พฤติกรรมการใช้เงินแบบผิดๆ

พฤติกรรมการใช้เงินแบบผิดๆ
ที่ทำให้ชีวิตการเงินถึงทางตัน

เชื่อว่าหลายคนคงพอรู้กันอยู่แล้วว่า วิธีที่จะทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นนั้นมีมากมาย แต่ในขณะเดียวกันหลายคนกลับยังไม่ทราบด้วยว่า พฤติกรรมการใช้เงินแบบผิดๆ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นจุดเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นอุปสรรคทำให้คุณไม่วันเดินทางไปสู่อิสรภาพทางการเงินได้สำเร็จเช่นกัน

พฤติกรรมการใช้เงินแบบผิดๆ 
ที่ทำให้เราติดในวังวนความจน

พฤติกรรมการใช้เงินแบบผิดๆ พรุ่งนี้ค่อยออม

ผัดวันประกันพรุ่งเรื่องเก็บเงินออม

‘พรุ่งนี้ค่อยออม’ อาจไม่มีอยู่จริง ถ้าวันนี้คุณยังมองภาพไม่ออกว่า เป้าหมายทางการเงินในอนาคตเป็นอย่างไร? เทคนิคง่ายๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้คุณเห็นความสำคัญของการออมมากขึ้น คือหาแรงบันดาลใจในการเก็บเงิน เริ่มต้นจากแรงบันดาลใจระยะสั้น เช่น ต้องการซื้อรองเท้ากีฬาคู่ใหม่ หรือเก็บเงินออกทริปต่างประเทศกับหวานใจ ไปจนถึงแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ขึ้น อย่างการสร้างธุรกิจเล็กๆ หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นของตัวเอง เชื่อหรือไม่ว่าถ้าคุณเก็บเงินได้จริง และมีวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด (ไม่มุบมิบเงินออมออกมาใช้ก่อนบรรลุเป้าหมาย) ถึงวันที่คุณออมเงินได้ตามเป้า คุณจะรู้สึกภูมิจนแทบไม่อยากนำเงินส่วนนั้นออกมาใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายเลย

พฤติกรรมการใช้เงินแบบผิดๆ จ่ายบัตรเครดิต

จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำตลอด

บัตรเครดิตเปรียบดั่ง ‘เทพ’ ในยุคสังคมไร้เงินสด ใช่แล้ว! เพราะคุณไม่มีเงินสดจริงๆ นั่นแหละ จึงต้องพึ่งพาการใช้เงินจากโลกอนาคต ที่โบยบินมาโปรดสัตว์ในคราบ ‘บัตรเครดิต’ ถ้าไม่อยากเป็นหนี้ไม่รู้จบ จงวางแผนการใช้บัตรเครดิตให้ดี และไม่ลืมที่จะวางแผนการใช้หนี้บัตรอย่างรัดกุมด้วย จะให้ดีใช้หนี้ให้หมดไปทีละรอบบิลจะปลอดภัยที่สุด อย่าเห็นแก่เทคนิคการอะลุ่มอล่วย ที่หลอกล่อให้คุณเป็นหนี้ในระยะยาว อย่างการให้ ‘ชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ’ ไปเรื่อยๆ เพราะทันทีที่คุณไม่สามารถปลดหนี้บัตรได้หมดในรอบบิลนั้นๆ ธนาคารเจ้าของบัตรจะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุด 20% ต่อปี นับแต่วันที่คุณใช้บัตรเครดิตรูดชำระสินค้าเลยทีเดียว หากเดือนต่อไปยังคงจ่ายขั้นต่ำ ดอกก็จะงอกไปเรื่อยๆ แบบนี้การปลดหนี้ให้หมดจริงๆ ย่อมทำได้ยาก

พฤติกรรมการใช้เงินแบบผิดๆ ไม่วางแผน

ไม่วางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือน

การวางแผนการใช้เงินที่ง่ายที่สุด คือวางแผนว่าอย่าใช้เงินให้เกินกว่ารายรับที่หามาได้ ไม่เช่นคงหนีไม่พ้นภาวะ ‘ชักหน้าไม่ถึงหลัง’ และแน่นอนว่าภาวะนี้เป็นตัวการนำไปสู่การเป็นหนี้อย่างไม่สิ้นสุด หากไม่ปรับปรุง คุณจะไม่มีวันเหลือเงินเก็บเลย เทคนิคที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อีกทางคือ การทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือน ไม่ถึงขั้นต้องจริงจังตามแบบฉบับนักทำบัญชีก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ควรรู้ตั้งแต่ต้นเดือนว่า คุณมีลิมิตในการใช้เงินมากน้อยแค่ไหนจนกว่าจะถึงสิ้นเดือน

พฤติกรรมการใช้เงินแบบผิดๆ เป็นสมาชิกรายเดือน

เป็นสมาชิกรายเดือนแต่ไม่เคยใช้ประโยชน์

ฟิตเนสเอย เน็ตฟลิกซ์เอย คอร์สเต้นเอย ค่าสนามฟุตบอลเอย ฯลฯ ถ้าตัดสินใจสมัครแล้ว ควรใช้ประโยชน์มันให้คุ้มค่า อย่าเลือกสมัครตามกระแสไปงั้นๆ เพราะมันไม่ต่างจากการเสียเงินฟรี ถ้าคุณไม่อินกับกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องเสียค่าสมาชิกรายเดือนหรือรายปีจริง ควรบอกยกเลิกไปซะ! ลองคำนวณดูว่าหากไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนั้น จะเหลือเงินเก็บมากเท่าไร อย่าคิดว่าแค่ไม่กี่ร้อยไม่กี่พันต่อเดือน เสียทิ้งไปก็ไม่น่าเสียดาย เพราะหากนำยอดทั้งปีมารวมกัน เผลอๆ อาจนำเงินส่วนนั้นไปต่อยอดทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ได้อีกมากมาย

พฤติกรรมการใช้เงินแบบผิดๆ ไม่สนเรื่องลงทุน

ไม่สนใจเรื่องการลงทุน

คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่า ‘ไว้มีเงินมากพอค่อยลงทุน ตอนนี้ทำงานเก็บเงินไปก่อน’ ขอให้ย้อนกลับไปอ่านข้อก่อนหน้า ถ้าคุณยังมีนิสัยทางการเงินแบบนั้น ยากมากที่จะมีวันที่คุณมีเงินมากพอ จริงอยู่ที่การลงทุนมีความเสี่ยง แต่ปัจจุบันมีองค์ความรู้มากมายที่ช่วยให้คุณประเมินความสามารถ ในการรับความเสี่ยงของตัวเองได้ แถมยังมีแผนการลงทุนที่เริ่มต้นจากยอดเงินน้อยๆ ให้ได้ลองเสี่ยงกันอีกด้วย ฉะนั้นอย่าคิดว่าการลงทุนจะเสียเปล่าเพียงอย่างเดียว คุณควรคิดเสียว่าเป็นการลงทุนเพื่อเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับความเสี่ยงในก้าวต่อไป ยกตัวอย่างการลงทุนซื้อประกันในรูปแบบต่างๆ ก็เช่นกัน แม้คุณไม่เห็นเม็ดเงินที่ลงไปในวันนี้ แต่อย่างน้อยสุขภาพและความเป็นอยู่ของคุณ ก็มีหลักประกันว่าจะมีแอร์แบ็คดีๆ รองรับ ให้ไม่ต้องเจ็บตัวมากจนเกินไป

ค่อยๆ ปรับพฤติกรรมการใช้เงินไปทีละสเต็ปนะหนุ่มๆ ถ้าหักดิบไปเลยเกรงว่าสุดท้ายจะตกม้าตาย แล้วกลับสู่วงจรการจับจ่ายแบบเดิม ซึ่งนั่นก็ทำให้คุณ ‘จนไม่เลิก’ อยู่ดี

SHARE

RELATED POSTS

เปิดคู่มือมือใหม่! สิ่งที่ต้องรู้ก่อนลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ปัจจุบัน โลกแห่งการลงทุนมีทางเลือกมากมายสำหรับนักลงทุน…
ทำความรู้จัก Solana เครือข่ายบล็อกเชนที่มาแรงที่สุดในตอนนี้! ต้องยอมรับว่าปัจจุบันบล็อกเชนและคริปโทเคอร์เรนซีเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีความสำคัญมากขึ้นในระบบการเงินดิจิทัล…
ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ถึงเบือนหน้าหนีกับการทำประกัน รู้หรือไม่? ประเทศไทยมีจำนวนการทำประกันหรือซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตน้อยกว่าประเทศอื่นอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่เฉลี่ยแล้วคนญี่ปุ่น 1…