สุขภาพจิต

ชวนดูปัญหาสุขภาพจิตคนรุ่นใหม่ เรื่องกลุ้มใจในยุคดิจิทัล | Advertorial

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ตั้งแต่การสื่อสาร การทำงาน การเรียน ไปจนถึงความบันเทิง และดูเหมือนว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวขับเคลื่อนของทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ทำให้ชีวิตของผู้คนสะดวกสบายยิ่งขึ้น ด้วยการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและบริการได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน การพึ่งพาเทคโนโลยีที่มากเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้เช่นกัน

สถานการณ์ ปัญหาสุขภาพจิต ในไทย

จากรายงานอนาคตสุขภาพจิต พ.ศ. 2576 ระบุว่าในปี พ.ศ. 2565 คนไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน โดยมี 3 เหตุผลหลัก คือ เพื่อรับบริการทางการแพทย์ เพื่อติดต่อสื่อสาร และเพื่อความบันเทิง นอกจากนี้ คนไทยยังหันมาเสพข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จนติดอันดับ 2 ของโลกในการใช้สื่อออนไลน์ในการบริโภคข่าวสาร

อย่างไรก็ตาม สื่อโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาสุขภาพจิต จากการเสพข่าวลวงและการระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) จนนำไปสู่ผลกระทบทางจิตใจในระยะยาว รวมถึง ผลจากการประเมินสุขภาพจิตตนเอง (Mental Health Check In) ของกรมสุขภาพจิต ในช่วงปีประมาณ พ.ศ. 2567 ยังพบว่ามีผู้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.5 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 17.2 และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 10.6 จากผู้เข้าร่วมประเมินทั้งหมดราว 7.5 แสนคน ชี้ให้เห็นแนวโน้มของปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ เราจะพาทุกคนไปสำรวจกันว่าภัยคุกคามของโลกยุคดิจิทัลมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพจิตของคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง และสามารถนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงได้เพียงใด เพื่อการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

รวมปัญหาสุขภาพจิตที่คนรุ่นใหม่มักประสบ

1. FOMO

ปัญหาสุขภาพจิต FOMO

อาการ FOMO หรือ Fear of Missing Out เป็นภาวะทางสุขภาพจิตที่เกิดจากความหวาดกลัวที่จะพลาดข่าวสารหรือตามไม่ทันกระแสสังคม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ระบุว่าผู้ที่มีอาการ FOMO มักมีพฤติกรรมติดโซเชียลและเช็กโทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากต้องการรับรู้ข่าวสารก่อนผู้อื่น ซึ่งอาจนำไปสู่ความเครียดและส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เช่น ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมถึงนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา เช่น หายใจไม่ทัน คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจจากฮอร์โมนคอร์ติซอลที่หลั่งออกมาในภาวะเครียด

2. ภาวะทนรอไม่ได้

ปัญหาสุขภาพจิต ภาวะทนรอไม่ได้ Hurry Sickness

เคยสังเกตหรือไม่ว่าปัจจุบันผู้คนมีแนวโน้มที่จะใจร้อนและหงุดหงิดกับการรอคอยสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น นี่นี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในคนรุ่นใหม่จากความสะดวกสบายของเทคโนโลยี ที่แม้ว่าจะช่วยให้เราทำหลายสิ่งได้รวดเร็วขึ้น แต่ในด้านหนึ่งกลับทำให้ผู้คนเกิดความเร่งรีบ และหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้นาน ๆ อาการอาจรุนแรงขึ้นจนทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้

3. โรคสมาธิสั้น

ปัญหาสุขภาพจิต สมาธิสั้น ADHD

โรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในการควบคุมสมาธิ การจดจ่อ และการยับยั้งชั่งใจ จากการศึกษา พบว่าการใช้เทคโนโลยีมากเกินไปสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสมาธิสั้นได้เกือบ 10% ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเด็กเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน

4. Phubbing

ปัญหาสุขภาพจิต Phubbing

สสส. ได้ให้ความหมายของ Phubbing ว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเสพติดมือถือจนละเลยผู้คนและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งคำนี้มาจากการรวมกันของคำว่า Phone และ Snubbing หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘สังคมก้มหน้า’ สาเหตุของพฤติกรรมนี้เกิดจากการติดอินเทอร์เน็ต ความกลัวที่จะตกกระแส และการขาดการควบคุมตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้คนได้อย่างมีนัยสำคัญ

5. Headline Stress Disorder

ปัญหาสุขภาพจิต Headline Stress Disorder

Headline Stress Disorder คือปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากการเสพข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ มากเกินไป โดยเฉพาะในยุคที่มีการแพร่กระจายข่าวสารอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา จนเกิดความสับสน กังวล และกลายเป็นความเครียดสะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายในระยะยาวได้อีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มักเผชิญกับแรงกดดันจากสังคมรอบตัว ซึ่งอาจนำไปสู่ความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจได้อย่างง่ายดาย

6. โรคซึมเศร้า

ปัญหาสุขภาพจิต โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลข่าวสารเผยแพร่อย่างรวดเร็ว จนเกิดความเครียดสะสมซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคซึมเศร้า แต่สาเหตุหลักของโรคซึมเศร้าเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง จึงส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด ทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า ความรู้สึกสิ้นหวัง หรือแม้กระทั่งความไม่สนใจในสิ่งที่เคยชอบ โดยอาการเหล่านี้อาจทำให้คุณภาพชีวิตลดลงและส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

7. Burnout

ปัญหาสุขภาพจิต Burnout

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อโลกการทำงาน โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่หลายบริษัทปรับเปลี่ยนรูปแบบทำงานให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เผยว่าแม้ว่าการทำงานจากที่บ้านจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็อาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout ซึ่งเกิดจากความเครียดสะสมจากการทำงานอย่างหนักได้เช่นกัน ซึ่งจากการสำรวจของสหประชาชาติพบว่าพนักงานที่ทำงานนอกออฟฟิศมีแนวโน้มมีความเครียดมากกว่าพนักงานที่เข้าออฟฟิศ การเผชิญกับอาการเหล่านี้ทำให้พนักงานรู้สึกเหนื่อยล้าและขาดแรงจูงใจ

8. โรคกลัวสังคม

ปัญหาสุขภาพจิต โรคกลัวสังคม

โรคกลัวสังคม (Social Anxiety Disorder หรือ Social Phobia) คืออาการกลัวที่จะต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นจุดสนใจหรืออับอายต่อหน้าผู้อื่น จึงมักเลือกที่จะหลีกเลี่ยงออกจากสังคม โดยสาเหตุอาจจมาจากการให้ความสำคัญกับสังคมออนไลน์มากเกินไปทำให้ปลีกตัวจากผู้คนรอบข้าง ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลในการเข้าสังคม และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง

การดูแลสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กับการดูแลสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยความท้าทายและความกดดัน หากคุณหรือคนรอบข้างรู้สึกกลุ้มใจ อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อก้าวข้ามความยากลำบากไปให้ได้

SHARE

RELATED POSTS