กัญชง

กัญชง ไม่ใช่ กัญชา ความเหมือนที่แตกต่างกันนี้มีอะไรบ้าง ?

หลายคนอาจจะรู้จักและเคยได้ยินชื่อ “กัญชา” กันอยู่บ่อยครั้ง แต่ในช่วงนี้ที่กระแสของ “กัญชง” เริ่มมีคนพูดถึงมากขึ้น และล่าสุดรัฐบาลยังอนุญาตให้ประชาชนปลูกได้ในครัวเรือนอีกด้วย วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปรู้จักกับ กัญชง ที่ไม่ใช่ กัญชา กันว่ามันคืออะไร แล้วมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

กัญชง คืออะไร ?
กัญชง | Hemp | เฮมพ์ (Cannabis sativa L.subsp. sativa)

กัญชง คืออะไร

กัญชง (HEMP) คือ พืชชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูล Cannabis sativa L เหมือนกันกับกัญชา (Marijuana) กัญชงเป็นพืชที่ปลูกและโตง่าย โตได้ไว สภาพอากาศแบบไหนก็โตได้ ไม่ต้องการน้ำมาก ดินก็ไม่จำเป็นต้องดี ไม่ต้องใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเพื่อการเจริญเติบโตทั้งสิ้น เป็นพืชที่ถือว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาก

แต่แม้จะเป็นพืชวงศ์เดียวกันแต่ก็มีความแตกต่างกันทั้งในด้านลักษณะกายภาพและปริมาณสารสำคัญ (เรื่องสารเราจะเปรียบเทียบให้เห็นชัด ๆ ว่าต่างจากกัญชาอย่างไรในหัวข้อถัดไปครับ)

กัญชง ที่ไม่ใช่ กัญชา ต่างกันอย่างไร ?

กัญชง กัญชา ต่างกันอย่างไร

กัญชา มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Marijuana (Cannabis sativa L.subsp. Indica) ลำต้นมีความสูงไม่ถึง 2 เมตร ลักษณะเป็นปล้องหรือข้อสั้น แตกกิ่งก้านมากและแตกกิ่งเป็นแบบสลับ ใบสีเขียดจัด มีประมาณ 5 – 7 แฉก การเรียงตัวชิดติดกัน เมื่อนำใบมาสูบจะมีกลิ่นหอมคล้ายหญ้าแห้ง มีสาร CBD (Cannabidiol) และ THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งสารตัวนี้มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท หรือจะพูดว่าสาร THC ที่มีปริมาณสูงในกัญชา (มากกว่า 1%) เป็นสารที่ทำให้เมาก็ได้ แต่ในทางการแพทย์ก็สามารถใช้เป็นยาในการรักษาได้เช่นกัน ช่วยลดอาการปวดแบบฉับพลันและแบบเรื้อรัง ยับยั้งการเติบโตในเซลล์มะเร็ง

กัญชง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Hemp (Cannabis sativa L.subsp. Sativa) ลักษณะของลำต้นมีความสูงมากกว่า 2 เมตร มีปล้องหรือข้อที่ยาว แตกกิ่งก้านน้อยและแตกกิ่งไปในทิศทางเดียวกัน ใบเป็นสีเขียวอ่อน หรือเขียวอมเหลือง แยกเป็นแฉกประมาณ 7 – 11 แฉก การเรียงตัวห่างกัน เมื่อนำใบมาสูบจะมีกลิ่นหอมน้อย มีสาร CBD (Cannabidiol) มีคุณสมบัติเหมือนยาแก้อักเสบ หรือพวกยาปฏิชีวนะต่าง ๆ ไม่มีสารกระตุ้นระบบประสาท อีกทั้งยังช่วยให้นอนหลับง่าย และมีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) เหมือนกันกับกัญชา แต่มีปริมาณน้อยกว่า หรือเรียกว่าแทบไม่มีเลยก็ได้

สาร THC: (Tetrahydrocannabinol) เกี่ยวข้องกับการผ่อนคลาย (relaxation) ความรู้สึกสบาย, ความเคลิบเคลิ้ม (euphoria) อยากอาหาร ตาหวาน และคอแห้ง

สาร CBD: (Cannabidiol) มีฤทธิ์ทำให้เคลิ้มฝัน มีส่วนช่วยยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด และมีฤทธิ์ระงับอาการปวด

สรุปแล้ว กัญชงต่างจากกัญชาทั้งในด้านลักษณะภายนอก ปริมาณสารสำคัญและประโยชน์ทางการใช้งาน (กัญชาและกัญชงมีสาร CBD เหมือนกัน แต่มีในกัญชงมากกว่า ส่วนสาร THC ในกัญชาจะมีสูงกว่า 1% กัญชงมีสาร THC ไม่เกิน 1%)

ประโยชน์ของกัญชง

ประโยชน์ของกัญชง

ประโยชน์ของกัญชง แยกได้ประมาณ 3 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มประโยชน์จากเส้นใย – เนื่องจากเส้นใยของกัญชงมีคุณภาพสูง จึงเป็นประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผลิตได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องนุ่งห่ม, เยื่อกระดาษ, เชือกต่าง ๆ ซึ่งคุณสมบัติของเส้นใยกัญชง มีความแข็งแรงกว่าฝ้ายถึง 2 เท่า โดยพบว่าการปลูกกัญชง 10 ไร่ จะให้ผลผลิตเส้นใยเท่ากับการปลูกฝ้าย 20-30 ไร่ รวมถึงหากใช้กัญชงผลิตเสื้อ แทนการใช้นุ่นจะสามารถช่วยรักษาน้ำได้มากถึง 1,300 ลิตร ต่อเสื้อ 1 ตัว และกัญชงยังผลิตใยได้มากกว่านุ่น ถึง 200 – 250% อีกด้วย
  2. ประโยชน์จากเมล็ดกัญชง – ในเมล็ดจะไม่มีสาร CBD และ THC ทำให้มีคุณค่าด้านโภชนาการ มีโปรตีนสูง สามารถใช้ทำผลิตภัณฑ์ทดแทนถั่วเหลืองได้ นอกจากนี้น้ำมันในเมล็ดกัญชงยังมี Omega-3 น้ำมันคุณภาพที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
  3. กัญชงที่เน้นให้สาร CBD สูง – สามารถนำประโยชน์จาก CBD มาใช้ได้อีกมาก เช่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มรักษาสิว และเครื่องสำอาง

อ้างอิง: รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์จากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม (อภ.)

กฎหมายเกี่ยวกับกัญชง

กฎหมายกัญชง

พ.ศ. 2522 คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ กำหนดให้กัญชง (Hemp) เป็นพืชเสพติดประเภท 5 ตามพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ

พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชประสงค์ให้มีการศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาปลูกกัญชง เพื่อใช้ในครัวเรือน และจำหน่ายในตลาดส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้จากงานหัตถกรรม

และมูลนิธิโครงการหลวงได้เล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญ จึงได้ศึกษารวบรวมเมล็ดพันธุ์กัญชงในพื้นที่โครงการหลวงนำมาทดลองปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข

พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรี มีมติหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการพัฒนาและส่งเสริมกัญชง ให้ผลิตเป็นรายได้เสริมแก่เกษตรกรรายย่อยหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในร่างแผนปฏิบัติการพัฒนากัญชง บนพื้นที่สูงภาคเหนือ ระยะเวลา 5 ปี พ.ศ. 2553-2557 เพื่อให้เป็นพื้นที่นำร่องในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ

29 มกราคม พ.ศ. 2564 อนุญาตให้ทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป สามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ทุกวัตถุประสงค์ ครอบคลุมตั้งแต่ การค้า การแพทย์ การศึกษา วิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม หรือผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชงไปแปรรูป และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เช่น เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ นำใบกัญชงผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฯลฯ

สำหรับประชาชนทั่วไปปลูกระดับครัวเรือนละไม่เกิน 1 ไร่ และต้องเป็นไปตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)

ผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่ผลิตจาก “กัญชง”

กัญชง แบรนด์ Hemp Thai

ผลิตภัณฑ์กัญชงในด้านของสิ่งทอ จากแบรนด์ Hemp Thai

ผลิตภัณฑ์กัญชง แบรนด์ Hemp Eyewear

ผลิตภัณฑ์กัญชงในด้านแฟชั่น แว่นตารักษ์โลกสัญชาติ Scotland แบรนด์ Hemp Eyewear

น้ำนมกัญชง

ผลิตภัณฑ์กัญชงในด้านอาหาร น้ำนมกัญชง (Hemp Milk) ได้จากเมล็ดกัญชง เป็นทางเลือกให้กับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น แพ้นมวัว แพ้ถั่ว แพ้กลูเตน รวมถึงมีภาวะไม่ย่อยน้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) และยังเหมาะกับผู้ที่กินอาหารแบบวีแกน และมังสวิรัติอีกด้วย

ปัจจุบันกัญชงถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำหรับอุตสาหกรรมเส้นใย หรือสิ่งทอ อาหาร รวมถึงเครื่องสำอางอีกด้วย ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้เห็นผลิตภัณฑ์สุดครีเอทที่มาจากกัญชงตามมาอีกแน่นอนครับ

SHARE

RELATED POSTS