อิคิไก (Ikigai) แนวคิดคนญี่ปุ่นที่บอกถึงเหตุผลของการมีชีวิตอยู่
หากคุณเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรคือเหตุผลของการมีชีวิต ? คุณตื่นขึ้นมาในตอนเช้าเพราะอะไร ? คำถามที่ดูเหมือนง่ายแต่กลับหาคำตอบไม่ได้ แนวคิดการใช้ชีวิตแบบ อิคิไก (Ikigai) อาจเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยไขคำตอบนี้ได้นะครับ
ทำไมต้องมีอิคิไก (Ikigai) ในชีวิต ? ผมเชื่อว่าทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่าชีวิตมีความหมาย แต่สำหรับบางคนยังไม่รู้ว่าความหมายของชีวิตคืออะไร เป้าหมาย ความต้องการ รวมไปถึงความสุขในชีวิต ซึ่งการที่เรารู้เหตุผลของสิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีเป้าหมาย มีกำลังใจ และรู้ถึงเหตุผลในการใช้ชีวิตอยู่ของตัวเอง แนวคิดอิคิไกจึงตอบโจทย์นี้ได้อย่างยั่งยืน อย่างไรกันนั้นเราไปค้นหาคำตอบพร้อมกันเลยครับ
แนวคิดที่ชื่อ Ikigai อิคิไก คืออะไร
คำว่า อิคิไก มาจากการรวมกันของ 2 คำ คือ “อิคิ” แปลว่า การใช้ชีวิต ส่วน “ไก” แปลว่า คุณค่าหรือความหมาย รวมกันแล้วจึงมีความหมายว่า ความหมายของการมีชีวิต หรือการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า เป็นแนวคิดการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นที่เก่าแก่ มีมานานแล้ว ซึ่งสำหรับคนญี่ปุ่นเองคำนี้เป็นเพียงคำธรรมดาทั่วไป ไม่ใช่สิ่งพิเศษที่ต้องค้นหา เพราะมันได้ฝังลึกลงในวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต
พลังของอิคิไกมีจุดมุ่งหมายคือการสร้างวงกลมชีวิตที่สมดุล ค้นพบตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถนัดและสิ่งที่เลี้ยงชีพได้ นำไปสู่การตอบแทนสังคม เพื่อแก้ปัญหาความไม่รู้หรือสับสนจนพาตัวเองเดินไปเส้นทางที่ไม่ชอบ ทุกวันที่ตื่นขึ้นมาจึงหดหู่ ไร้เรี่ยวแรง พยายามที่จะหาอะไรบางอย่างมาเยียวยาความรู้สึกให้มีความสุข แต่เอาเข้าจริงแล้ว ลึก ๆ ข้างในกลับรู้สึกว่างเปล่า
แต่เมื่อเรามีอิคิไกในชีวิต ในทุกวันที่ตื่นขึ้นมา เราจะรู้ว่าความหมายของการมีชีวิตในแต่ละวันคืออะไร ทำไปเพื่ออะไร ใช้ชีวิตอย่างมีพลัง มีเป้าหมาย และมีความสุขอย่างแท้จริง
4 หลักอิคิไก เหตุผลในการมีชีวิต
1. What you LOVE – สิ่งที่เรารัก
อะไรเป็นสิ่งที่เรารัก เราชอบทำ สิ่งที่ทำแล้วเรามีความสุข เช่น ชอบเล่นเกม ชอบออกกำลังกาย ชอบทำอาหาร ชอบคุยกับผู้คน
2. What you are GOOD AT – สิ่งที่เราทำได้ดี
อะไรเป็นสิ่งที่เราทำแล้วได้ผลลัพธ์ดี สิ่งที่ตัวเองถนัด เช่น วาดภาพสวย เขียนหนังสือคล่อง ทำอาหารอร่อย
3. What you can be PAID FOR – สิ่งที่ทำแล้วได้ผลตอบแทน (รายได้)
อะไรที่ก่อให้เกิดเป็นรายได้ สามารถเลี้ยงชีพได้ เช่น เป็นนักกีฬาอีสปอร์ต เป็นเชฟ เป็นนักเขียน
4. What the World NEEDS – สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและโลก
อะไรเป็นสิ่งที่สังคม โลก ต้องการ หรือดีต่อผู้คน เช่น เป็นคนที่ชอบวิ่ง แล้วใช้การวิ่งมาช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ รณรงค์ให้คนหันมาออกกำลังกาย เป็นต้น
เมื่อนำหลักทั้ง 4 ของอิคิไกมาวางทับซ้อนกันในแต่ละด้านก็จะเกิดเป็นอีก 4 หลักการ คือ
1. Passion – แรงบันดาลใจ ความหลงใหล
สิ่งที่เรารัก + สิ่งที่เราทำได้ดี เกิดเป็นแรงผลักดันทำให้เราแฮปปี้ที่ได้ทำ ทำด้วยความเต็มใจ เช่น คุณชอบดื่มกาแฟ และชงกาแฟออกมาได้ดี คุณจะรู้สึกรักและสนุกตอนที่ได้ทำ
2. Profession – ความเชี่ยวชาญ เป็นมืออาชีพ
สิ่งที่เราทำได้ดี จนก่อให้เกิดเป็นรายได้เลี้ยงชีพให้ตัวเอง เช่น คุณทำอาหารได้อร่อย จนสามารถประกอบอาชีพเป็นเชฟได้
3. Vocation – ทักษะ หรืองานเพื่อสังคม
สิ่งที่สังคมต้องการ หรือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับผู้คน และสิ่งนั้นยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้ได้ (ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเงินเสมอไป) เช่น เป็นวิทยากร พูดให้ความรู้ผู้คน สังคมให้ความเคารพนับถือ เป็นต้น
4. Mission – พันธกิจ
สิ่งที่เรารัก ทำแล้วมีความสุข และสิ่งนั้นก็เป็นประโยชน์ต่อสังคม โลก หรือผู้คน เช่น คุณรักการชงกาแฟ แล้วมีความรู้ที่เป็นประโยชน์สามารถแชร์ให้ผู้อื่นได้ ก็เป็นสปีกเกอร์มอบความรู้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือผู้ดื่ม
มีอยู่บุคคลหนึ่งที่เขาดำเนินชีวิตด้วยเหตุผล 4 ข้อ ที่ดันเผอิญไปตรงกับแนวคิดของอิคิไกพอดี นั่นก็คือ น้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา สังเกตได้จากที่น้าอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก ทำในสิ่งตัวเองถนัด และทั้งสองสิ่งนี้ก็สามารถเลี้ยงชีพได้ พร้อมกับยังดีต่อผู้คน ด้วยรายการต่าง ๆ มากมายที่ผู้คนต่างรอคอยที่จะโทรมาพูดคุยปรึกษาปัญหาชีวิต ทั้ง อย่าหาว่าน้าสอน (ปรึกษาปัญหาชีวิต) คุยแล้วรวย (ปรึกษาปัญหาด้านการเงิน) หงี่-เหลา-เป่า-ติ้ว (ปรึกษาปัญหาเรื่องเพศ) และ คุยให้เด็กมันฟัง (คุยเรื่องยุค 80’s 90’s) พอพูดถึงแนวคิดหลักอิคิไก Ikigai แล้ว ทำให้นึกถึงคลิปนึงที่น้าได้ให้คำปรึกษาที่ว่าด้วยเรื่อง หมด Passion ในการทำงาน เอาไว้ เราไปดูกันครับ เผื่อว่าจะช่วยทำให้เห็นภาพได้ชัดมากขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วดูเหมือนว่าเรื่องของอิคิไก (Ikigai) จะเฉพาะตัวเอามาก ๆ ไม่มีใครตอบคำถามเหล่านี้ให้คุณได้ทั้งหมด บางความสงสัยคุณก็ต้องค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ลองเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ใกล้ตัวหรือทำมันอยู่ทุกวัน แล้วลองหาวิถีทางที่เป็นไปได้ในบริบทที่คุณมี
เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ IKIGAI The Japanese Secret to a Long and Happy Life
เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ โชคดีที่มึงได้อ่าน