ล้ำสุดหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์จาก ARV
ช่วยทำงานเสี่ยงชีวิตแทนมนุษย์ได้
เห็นได้ว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกกันว่า AI (Artificial Intelligence) ได้ถูกพัฒนาออกมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา อำนวยความสะดวกในชีวิต เพราะเจ้า AI มีความสามารถวิเคราะห์ข้อมูล หรือทำงานที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นแรงขับเคลื่อนในระดับของธุรกิจต่างๆ ได้อีกด้วย อย่างการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้สำรวจในภาคอุตสาหกรรม ที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการทำงานในหลายๆ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุต่อมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
จุดเริ่มต้นของปัญญาประดิษฐ์
ความจริงแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ ได้กำเนิดขึ้นมานาน ตั้งแต่เมื่อปี 1943 เริ่มจากการสร้างแบบจำลองของเซลล์ประสาทเดี่ยว (neurons)
ปี 1955 ปัญญาประดิษฐ์ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเต็มตัวที่ Princeton University มีการทำวิจัยเรื่อง ทฤษฎีอัตโนมัติ (Automata Theory) โครงข่ายใยประสาทและศึกษาเรื่อง ความฉลาด
ปี 1997 คอมพิวเตอร์เล่นหมากรุกอย่าง Deep Blue ถูกพัฒนาขึ้นโดย Carnegie Mellon University และบริษัท IBM เจ้าสมองกลนี้มีการทำงานที่รวดเร็ว คำนวณได้ทุกรูปแบบ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้โดยไม่ต้องรอการตัดสินใจจากมนุษย์
ในปี 2011 บริษัท แอปเปิล ได้นำ SIRI โปรแกรมสนทนา เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ IPhone s ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด
และในปี 2017 ปัญญาประดิษฐ์ของ Google อย่าง AlphaGo สร้างความฮือฮาด้วยการปราบเซียนโกะ ระดับโลกมาแล้ว ซึ่ง AlphaGo สามารถเรียนรู้ได้จากการผิดพลาดของตัวเอง แล้วนำมาปรับปรุงในเกมถัดไป ไม่ต้องรอให้มนุษย์สอน
หากลองสังเกตดู เทคโนโลยี AI ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนจับตามอง ทำให้เกิดบริษัทที่เชี่ยวชาญในธุรกิจหุ่นยนต์ มีจำนวนมากขึ้น รวมไปถึง ‘AI and Robotics Ventures’ หรือ ARV บริษัทลูกของ ปตท.สผ. ถึงแม้จะเริ่มต้นได้เพียง 1 ปีกว่า แต่ก็สร้างผลงานที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้จริงอย่างน่าประทับใจ
จากการตั้งชมรมหุ่นยนต์ ก่อกำเนิดเป็นบริษัท
ที่พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไปของ ARV เดิมทีแล้วเขาทำงานในด้านวิศวกรโครงการ มีหน้าที่คอยดูแลงานออกแบบและก่อสร้างในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่ด้วยความชอบหุ่นยนต์และสนุกกับการใช้ AI บวกกับกระแสแห่งอนาคตที่กำลังมา ผลักดันให้เขาอยากเข้าร่วมในอุตสาหกรรมนี้ โดยใช้โอกาสที่บริษัทมีนโยบายให้พนักงานมีกิจกรรมนอกเวลา เขาจึงเริ่มต้นตั้งชมรมหุ่นยนต์ขึ้นมา นอกจากจะมีกิจกรรมตั้งแต่การเขียนโปรมแกรม บินโดรน แล้วยังมีการทำวิจัยและทดลอง โจทย์มาจากปัญหาที่เกิดขึ้นของงานประจำ ลองออกแบบหุ่นยนต์เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น
เมื่อเห็นถึงปัญหาที่ต้องใช้แรงงานของมนุษย์ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ในหลายสถานการณ์ เช่น การสำรวจปล่องเผาก๊าซ (Flare Stack) และเจ้าตัวหุ่นยนต์จะช่วยลดความเสี่ยงตรงนี้ได้ด้วยการทำหน้าที่แทนมนุษย์ แต่ข้อจำกัดของหุ่นยนต์ประเภทนี้ ROV (Remote-Operated Vehicle) คือต้องควบคุมจากระยะไกล มีสายเชื่อมต่อเพื่อให้เกิดการสื่อสารกับหุ่นยนต์ได้ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง
แนวคิดของเขา คือ การทำหุ่นยนต์เพื่อแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง และด้วยความที่เขาอยู่ในบริษัทยักษ์ใหญ่นี่เอง จึงทำให้มีโอกาสได้เห็นสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น และนำปัญหาเหล่านั้นมาเป็นที่ตั้ง และเริ่มทำหุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อแก้ไขและตอบโจทย์ได้อย่างมากที่สุด โดยการนำเอาไอเดียเล็กๆ มาทดลองทำ เวิร์คบ้างไม่เวิร์คบ้าง ทดลองมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง โดรนสำรวจปากปล่องเผาก๊าซ (Flare Stack) บนแท่นผลิตปิโตรเลียม เสร็จออกมาเป็นผลงานใหญ่ชิ้นแรกของชมรม จากนั้นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘AI and Robotics Ventures’ หรือ ARV นั่นเอง
ตอนนี้ ARV มีหุ่นยนต์ให้บริการทั้งหมด 3 ตัว คือ
โดรนสำหรับงานตรวจสอบ ตรวจการชำรุด สามารถตรวจจับความร้อนได้ หากเข้าใกล้เกินไปจะถอยออกมาเองอัตโนมัติ เป็นโดรนที่ใช้งานจริงในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. และโดรนนี้ยังเคยถูกนำเข้าไปช่วยทีมหมูป่า ที่ติดถ้ำหลวงอีกด้วย
โดรนแปรอักษร ใช้แทนการจุดพลุ โดยการใช้โดรนบินขึ้นพร้อมกันหลายตัว แล้วแปรอักษรเป็นรูปต่างๆ เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ARV กับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ โดรนแปรอักษร แสดงครั้งแรกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562
และผลงานสุดภาคภูมิใจของทีมงาน อย่าง หุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย สามารถบังคับจากระยะทางไกลได้โดยไม่ต้องใช้สายเชื่อมต่อ ร่วมกันสร้างสรรค์หลายภาคส่วน รวมไปถึง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
ปฏิเสธไม่ได้เลยล่ะว่า… เทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์ AI นี้ กำลังเป็นเทรนด์โลกที่ทุกคนต่างจับจ้อง การเปลี่ยนแปลงที่ได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ ระบบการทำงานอัตโนมัติของหุ่นยนต์ (Robotic Process Automatic) ที่จะเข้ามาช่วยควบคุมธุรกิจผ่านคอมพิวเตอร์ ถึงแม้ว่า เจ้าตัวปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ จะมีข้อดีในการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำงานในภาคอุตสาหกรรมแล้ว แต่ก็ยังมีบางส่วนที่เห็นถึงผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของมนุษย์ ที่หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทและสร้างความเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาดูวงการนี้กันต่อไปว่าจะสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับโลกได้อย่างไร