กองทุนรวม

“กองทุนรวม” ทางเลือกของคนที่อยากเริ่มลงทุน
เลือกระดับความเสี่ยงได้

หลายคนมักวางแผนว่าเมื่อฉันทำงานแล้ว ฉันจะต้องเก็บเงิน เพื่อในอนาคตจะได้มีเงินสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น แต่ถ้าเกิดเงินเฟ้อขึ้นมา แม้เราจะฝากเงินในธนาคารไปเท่าไร มูลค่าเงินของเราก็จะลดลง หมายความว่าเราจะจนลง เพราะฉะนั้น อีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เงินของเรางอกขึ้นมาโดยที่ไม่ต้องเสี่ยงมากจนเกินไปเหมือนการเล่นหุ้น นั่นก็คือการลงทุนกับ “กองทุนรวม” ซึ่งเหมาะกับคนที่เพิ่งเริ่มลงทุนในช่วงแรก ๆ

กองทุนรวมคืออะไร

กองทุนรวมคืออะไร

กองทุนรวม คือ การระดมเงินลงทุนจำนวนเล็ก ๆ จากคนจำนวนมากไปรวมกัน เพื่อตั้งเป็นกองทุนแล้วไปลงทุนในทรัพย์สิน เหมาะกับคนที่มีทุนทรัพย์น้อย ซึ่งมีแค่หลักพันก็ลงทุนได้ ไม่ต้องมีประสบการณ์ คนที่ไม่มีเวลาติดตามข่าวสารก็มีผู้ดูแลผลประโยชน์ให้โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลามานั่งเฝ้า และไม่ต้องกังวลว่าจะโดนโกง

เพราะผู้ที่ดูแลผลประโยชน์ของเราจะต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อนที่จะจัดตั้งกองทุนนั้น เพราะฉะนั้นจะมีความเป็นมืออาชีพ พวกเขาจะศึกษาว่าหุ้นตัวไหนดีหรือน่าสนใจ คอยติดตามสถานการณ์การลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงตัดสินใจซื้อ – ขายเพื่อทำกำไรให้กับเราโดยที่เราไม่ต้องมานั่งคิดเองว่าจะซื้อหรือขายดีให้ปวดหัว เมื่อไรที่เราต้องการเงินสดก็สามารถขายคืนได้

ข้อดีของกองทุนรวม

ข้อดีของกองทุนรวม

ข้อดีของกองทุนรวม คือมีกองทุนให้เราเลือกลงทุนได้หลายระดับความเสี่ยง บางตัวเสี่ยงต่ำพอ ๆ กับฝากเงินในธนาคาร แต่ถ้าความเสี่ยงยิ่งต่ำ ผลตอบแทนก็ต่ำตามไปด้วย ซึ่งกองทุนรวมนั้นจะมีทางเลือกให้เราลงทุนมากมาย โดยมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น

  • กองทุนรวม RMF, LTF, SSF
  • กองทุนรวมทองคำ ส่วนใหญ่เน้นลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ มีเงินแค่หลักพันก็ลงทุนได้ แถมลดความเสี่ยงทองหายได้อีกด้วย และมูลค่าของทองคำจะไม่ต่ำลงเมื่อเกิดเงินเฟ้อ แต่จะมีค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการ
  • กองทุนรวมน้ำมัน เป็นกองทุนรวมที่ไปลงทุนในกองทุนน้ำมันของต่างประเทศอีกทีเหมือนกองทุนรวมทองคำ รวมถึงมีข้อดีและข้อด้อยใกล้เคียงกันอีกด้วย คือช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนถ้าตลาดทุนผันผวน แต่ก็มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพราะไปลงทุนในต่างประเทศ
  • กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เช่น สนามบิน ศูนย์การค้า สำนักงาน โรงแรม ศูนย์ประชุม ฯลฯ สมมติจะลงทุนในโรงแรมก็ต้องเช็กว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยช่วง High Season คนเข้าพักเยอะไหม หรือถ้าเป็นศูนย์การค้าก็ดูว่าอยู่ในทำเลแบบไหน ผู้เช่าเต็มไหม ปริมาณลูกค้ามีมากน้อยเพียงใด
  • กองทุนรวมหุ้น หรือ กองทุนรวมตราสารทุน ผู้จัดการกองทุนจะนำเงินเราไปเล่นหุ้น ตามนโยบายการลงทุนของเขา ซึ่งเราสามารถดูได้ว่าหุ้นที่ซื้อถูกใจเราไหม ถ้าไม่พอใจเราสามารถเปลี่ยนได้ แล้วถ้าอยากได้ผลตอบแทนมาก ๆ ควรถือหุ้นระยะยาวอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป
  • กองทุนรวมตราสารหนี้ มีทั้งของภาครัฐและเอกชน ถ้าออกโดยภาครัฐและมีอายุมากกว่า 1 ปี จะเรียกว่า “พันธบัตร” ที่เราคุ้นกันในชื่อ “พันธบัตรรัฐบาล” นั่นเอง ถ้าอายุต่ำกว่า 1 ปี เราจะเรียกว่า “ตั๋วเงินคลัง” แต่ถ้าเป็นของบริษัทเอกชนจะเรียกว่า “หุ้นกู้”

กองทุนรวมแบบไหนเหมาะกับเรา ?

กองทุนรวมแบบไหนเหมาะกับเรา
  • สำหรับคนที่ไม่ชอบเสี่ยง แนะนำว่าให้ลงทุนกับ กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

    ใครที่ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ให้รู้เอาไว้ว่าเราจะเป็นเจ้าหนี้ และได้รับดอกเบี้ยเป็นค่าตอบแทนตามอัตราที่กำหนด พร้อมกับเงินต้นถ้าเราถือจนครบอายุ การลงทุนในลักษณะนี้หากมีความเสี่ยงก็มักจะเกิดจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและความเสี่ยงจากผู้ออกตราสาร หากรัฐบาลเป็นผู้ออก เราจะมั่นใจได้มากกว่าว่าจะได้เงินต้นและดอกเบี้ยคืนแน่นอน ถ้าเป็นบริษัทเอกชนต้องดูว่าบริษัทนี้มั่นคงมากน้อยแค่ไหนก่อนที่จะลงทุน

  • สำหรับคนที่ชอบเสี่ยง อยากได้ผลตอบแทนสูง แต่ยังไม่ชำนาญและเงินทุนไม่มากพอ เหมาะกับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมดัชนีหุ้น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งเป็นกองทุนที่นำไปลงทุนในหุ้น แต่เราต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของหุ้นมักจะขึ้น ๆ ลง ๆ ถ้ายังไม่เชี่ยวชาญ แนะนำว่าให้ลงทุนในจำนวนเงินเท่า ๆ กันทุกเดือน จะช่วยลดความเสี่ยงได้มากกว่าลงเป็นจำนวนมากครั้งเดียว และเราควรหวังผลตอบแทนในระยะยาวมากกว่าเก็งกำไรระยะสั้น 10 ปีขึ้นไปยิ่งดี เพราะโอกาสขาดทุนจะน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย
  • สำหรับคนที่อยากประหยัดภาษี และอยากมีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ สามารถเลือกกองทุนรวม RMF หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” ซึ่งกองทุนนี้จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ และเป็นการลงทุนระยะยาว เหมาะกับคนที่อยากสร้างวินัยในการออม

    ตอนนี้ได้ปรับรูปแบบใหม่ คือเราสามารถซื้อได้สูงสุด 30% ของรายได้ จากเดิม 15% (รวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท) และไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อทุกปี

    อีกตัวหนึ่งคือ กองทุนรวม SSF หรือ “กองทุนรวมเพื่อการออม” น้องใหม่ที่มาแทนกองทุนรวม LTF ในเรื่องการช่วยลดหย่อนภาษี แต่เรายังคงถือกองทุน LTF ได้อยู่ แค่นำมาใช้ลดหย่อนภาษีไม่ได้แล้วก็เท่านั้น (สิ้นสุดไปเมื่อปี 62)


    ข้อดีของ SSF จะขายคืนได้ก็ต่อเมื่อถือครองถึง 10 ปี ถือเป็นการส่งเสริมการออมระยะยาว ที่สำคัญไม่จำกัดขั้นต่ำในการซื้อ และไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปีเหมือน RMF เพราะฉะนั้น ใครที่ยังไม่พร้อมซื้อ RMF ทุกปี ก็มาซื้อ SSF เพื่อลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน

  • สำหรับคนที่อยากลงทุนในต่างประเทศ กองทุนรวมนี้เหมาะกับคนที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่น ๆ ไม่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง เพราะนวัตกรรมบางอย่างในต่างประเทศยังไม่มีเข้ามาในไทย ดังนั้นจึงมีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งกองทุนรวมกลุ่มนี้มีหลากหลาย ได้แก่ กองทุนในหุ้นทวีปเอเชียแปซิฟิก/ทวีปยุโรป กองทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมน้ำมัน ฯลฯ แต่ต้องยอมรับว่าความเสี่ยงจะสูงกว่ากองทุนอื่น ๆ เพราะเป็นกองทุนในต่างประเทศ ซึ่งมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมาเกี่ยวข้องด้วย แต่บางกองทุนอาจมีนโยบายป้องกันความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนตรงนี้

กองทุนรวมเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นลงทุน เพื่อให้มีเงินไว้ใช้จ่ายในอนาคต ยิ่งลงทุนเร็วเท่าไร เราจะมีเวลาสะสมเงินได้นานมากขึ้น อย่าได้สนใจคำพูดที่ว่า “การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง” เพราะคำเหล่านี้มักจะทำให้เรากลัว แต่อย่าลืมว่าถ้าไม่ลงทุน ชีวิตเราตอนนี้ก็กำลังเสี่ยงอยู่เหมือนกัน

หนังสือ “รวยด้วยกองทุนรวมไม่ยาก”

https://www.moneybuffalo.in.th/

https://aommoney.com/stories/aommoney-ideas/

SHARE

RELATED POSTS

เปิดคู่มือมือใหม่! สิ่งที่ต้องรู้ก่อนลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ปัจจุบัน โลกแห่งการลงทุนมีทางเลือกมากมายสำหรับนักลงทุน…
ทำความรู้จัก Solana เครือข่ายบล็อกเชนที่มาแรงที่สุดในตอนนี้! ต้องยอมรับว่าปัจจุบันบล็อกเชนและคริปโทเคอร์เรนซีเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีความสำคัญมากขึ้นในระบบการเงินดิจิทัล…
ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ถึงเบือนหน้าหนีกับการทำประกัน รู้หรือไม่? ประเทศไทยมีจำนวนการทำประกันหรือซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตน้อยกว่าประเทศอื่นอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่เฉลี่ยแล้วคนญี่ปุ่น 1…