‘Libra’ สกุลเงินดิจิทัลจากเฟซบุ๊ก
กับข้อโต้แย้งที่ยังรอคอยคำตอบ
ก่อนหน้านี้ทุกคนอาจจะรู้จักหรือเคยได้ยินเรื่องของ คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) รูปแบบ ‘สกุลเงินดิจิทัล’ ในตลาดบิตคอยน์ ซึ่งมีมูลค่าเหมือนกับธนบัตรในสกุลเงินของประเทศต่างๆ ที่เราใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่รูปแบบการเงินแบบนี้จะค่อนข้างผันผวนและมีราคาไม่คงที่ ทำให้ไม่สามารถเข้ามาแทนที่สกุลเงินดั้งเดิมที่ใช้กันอย่างสากล หรือนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้แพร่หลาย ผนวกกับเรื่องความปลอดภัยและข้อพิพาทที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งทำให้ไม่สามารถนำมาใช้อย่างเป็นทางการได้ในปัจจุบัน
เฟซบุ๊กมองเห็นถึงปัญหานี้ รวมถึงต้องการที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับที่เคยสร้างชุมชนออนไลน์อย่างเฟชบุ๊กในยุคเริ่มต้น ‘Libra’ จึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบสกุลเงินดิจิทัลที่แตกต่างจนสามารถพูดได้ว่า อาจเข้ามาปฏิวัติการใช้จ่ายและเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตได้เลยทีเดียว หากโครงการนี้ผ่านมติจากหน่วยงานทั่วโลก แต่การต่อสู้ครั้งนี้จะซ้ำรอยคริปโตฯ หรือไปได้ไกลกว่า ต้องคอยติดตามกันอย่างใกล้ชิด
จุดกำเนิด ‘Libra’ : ความหมายและตัวตนของผู้ดูแลโครงการ
คำว่า Libra มาจากคำในภาษาโรมันโบราณหรือภาษาละติน หมายถึง ราศีตุลย์ (ที่มีสัญลักษณ์เป็นตราชั่ง) สามารถสื่อถึงความเที่ยงตรงและยุติธรรมและยังมีสื่อความหมายได้ถึงค่าเงิน £ (ปอนด์) สัญลักษณ์ทางการเงินที่ใช้ในอังกฤษหรือยุโรป ซึ่งมาจากรากศัพท์เดียวกัน และยังมีความหมายเหมือนกันด้วย
บทบาทของ Libra ในระบบหน่วยเงินออนไลน์ คือสกุลเงินดิจิทัลแบบ Stable Coin ที่มีมูลค่าคงที่ ผูกติดและอิงกับสกุลเงินจริงที่ใช้งานในโลกออนไลน์ แนวคิดของ Libra เป็นเหมือนการตั้งตนเป็น ‘หน่วยเงินสากล’ ซึ่งคล้ายกับสกุลเงินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ และใช้งานได้ง่ายเหมือนเราส่งข้อความหากัน โดยเฟซบุ๊กเป็นผู้พัฒนาเองทั้งหมดภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชน และยังสร้าง ‘Calibra’ ซึ่งจะเป็นชื่อที่ใช้เรียกแทนกระเป๋าเงินอีวอลเล็ต (E-Wallet) อีกด้วย คล้ายการใช้จ่ายผ่าน Line Pay หรือ True wallet ที่คนไทยนิยมกัน โดยใช้เงิน Libra ในการหมุนเวียนและใช้จ่ายแทน จุดแข็งของ Libra คือมีค่าเงินที่มั่นคง ไม่ผันผวนเหมือนกับเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ ที่มีตัวแปรอื่นมาร่วมกำหนดค่าด้วย
Libra และ Calibra จะเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก โดยมี เดวิด มาร์คัส (David Marcus) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและการเงิน ซึ่งผ่านประสบการณ์มาอย่างโชคโชน จากการที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริหารในบริษัท PayPal และเคยร่วมงานกับเฟซบุ๊ก ในตำแหน่งประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ Messenger เป็นผู้ดูแลโครงการ นอกจากนี้ยังมีพาร์ตเนอร์อีกกว่า 27 ราย ที่มีส่วนร่วมปั้นโครงการนี้ ผ่านวิธีการจัดตั้งองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไรขึ้นมาในชื่อ ‘Libra Association’ หน้าที่หลักขององค์กร คือกำกับนโยบายบังคับใช้ ดูแลบริหารจัดการระบบ ทำงานร่วมกับผู้ออกนโยบายในแต่ละประเทศ โดยแต่ละรายมีสิทธิออกเสียงโหวตผ่านร่างนโยบายต่างๆ ที่ 1 เสียงเท่ากัน นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่แข็งแรง และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการได้ ทั้งในแง่การใช้งานและความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว
การกำเนิดของ Libra สร้างผลกระทบต่อสถาบันการเงินอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อข่าวของ Libra ได้นำเสนอออกมา หน่วยงานทางการเงินทั่วโลกจับตาการเคลื่อนไหวนี้ทันที เพราะสิ่งนี้สร้างผลกระทบกับ ‘สถาบันการเงิน’ โดยตรง ไม่ว่าจะคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินสหรัฐอเมริกา (House Banking Committee) และคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภา (Senate Banking Committee) ต่างเรียกร้องให้เฟซบุ๊กยุติการพัฒนาโครงการจนกว่าสภาคองเกรส และผู้กำหนดนโยบายจะดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน
หากสิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริง จะส่งผลกระทบต่อสกุลเงินปกติทั่วโลกและการพิจารณาสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ตามมาด้วย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป และถ้าได้รับการยอมรับและเกิดความนิยมขึ้นมาจริงๆ สถาบันทางการเงินจะเสื่อมความนิยมลงอย่างแน่นอน เนื่องจาก Libra ไม่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินปกติและไม่มีค่าธรรมเนียม หน่วยงานรัฐในแต่ละประเทศจึงติดตามการใช้จ่ายได้ยากขึ้น เนื่องจากไม่ผ่านสถาบันทางการเงิน อาจทำให้การเก็บภาษีหรือการติดตามอื่นๆ ทำได้ยากตามไปด้วย
แหล่งที่มาภาพ : https://images.axios.com
Libra จะซ้ำรอยคริปโตฯ หรือไปได้ไกลกว่า ยังเป็นคำถามที่ต้องติดตาม แม้ไอเดียของ Libra จะน่าสนใจและมีจุดเด่นที่มากกว่าสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ แต่หากหน่วยงานทั่วโลกไม่ให้การยอมรับ โครงการนี้ก็อาจตกอยู่ในสถานะไม่ต่างจากสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ที่นิยมใช้งานกันเพียงเฉพาะกลุ่ม ผู้บริโภคที่สนใจและเป็นปลายทางของตลาดเงินอย่างเรา คงทำได้เพียงหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และมีความกระจ่างในประเด็นนี้โดยเร็ว