พืชกระท่อม

จะเป็นอย่างไรเมื่อพืชกระท่อม ถูกปลดล็อกให้ไม่ผิดกฎหมายแล้ว

เป็นที่ฮือฮากันอย่างมากในประเทศไทย เมื่อ “กระท่อม” พ้นสถานะบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 แล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564 หลังจากดำรงสถานะนี้มากว่า 40 ปี ซึ่งวันนี้ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคกระท่อมได้ทั่วไป รวมไปถึงการซื้อขายได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับกระท่อมก็จะได้รับการยุติคดี โดยไม่ถือว่าเคยกระทำความผิดอีกด้วย เราไปดูพร้อมกันเลยว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อกระท่อมถูกปลดล็อกจากยาเสพติดแล้ว

รู้จักพืชกระท่อม

กระท่อม (Kratom / Mitragyna speciosa) เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลายสายพันธุ์ แต่ในประเทศไทยมักพบมากในแถบพื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ป่าธรรมชาติของภาคใต้ โดยกลุ่มคนทำไร่ทำนาจะนิยมนำส่วนใบของพืชกระท่อมมาเคี้ยวสด หรือต้มเป็นชา ถูกใช้ในลักษณะยาสมุนไพรท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นให้ทำงานได้แบบไม่เมื่อยล้า เพราะพืชกระท่อมจะออกฤทธิ์คล้ายกับแอมเฟตามีน กระตุ้นประสาทให้ทำงานได้มากขึ้น

พืชกระท่อม

สารสำคัญในใบกระท่อม ประกอบด้วย

แอลคาลอยด์ (Alkaloid) ทั้งหมดประมาณร้อยละ 0.5 แบ่งเป็น ไมทราไจนีน (Mitragynine) ร้อยละ 0.25 ที่เหลือเป็น Speciogynine, Paynanthine, Speciociliatine ตามลำดับ ซึ่งชนิดและปริมาณแอลคาลอยด์ที่พบจะแตกต่างกันไปตามสถานที่ และเวลาที่เก็บเกี่ยว (ใบกระท่อมจะมีสารแอลคาลอยด์ เป็นไมทราไจนีนที่มีฤทธิ์ระงับอาการปวดเช่นเดียวกับมอร์ฟีน มีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า)

สรรพคุณทางยาของใบกระท่อม ที่สามารถนำมาสกัดใช้ในทางสุขภาพได้

  • ลดไข้ บรรเทาอาการไอ
  • รักษาการติดเชื้อในลำไส้ โรคบิด ท้องเสีย ท้องเฟ้อ และอาการมวนท้อง
  • บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามร่างกาย
  • ใช้บดทำเป็นยาสมุนไพรสำหรับพอกรักษาแผล
  • ทำให้นอนหลับ โดยเคี้ยวใบสดหรือใบแห้ง สูบ หรือชงเป็นน้ำชา ช่วยคลายวิตกกังวล
  • ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า รักษาระดับพลังงาน ทำงานได้นานขึ้น
  • รักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง

ควรกินกระท่อมในปริมาณที่พอดี หากกินมากเกินไป หรือกินติดต่อกันเป็นเวลานาน กระท่อมก็สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน รวมไปถึงการนำกระท่อมไปใช้ในทางที่ไม่ควร เช่น ผสมกับเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทางด้านยารักษาโรค ทำให้เมื่อกินมากไป อาจมีผลข้างเคียงดังนี้ได้

  • อาการแขนกระตุก
  • อารมณ์ซึมเศร้า หรือก้าวร้าว
  • มีอาการทางจิต หวาดระแวง เห็นภาพหลอน พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง
  • กระวนกระวาย
  • ปากแห้ง ผิวหนังสีเข้มขึ้น เบื่ออาหาร
  • ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย
  • หนาวสั่น นอนไม่หลับ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ความดันสูง

วันนี้ พืชกระท่อม ไม่ผิดกฎหมายแล้ว

พืชกระท่อม ไม่ผิดกฎหมายแล้ว

ในปีพ.ศ. 2522 พืชกระท่อมกลายเป็นหนึ่งในพืชที่อยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ของพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ชนิดเดียวกับกัญชา ซึ่งทางราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 ในการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ทำให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยจะส่งผลให้…

  1. พืชกระท่อม เป็นพืชเศรษฐกิจอีกหนึ่งตัวที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
  2. ผู้ถูกคุมขัง หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับพืชกระท่อม ได้รับการปล่อยตัวหรือยุติคดีโดยไม่ถือว่าเคยกระทำความผิด
  3. สามารถปลูก กิน ซื้อ และขายพืชกระท่อมได้ไม่จำกัดจำนวน โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนด

พืชกระท่อม ใช้อย่างไรถึงไม่ผิดกฎหมาย

แม้ว่าพืชกระท่อมจะได้รับการปลดล็อกให้หลุดพ้นสถานะยาเสพติดให้โทษก็ตาม แต่ก็ยังต้องปฏิบัติตามระเบียบ และข้อบังคับของ พ.ร.บ. พืชกระท่อม ต่อไปนี้

1. มาตรการควบคุมและกำกับดูแล

กำหนดให้การปลูก ขาย รวมถึงการนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เพื่อประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม ต้องได้รับใบอนุญาต โดยใบอนุญาตปลูกพืชกระท่อม ใบอนุญาตขายใบกระท่อม มีอายุ 5 ปี ส่วนใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม มีอายุ 1 ปี กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต เช่น เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ไม่เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรืออยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาต

หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต

– ต้องเพาะหรือปลูกพืชกระท่อม ในที่ดิน สถานที่ และพิกัดตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น

– ผู้รับใบอนุญาตขาย นำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม มีหน้าที่ต้องจัดให้มีป้ายแสดงว่าเป็นสถานที่ขาย นำเข้า หรือส่งออกใบกระท่อม จัดให้มีฉลากและเอกสารกำกับใบกระท่อม โดยอย่างน้อยต้องระบุแหล่งที่มาของใบกระท่อม คำเตือน หรือข้อควรระวัง

2. การคุ้มครองบุคคลและการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด

– ห้ามขายใบกระท่อม น้ำต้มใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ ให้แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท กรณีมีการขายในสถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ หรือสวนสนุก หรือขายโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

– ห้ามผู้ใดบริโภคใบกระท่อมหรือน้ำต้มใบกระท่อมที่ปรุงผสมกับยาเสพติดให้โทษ เช่น *สี่คูณร้อย (4×100) ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

3. กำหนดไม่ให้ผู้ปลูกพืชกระท่อม ขายใบกระท่อม เกินปริมาณที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หรือนำเข้า-ส่งออกใบกระท่อม โดยไม่มีใบอนุญาต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

*สี่คูณร้อย เป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมหลัก 4 อย่างคือ น้ำต้มใบกระท่อม น้ำอัดลมประเภทโคล่า ยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของโคเดอีน และยากันยุง มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ซึ่งเคยมีรายงานว่ามีเยาวชนเสียชีวิตจากการเสพสี่คูณร้อย

เราก็ได้รู้กันไปแล้วว่าหลังจากที่พืชกระท่อมได้รับการปลดสถานะให้ไม่ผิดกฎหมายแล้ว ยังสามารถปลูก ขาย ซื้อ กิน ได้อย่างเสรี แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องอยู่ในระเบียบ ข้อบังคับ และควรกินในปริมาณที่พอดี แม้พืชกระท่อมจะเป็นสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์มากมาย แต่ถ้าเราใช้มากเกินไป หรือใช้ในทางที่ผิด อาจเป็นตัวเราเองที่ได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นใช้กันให้พอเหมาะพอควรนะครับ

SHARE

RELATED POSTS