Search
Close this search box.
Foreign Branding คือ

Foreign Branding กลยุทธ์การตลาดปั้นแบรนด์ด้วยภาพจำประเทศอื่น

เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นเคยกับแบรนด์เหล่านี้ ‘Hatari’ ‘Moshi Moshi’ ‘Dentiste’ ‘oteri’ และ ‘FUKU Matcha’ เป็นอย่างดี มิหนำซ้ำยังเคยใช้บริการด้วยอย่างแน่นอน แต่รู้หรือไม่ว่า… แท้ที่จริงแล้ว แบรนด์เหล่านี้คือแบรนด์สัญชาติไทย!!! แม้ว่าชื่อแบรนด์อาจจะดูไม่เหมือนว่าเป็นแบรนด์ไทย ซึ่งขอบอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องของมูเตลู หรือความบังเอิญ แต่เป็นกลยุทธ์การตลาดที่เรียกว่า Foreign Branding แล้วการทำการตลาดเช่นนี้คืออะไร Thomas Thailand พาไปรู้จักพร้อมกันเลย

แบรนด์ไทยใช้กลยุทธ์การตลาด Foreign Branding

แบรนด์ไทยใช้กลยุทธ์การตลาด Foreign Branding

แบรนด์ที่เราคงจะเคยพบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ‘Hatari’ ฮาตาริแบรนด์พัดลมที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี แม้ชื่อจะดูมีความเป็นญี่ปุ่น แต่ความจริงแล้วเป็นแบรนด์คนไทย ก่อตั้งโดย คุณจุน วนวิทย์ ซึ่งปัจจุบันได้ส่งต่อให้ทายาทรุ่นที่ 3 แล้ว ส่วนแบรนด์ ‘Moshi Moshi’ โมชิ โมชิ ก็เป็นแบรนด์ของคนไทยสไตล์ญี่ปุ่นอีกเช่นเดียวกัน เน้นขายสินค้าไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย

หรือจะเป็นแบรนด์ยาสีฟันอย่าง ‘Dentiste’ เดนทิสเต้ ทั้งแพ็กเกจจิงและชื่อทำให้อาจเข้าผิดว่าเป็นแบรนด์ฝรั่งเศส แต่จริง ๆ แล้วเป็นของคนไทย โดย ดร.แสงสุข พิทยานุกุล ที่มีภาพจำเป็นยาสีฟันที่ช่วยลดกลิ่นปากในตอนเช้าได้เป็นอย่างดี และยังมี ‘Dutchmill’ ดัชมิลล์ โลโก้กังหันลมที่เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม

ร้านสะดวกซัก ‘Otteri’ อ๊อตเทริ ที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์เกี่ยวกับซักอบแห้งที่มีอยู่ใกล้บ้านของทุกคนก็เป็นแบรนด์สัญชาติไทยเช่นเดียวกัน รวมถึงแบรนด์ ‘FUKU Matcha’ ฟุกุ มัทชะ ชานมไข่มุกและซอฟต์ไอศกรีมสไตล์ญี่ปุ่นก็เป็นแบรนด์ของคนไทยเราเช่นเดียวกัน

รู้จักกลยุทธ์การตลาด Foreign Branding

Foreign Branding คือหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่ใช้ชื่อแบรนด์หรือองค์ประกอบของแบรนด์ให้ดูมีความเป็นต่างประเทศ ผ่านการนำภาพจำหรือวัฒนธรรมของประเทศนั้นมาอยู่ในชื่อแบรนด์ โลโก้ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงการทำสื่อโฆษณา เพื่อสร้างความรู้สึกพิเศษ ความน่าเชื่อถือ และความเป็นสากล ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเชื่อถือและยอมรับสินค้าและบริการที่มีภาพลักษณ์สื่อถึงความเป็นต่างชาติ โดยเฉพาะเมื่อสินค้าเหล่านั้นมีต้นกำเนิดจากประเทศที่ผู้บริโภคมองว่าเป็นผู้นำหรือมีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมนั้น ๆ

ประโยชน์ของกลยุทธ์ Foreign Branding

ประโยชน์ของกลยุทธ์ Foreign Branding

  1. Foreign Branding ช่วยเพิ่มมูลค่าทางจิตวิทยา โดยผู้บริโภคหลายคนมีความรู้สึกว่าแบรนด์ที่ดูมีความเป็นต่างประเทศมักจะมีคุณภาพสูงกว่า ทำให้การใช้ Foreign Branding สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์และผลิตภัณฑ์ได้อย่างไม่ต้องอธิบายยืดยาว
  2. Foreign Branding ช่วยให้ขยายตลาดได้ง่ายขึ้น โดยแบรนด์ที่ใช้กลยุทธ์การตลาดนี้ มักจะสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่า เพราะผู้บริโภคมักให้ความสนใจและเชื่อถือในแบรนด์ต่างประเทศมากกว่าแบรนด์ท้องถิ่น
  3. Foreign Branding ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ ผ่านการใช้ชื่อหรือภาพลักษณ์ที่ดูเป็นต่างชาติ สามารถเสริมสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูดี น่าสนใจ หรือมีความเชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจนั้น ๆ อย่างเฉพาะด้านมากกว่า

แบรนด์อื่น ๆ ที่ใช้กลยุทธ์ Foreign Branding

แบรนด์อื่น ๆ ที่ใช้กลยุทธ์ Foreign Branding

นอกจากแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าและหมวดของใช้ไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ แล้ว หนึ่งในธุรกิจที่มักจะใช้กลยุทธ์ Foreign Branding ก็คือ แบรนด์เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องชูเอกลักษณ์ท้องถิ่นของอาหารชาตินั้น ๆ ให้โดดเด่น ลองนึกภาพดูสิ หากวันนี้เราทำร้านอาหาร เช่น ชาบูหม่าล่า อาหารประเทศจีน แต่ใช้ชื่อร้านหรือชื่อแบรนด์เป็นภาษาฝรั่งเศส ก็จะรู้สึกข้องใจและดูไม่ค่อยไปในทิศทางเดียวกันเท่าที่ควร การใช้ชื่อที่มีความจีนหรือเอเชียที่สามารถทำให้กลมกลืนกันมากกว่านั่นเอง หรือถ้าหากเป็นร้านเบเกอรี่ ขนมปัง ก็จะต้องเป็นภาษาฝรั่งเศสที่โดดเด่นในเรื่องการทำขนมปังที่กลายเป็นอาหารประจำชาติของเขาไปแล้ว เช่น Saint Etoile (แซง เอตัวล์) ร้านขนมปังสไตล์ญี่ปุ่นที่อยู่ในเครือยามาซากิ หรือ Au Bon Pain (โอ บอง แปง) ชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ถือกำเนิดขึ้นที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

แม้ว่ากลยุทธ์การตลาด Foreign Branding จะเป็นการดึงเอกลักษณ์ของประเทศอื่นมาใช้ในการปั้นแบรนด์ แต่ในปัจจุบันเทรนด์การใช้แบรนด์ไทยก็ได้รับความนิยมไกลถึงต่างแดนมากมายเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น ยาดมหงส์ไทย ยาดมโป๊ยเซียน ยาสีฟันดอกบัวคู่ ชาตรามือ ดอยคำ ไปจนถึงแบรนด์เสื้อผ้าที่ต่างชาติแย่งกันซื้อให้วุ่นอย่าง GENTLEWOMAN อีกด้วย

SHARE

RELATED POSTS