แบรนด์กับจุดยืนทางการเมืองและสังคม

แบรนด์กับจุดยืนทางการเมืองและสังคม

การวางตัวที่ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทัน

สิ่งสำคัญที่สุดของแบรนด์สินค้าคงหนีไม่พ้น ‘ภาพลักษณ์ (Image)’ ภาพที่สะท้อนมุมมองและความรู้สึกของผู้บริโภคต่อตราสินค้า ทั้งยังเป็นภาพที่สะท้อนความเป็นตัวตนของแบรนด์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากการรักษาภาพลักษณ์จะเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของผู้ประกอบการ และไม่แปลกอีกเช่นกันหากพวกเขาจะใช้ภาพที่ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการค้า ซึ่งการเล่นกับประเด็นอ่อนไหวอย่าง ‘แบรนด์กับจุดยืนทางการเมืองและสังคม’ ก็เป็นหนึ่งในวิถีการตลาดที่นิยมใช้กัน

ภาพจาก @Pannika_FWP  , ข่าวสด

ตัวอย่างล่าสุดกับประเด็น ‘POEM’ แบรนด์คอสตูมไทยสำหรับสุภาพสตรี ที่สะท้อนความเป็น Working Women สายแฟชั่นนิสต้า ผ่านคัตติ้งและดีไซน์ไล่สีบนเนื้อผ้า ซึ่งได้ใจแฟนๆ พรรคอนาคตใหม่ไปเต็มๆ เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงแบบบัญชีรายชื่อของพรรคท่านหนึ่ง เลือกสวมชุดจากแบรนด์นี้มาร่วมประชุมสภาในวันที่มีการโหวตคัดเลือกนายกรัฐมนตรี ปรากฏการณ์ฉีกทุกกฎของเครื่องแต่งกายสตรีในวันประชุมวาระแห่งชาติ (ซึ่งเป็นวันไว้ทุกข์ของบุคคลสำคัญด้วย) ที่คนทั่วประเทศจับตามอง ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า POEM หนุนอนาคตใหม่หรือไม่? หรือนี่คือหนึ่งในกลยุทธ์การสร้าง (กระแส) การรับรู้ต่อแบรนด์?

แบรนด์กับจุดยืนทางการเมืองและสังคม

ในสหรัฐอเมริกา การเลือกข้างทางการเมืองระหว่างเดโมแครต (Democrat) กับรีพับลิกัน (Republican) เป็นเรื่องเสรี ที่ทุกคนพร้อมใจกันเปิดเผยจุดยืนของตัวเอง เรื่องนี้ได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างฐานแฟนคลับให้กับแบรนด์สินค้าและดาราดังด้วย เรียกได้ว่า CEO บริษัทใดหรือศิลปินคนไหน ประกาศตัวว่าหนุนนักการเมืองที่ประชาชนชื่นชอบ ตัวแบรนด์และดาราเองก็มักได้รับกระแสตอบรับดีตามไปด้วย อย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 ที่ดาราระดับ A List ของฮอลลีวูด ต่างพร้อมใจกันเทคะแนนให้ทีม ‘ฮิลลารี่ คลินตัน’ เพราะนโยบายฟาก ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ นั้นออกจะสุดโต่งจนหลายคนรับไม่ได้ หรือย้อนกลับไปในปี 2551 เมื่อครั้ง ‘โอปราห์ วินฟรีย์’ พิธีกรชื่อดังกล่าวชื่นชม ‘บารัค โอบามา’ ระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็เรียกคะแนนให้โอบามาได้แบบไม่น้อยหน้าใคร หากสังเกตกันดีๆ คงเดาได้ไม่ยากว่า ประเด็นการเลือกจุดยืนทางการเมืองและสังคมในวาระต่างๆ บางครั้งก็แฝงไปด้วยเงื่อนงำ เพราะมักส่งผลพลอยได้ให้กับทั้งแบรนด์ ดารา และพรรคการเมืองเสมอ

แบรนด์กับจุดยืนทางการเมืองและสังคม ฮิลลารี่ คลินตัน

เรื่องใดบ้างที่แบรนด์มักแสดงจุดยืน

บ่อยครั้งการแสดงจุดยืนของแบรนด์เป็นไปเพื่อส่งสัญญาณบอกผู้บริโภคว่า ‘เราอยู่ข้างคุณ’ ซึ่งเป็นการแสดงออกที่เพียงพอจะดึงดูดใจให้ผู้บริโภคชื่นชอบและมอบอำนาจซื้อให้แบรนดนั้นๆ ได้ แม้ไม่ใช่ในตอนนี้ แต่ก็อาจเป็นไปได้ในอนาคต นอกเหนือจากการเมือง ประเด็นที่แบรนด์แสดงจุดยืนมักหนีไม่พ้นบรรดาวาระทางสังคมที่อ่อนไหว และกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน, สิทธิแรงงาน, ความเท่าเทียม, ความหลากหลายทางเพศ, ปากท้องและเศรษฐกิจ, การศึกษา, สุขภาพ, สิ่งแวดล้อม ตลอดจนเรื่องเชื้อชาติและการอพยพ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นประเด็นที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการแสดงออก เพราะหากเพลี่ยงพล้ำออกความเห็นที่ขัดกับกระแสความคิดหลัก เป็นได้ว่าอาจเสี่ยงถูกผู้บริโภคบอยคอตต์ชนิดกลับลำไม่ทัน อย่างไรก็ตามความมหัศจรรย์ของกลยุทธิ์ทางการตลาดก็ฉลาดพอ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการแขนงต่างๆ รู้เท่าทันว่า การเลือกไหลไปตามกระแสแบบใด สามารถช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ได้


กรณี POEM กับพรรคอนาคตใหม่ไม่ว่าจะมีเงื่อนงำแอบแฝง หรือเป็นเพียงความชื่นชอบส่วนบุคคลของสมาชิกสภาผู้แทนหญิงคนดังกล่าว อย่างน้อยที่สุดก็ได้จุดกระแสให้สังคมตระหนักว่า เราในฐานะผู้บริโภค ควรจับตาความเคลื่อนไหวและการวางตัวของแบรนด์ใดๆ ก็ตามอย่างมีสติ

SHARE

RELATED POSTS