขุดลึกถึงประวัติศาสตร์ของการต่อสู้บนสังเวียนคาดเชือก สมรภูมิแห่งกำปั้นที่กวาดเงินสะพัดไปกว่าหมื่นล้านดอลลาร์กัน!

ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ของมวยปล้ำ

ประวัติศาสตร์ มวยปล้ำ

การใช้กำลังเพื่อเฟ้นหาผู้แข็งแกร่งนั้นมีมาตั้งแต่อดีตกาล กีฬาที่วัดกันด้วยแรงกายอย่าง ‘มวยปล้ำ’ จึงเกิดขึ้นมานานแล้วเช่นกัน ย้อนกลับไปเมื่อ 15,000 ปีที่แล้ว หลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ชาวบาบิโลน (Babylon) และชาวกรีกโบราณ (Ancient Greek) มีวัฒนธรรมการเล่นมวยปล้ำร่วมอยู่ด้วย โดยมีทั้งการวัดความแข็งแกร่ง, การแข่งขันกีฬา และการต่อสู้จริง ซึ่งถูกพัฒนาให้เป็นกีฬาเพื่อความบันเทิงสำหรับชนชั้นสูงในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น (ซูโม่) ก่อนจะถูกนำไปปัดฝุ่นใหม่โดยสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ฮิตกีฬามวยปล้ำช้าที่สุด แต่กลับพัฒนาอุตสาหกรรมนี้จนโด่งดังไปทั่วโลก

จากความนิยมของมวยปล้ำในอเมริกาที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีการจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1888 ที่เมืองนิวยอร์ก (New York) และถูกบรรจุให้เป็นกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ. 1904 ในเวลาต่อมา กีฬามวยปล้ำถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การแข่งขันระดับสากลในโอลิมปิก และการแข่งขันเพื่อความบันเทิง อาทิ WWE, WCW และ ECW โดยนักมวยปล้ำที่มีสังกัด (ปล้ำเพื่อความบันเทิง) จะถูกเรียกว่า ‘นักมวยปล้ำอาชีพ’ และนักมวยปล้ำที่แข่งขันในโอลิมปิก จะถูกเรียกว่า ‘นักมวยปล้ำสมัครเล่น’ นั่นเอง

แม้จะเป็นกีฬาที่ต้องแลกหยาดเหงื่อและแรงกายมหาศาล แต่นานาประเทศก็ยังชื่นชอบการแข่งขันมวยปล้ำ เพราะการได้ใช้ทักษะไหวพริบเพื่อพลิกแพลงกับคู่ต่อสู้ ทำให้มวยปล้ำกลายเป็นกีฬาที่ปลุกเร้าสัญชาติญาณดิบและกระตุ้นเลือดในกายให้พุ่งพล่าน มวยปล้ำจึงได้รับความนิยมทั้งในระดับสากลและการแสดงเพื่อความบันเทิง จนแพร่หลายกลายเป็นวัฒนธรรมย่อย (Subculture) ที่ครองใจผู้ชมสายฮาร์ดคอร์นับตั้งแต่นั้นมา

ว่าด้วยเรื่องธุรกิจหมื่นล้านจากกีฬามวยปล้ำ

ธุรกิจ มวยปล้ำ

เมื่อมวยปล้ำกลายเป็นสื่อบันเทิงบนจอโทรทัศน์ แค่การต่อสู้ที่วัดกันด้วยหมัดต่อหมัดอาจไม่พอ ค่ายมวยปล้ำ WWE ผู้บุกเบิกวงการมวยปล้ำเพื่อความบันเทิงจึงเกิดไอเดีย เปลี่ยนสังเวียนคาดเชือกให้มีโชว์บอกเล่าเรื่องราว เพลงเปิดตัวอลังการ พร้อมคำพูดติดปากและท่าไม้ตายสุดเท่ ที่หลายคนคงคุ้นเคยกันดีกับวลี You can’t see me!” หรือ “Did you smell what The Rock is cooking?” สองคำพูดเปิดตัวของนักมวยปล้ำในตำนานอย่าง ‘จอห์น ซีน่า’ และ ‘เดอะร็อก’ ดาวเด่นในวงการมวยปล้ำที่ผันตัวมาเป็นนักแสดงฮอลลีวูด แสดงถึงความโด่งดังของกีฬามวยปล้ำในสหรัฐอเมริกา ที่สามารถปั้นนักมวยปล้ำธรรมดาให้กลายเป็นสตาร์บนแผ่นฟิล์มได้เลยทีเดียว

แต่กว่าจะเป็นกีฬาเพื่อความบันเทิงระดับหมื่นล้าน มวยปล้ำของ WWE เคยถูกเรียกว่าโชว์ปาหี่มาก่อน จนกระทั่งมีการยกระดับให้การแสดงน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้น มีศิลปินตบเท้ามาสร้างสีสัน พล็อตเรื่องราวยาวเป็นซีรีส์ และของเล่นมากมายที่ทยอยวางขายเพื่อเอาใจกลุ่นคนดูเด็ก มวยปล้ำจึงตีตลาดได้อย่างรวดเร็ว ก้าวกระโดดสู่ธุรกิจหมื่นล้าน พร้อมแนะนำให้โลกได้รู้จักกับความบันเทิงรูปแบบใหม่นั่นเอง

ของเล่น มวยปล้ำ

ว่าด้วยเรื่องกีฬามวยปล้ำในไทย

กระแสความนิยมมวยปล้ำก็เดินทางมาถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ในสมัยก่อนเรามักจะคุ้นเคยกับเสียงพากย์ของ ‘น้าติง – สุวัฒน์ กลิ่นเกษร’ ผู้มีสไตล์การพากย์ยียวนชวนหัวเราะและมักจะสอดแทรกมุกตลกอยู่เป็นระยะ บนเทปวิดีโอมวยปล้ำที่ฉายซ้ำอยู่ในช่องเคเบิล จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของมวยปล้ำพากย์ไทยที่ไม่ว่าดูแมตช์ไหนจะต้องมีเสียงน้าติงอยู่ด้วยเสมอ

เสียงพากย์ของน้าติงและคลิปวิดีโอมวยปล้ำในช่องเคเบิลอาจเป็นจุดเริ่มต้น แต่ผู้ที่จุดประกายแสงให้วงการมวยปล้ำไทยอย่างแท้จริง กลับเป็นผู้ที่หลงใหลในกีฬาชนิดนี้ จนเกิดไอเดียเปิดค่ายมวยปล้ำไทยแท้ที่ผสมผสานความบันเทิงแบบอเมริกา และความจริงจังดุดันแบบญี่ปุ่น เราขอแนะนำให้รู้จักกับ Setup Thailand Pro Wrestling ค่ายมวยปล้ำแห่งแรกของไทย!

มวยปล้ำ ในไทย

แสงแห่งความหวังของวงการมวยปล้ำไทย

‘ปูมิ – ปริชญ์ภูมิ บุณยทิต’ และ ‘ปักษา – พิเชษฐ์ ก๊วยสินทรัพย์’ ก่อตั้งค่ายมวยปล้ำ Setup Thailand Pro Wresting เพื่อผลักดันมวยปล้ำไทยให้กลายเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่าเนิร์ดมวยปล้ำ ผู้หลงใหลในกีฬาฮาร์ดคอร์ชนิดนี้ให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยน และได้รับชมโชว์มวยปล้ำโดยไม่ต้องบินไปไกลถึงต่างประเทศ ซึ่งมวยปล้ำไทยในขณะนี้ก็ถือว่าเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีนักมวยปล้ำที่สร้างชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โมโนมอธ, Shivam หรือว่า Terry Diesel ซึ่งเคยมีโอกาสไปคัดตัวเข้าร่วมสมาคม WWE ค่ายมวยปล้ำระดับโลกมาแล้วด้วย

“ทุกคนรู้ว่ามวยปล้ำผสมผสานกับการแสดง แต่จังหวะที่กรรมการนับ 1..2..3 แล้วคนเฮขึ้นมา จังหวะนั้นแหละที่มันจริง ถ้าใครบอกว่ามวยปล้ำเฟก ผมบอกได้เลยว่าคืนนั้นมันจริง ทุกคนสัมผัสได้ว่ามันจริง” – Shivam, แชมป์นักมวยปล้ำประเทศไทย จากเวที Setup Thailand Pro Wrestling (จากบทสัมภาษณ์วิดีโอ Urban Creature)

หากสนใจชมมวยปล้ำไทย สามารถติดตามความเคลื่อนไหว พร้อมซื้อบัตรเข้าชมได้ที่หน้าเพจ Setup Thailand Pro Wrestling

ภายใต้ความดุดันดิบเถื่อน ‘มวยปล้ำ’ ยังซ่อนเรื่องราวและแฝงความบันเทิงอันน่าทึ่ง จนสามารถครองใจผู้ชมทั่วโลก พร้อมจุดประกายความฝันให้เด็กอีกหลายล้านคน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่รวมตัวของผู้ชื่นชอบความฮาร์ดคอร์ มวยปล้ำจึงไม่ใช่แค่กีฬา แต่กลับเป็นประสบการณ์ความบันเทิงที่ไม่สามารถพบในสังเวียนคาดเชือกที่ไหนได้อีกแล้ว!

SHARE

RELATED POSTS

เปิดคู่มือมือใหม่! สิ่งที่ต้องรู้ก่อนลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ปัจจุบัน โลกแห่งการลงทุนมีทางเลือกมากมายสำหรับนักลงทุน…
โรคฝันกลางวัน อันตรายของการก้าวข้ามเส้นจินตนาการสู่การเพ้อฝัน เคยรู้สึกไหม? กับการติดอยู่กับความคิดบางอย่างที่พยายามจะลืมหรือสลัดออกจากหัวเท่าไหร่ก็ทำไม่ได้…