Dyspraxia

แค่ซุ่มซ่ามจริงหรือ? ไขความลับ Dyspraxia อาการของคนชอบชน

เคยรู้สึกไหมว่าตัวเองชนเดินชนข้าวของหรือเดินสะดุดอยู่บ่อย ๆ หลายคนอาจมองว่าตัวเองแค่ซุ่มซ่าม แต่ถ้าหากรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต นี่อาจเป็นสัญญาณของ Dyspraxia หรือ Developmental Coordination Disorder (DCD) ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวและการทำงานประสานกันของร่างกาย วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Dyspraxia อย่างละเอียด พร้อมดูแนวทางการจัดการเพื่อช่วยให้ผู้ที่มีภาวะนี้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจและมีคุณภาพ

ทำความรู้จัก Dyspraxia คืออะไร

Dyspraxia คือ

Dyspraxia หรือ Developmental Coordination Disorder (DCD) เป็นภาวะผิดปกติทางพัฒนาการของระบบประสาทที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทในสมองที่ไม่สมบูรณ์ ภาวะนี้มักถูกวินิจฉัยในวัยเด็ก และหลายคนอาจมองว่าเป็นแค่ความซุ่มซ่ามที่หายไปได้เองเมื่อโตขึ้น

แม้ว่า Dyspraxia จะไม่กระทบต่อสติปัญญาโดยตรง แต่กลับสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตในทุกด้าน เช่น การเขียนหนังสือ การทรงตัว การเล่นกีฬา หรือการขับรถ ดังนั้น การได้รับการบำบัดและการสนับสนุนที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้ที่มี Dyspraxia สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น แม้ว่าภาวะนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจคือกุญแจสำคัญของการใช้ชีวิตที่ดี

สำรวจอาการ! แค่ซุ่มซ่ามหรือเป็น Dyspraxia?

อาการของ Dyspraxia มีลักษณะที่หลากหลายและอาจเปลี่ยนแปลงตามเวลาได้ในแต่ละบุคคล อาการที่พบมักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาจแสดงออกให้เห็น ดังนี้

Dyspraxia อาการ

อาการ Dyspraxia ด้านการเคลื่อนไหวและการทรงตัว

  • ร่างกายส่วนต่าง ๆ ทำงานประสานกันไม่สมบูรณ์
  • การทรงตัวไม่ดี และมีปัญหาในการทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหว
  • เคลื่อนไหวแบบงุ่มง่าม เดินสะดุด หรือล้มบ่อย

อาการ Dyspraxia ด้านทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน

  • แต่งตัวหรือใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่สะดวก
  • ไม่สามารถทำกิจกรรมที่ใช้มือสองข้างพร้อมกันได้ เช่น การใช้ช้อนส้อม

อาการ Dyspraxia ด้านภาษาและการสื่อสาร

  • พูดไม่ชัดหรือพูดติดขัด
  • มีปัญหาในการฟังและทำความเข้าใจ
  • ไม่สามารถควบคุมระดับเสียง ความเร็ว หรือโทนเสียงขณะพูด

อาการ Dyspraxia ด้านการคิดและการรับรู้

  • มีปัญหาด้านการวางแผนและจัดระเบียบความคิด
  • มีปัญหาในการจดจ่อและรู้สึกสับสนได้ง่าย
  • มีปัญหาในการอ่าน สะกดคำ หรือการคำนวณ เนื่องจากจัดเรียงลำดับได้ยาก

อาการ Dyspraxia ด้านสังคมและอารมณ์

  • มีปัญหาในการตีความจากภาษากายหรือน้ำเสียง
  • จัดการอารมณ์ตัวเองได้ยาก เช่น รู้สึกวิตกกังวลหรือขาดความมั่นใจ
  • มีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

อาการ Dyspraxia ด้านประสาทสัมผัส

  • ไวต่อสิ่งเร้าทางประสาทสัมผัส เช่น การสัมผัส กลิ่น รสชาติ อุณหภูมิ หรือความเจ็บปวด
  • ไม่ชอบการถูกสัมผัสตัวหรือเสื้อผ้าที่หลวมหรือคับเกินไป

Dyspraxia อาจเกิดร่วมกับภาวะอื่น เช่น ADHD, Dyslexia หรือ Autism Spectrum Disorder นอกจากนี้ คนที่มี Dyspraxia มักรู้สึกเหนื่อยง่าย เนื่องจากต้องใช้ความพยายามทางร่างกายและจิตใจมากกว่าคนทั่วไปในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค Dyspraxia

สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรค Dyspraxia แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะประเมินจากความสามารถในการเคลื่อนไหว การพูด การจัดการชีวิตประจำวัน และผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรค Dyspraxia ให้หายขาด แพทย์จึงใช้การบำบัดที่เกี่ยวข้องและให้การสนับสนุนเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับผลกระทบน้อยลง โดยการบำบัดจะมุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยในแต่ละช่วงวัย เช่น

การรักษา Dyspraxia
  • การบำบัดด้านการพูด จะช่วยให้ผู้ป่วย Dyspraxia สามารถออกเสียง และสื่อสารได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มทักษะในการเข้าสังคมต่อไป
  • การใช้กิจกรรมบำบัด เสริมทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วย Dyspraxia สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น เช่น การเขียน การแต่งตัว การทำอาหาร เป็นต้น
  • กายภาพบำบัด ช่วยปรับสมดุลและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  • การบำบัดด้านการมองเห็น ช่วยผู้ป่วย Dyspraxia แก้ปัญหาด้านสายตาและการรับรู้ผ่านการมองเห็น
  • การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม หรือ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ช่วยให้ผู้ป่วย Dyspraxia สามารถรับมือกับความท้าทายทางอารมณ์และพฤติกรรมได้ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการคิด

นอกจากนี้ ผู้ป่วย Dyspraxia ยังสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการดำเนินชีวิตประจำวันและลดผลกระทบจากอาการ ดังนี้

Dyspraxia การดูแลตัวเอง
  • การออกกำลังกาย ช่วยให้ผู้ป่วย Dyspraxia พัฒนาการทำงานประสานกันของอวัยวะต่าง ๆ ลดอาการเหนื่อยล้า และช่วยควบคุมน้ำหนัก
  • การใช้เทคโนโลยี เพื่อช่วยให้ผู้ป่วย Dyspraxia จัดการงานต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น การจดบันทึกแทนการเขียนด้วยมือ หรือการใช้แอปพลิเคชันช่วยวางแผนและจัดการเวลา
  • การพูดคุยถึงปัญหาหรือความท้าทายที่พบ พร้อมทั้งเน้นยำวิธีการและผลลัพธ์ที่สามารถเอาชนะความยากลำบากของอาการ Dyspraxia ได้

Dyspraxia อาจดูเหมือนเรื่องเล็ก แต่สำหรับผู้ที่ต้องเผชิญกับโรคนี้ นี่คือความท้าทายในทุกย่างก้าว การเข้าใจอาการตั้งแต่ก้าวแรกจะช่วยให้พวกเขาก้าวต่อไปได้อย่างมั่นใจและมั่นคงยิ่งขึ้น เพราะความซุ่มซ่ามอาจไม่ใช่แค่เรื่องเล่น ๆ แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกาย

SHARE

RELATED POSTS

ติดโซลาร์เซลล์ที่บ้าน คุ้มไหม? ข้อควรรู้ที่ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจ ปัจจุบันการติดแผงโซลาร์เซลล์เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย…