Search
Close this search box.
หมีขั้วโลก ภาวะโลกร้อน

หมีขั้วโลก: นักล่าในเมืองใหญ่
ผู้ลี้ภัยจากภาวะโลกร้อน

ภาพชวนหดหู่กับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ปรากฏหรากลางสื่อโซเชียลทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อมีคนพบหมีขั้วโลกเพศเมีย วัย 2 ปี ในสภาพผอมโซและหิวโหย เดินโต๋เต๋อยู่ใจกลางเมืองโนริลสค์ (Norilsk) ทางตอนเหนือของแถบไซบีเรีย เขตปกครองแห่งหนึ่งของประเทศรัสเซีย จุดที่มีคนพบอยู่ห่างไกลจากแนวชายฝั่งคาบสมุทรไทมีร์ (Taimyr Peninsula) ถิ่นที่อาศัยตามธรรมชาติของมันมากถึง 500 กิโลเมตร ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่คอยสังเกตการณ์อยู่เผยว่า มีบางช่วงที่มันพยายามเดินไปรอบๆ โรงงานอุตสาหกรรม พร้อมทำท่าสูดดมคล้ายกำลังตามหากลิ่นอาหาร และหยุดพักนอนราบกับพื้นหลายชั่วโมงสลับกันไป เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้วในรอบปี ครั้งแรกเกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยหมีขั้วโลกหลายสิบตัวบุกเข้าไปหาอาหารตามอาคารบ้านเรือนในเมืองเดียวกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะกังวลว่านักล่าที่กำลังหิว จะทำอันตรายต่อชาวบ้าน

กว่า 40 ปีแล้ว ที่พวกมันไม่มาปรากฏตัวกลางเมืองซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคน กระทั่งปีนี้…เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น สะท้อนว่า สิ่งแวดล้อม และ หมีขั้วโลก กำลังเผชิญอะไรอยู่?

หมีขั้วโลก ภาวะโลกร้อน

‘ธารน้ำแข็ง’ สู่ ‘เมืองใหญ่’
ความท้าทายครั้งใหม่ของหมีขั้วโลก

วงจรชีวิตของหมีขั้วโลกต้องหาอาหารให้ได้อย่างน้อย 2 ใน 3 ของปริมาณที่ร่างกายต้องการตลอดทั้งปี พวกมันจึงจะสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บของฤดูหนาวในขั้วโลกเหนือ (ธันวาคม-มีนาคม) และอากาศร้อนจัดของฤดูร้อน (กรกฎาคม-กันยายน) ที่แทบไม่มีแหล่งอาหารใดๆ เลย โดยพวกมันมีระยะเวลาเพียง 3 เดือนต่อปี หรือช่วงฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น ในการหาอาหารให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซ้ำร้ายจากการศึกษายังพบอีกว่า ทุกๆ การล่าเหยื่อ 5 ครั้ง จะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ที่หมีขั้วโลกประสบความสำเร็จในการล่า แม้มันจะได้ฉายา นักล่าแห่งพรมน้ำแข็ง และสามารถได้กลิ่นอาหารโปรดอย่างแมวน้ำ ตั้งแต่เหยื่อซ่อนตัวอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งในระยะไกลถึง 2 กิโลเมตรก็ตาม

น่าเศร้า…ที่ความยากลำบากทั้งหมดเทียบไม่ได้เลย กับความท้าทายที่หมีขั้วโลกต้องเอาชีวิตรอด ท่ามกลางวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังทำให้ถิ่นที่อยู่และแหล่งอาหารของพวกมันหายไป

บ้านของหมีขั้วโลกถูกทำ (ละ) ลาย

เมื่อบ้านของหมีขั้วโลกถูกทำ (ละ) ลาย

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ร่วมกับองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) เผยรายงานว่านับตั้งแต่ปี 1800 (พ.ศ.2343) จนถึงสิ้น 2561 ที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่เหนือเส้นละติจูดขึ้นไป หรือบริเวณขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นจุดที่มีอุณภูมิสูงขึ้นอย่างเร็วอยู่แล้ว เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาศ (Climate Change) รุนแรงกว่าที่เคย โดยบริเวณดังกล่าวอุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้น 2.5 องศาเซลเซียส ทุกๆ 10 ปีเลยทีเดียว

หมีขั้วโลก ภาวะโลกร้อน

เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจึงส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือที่เคยหนาไม่ต่างจากแพที่รองรับน้ำหนักหมีขาวได้เป็นฝูง ก็บางลงถนัดตา กลายเป็นแพที่แตกออกเป็นแผ่นเล็กๆ ซึ่งไม่สามารถลอยอยู่ในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นเรื่อยๆ ได้นาน และไม่แข็งแรงพอที่จะเก็บเสียงฝีเท้าของหมีขั้วโลกในวัยโตเต็มที่ ซึ่งมีน้ำหนักราว 600-1000 กิโลกรัมอยู่ ทำให้ทุกย่างก้าวที่เคยย่องได้เงียบเชียบ และเข้าตะครุบเหยื่อได้ทันควัน กลายเป็นฝีเท้าที่หนักเกินกว่าแผ่นน้ำแข็งจะรับแรงกระแทกไหว เพราะเพียงแค่ก้าว เหยื่อก็ไหวตัวทัน ยิ่งแมวน้ำที่เชี่ยวชาญพื้นที่ในมหาสมุทรกว่าหมีเป็นไหนๆ ยิ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมสถิตินักล่าแห่งพรมน้ำแข็งจึงผอมโซ และลดจำนวนลงแทบทุกครั้ง ที่มีการจับพวกมันขึ้นมาสำรวจ

ผลร้ายที่กระทบทั้งห่วงโซ่อาหาร

หมีขั้วโลก ภาวะโลกร้อนส่งผลต่อห่วงโซ่อาหาร

ธารน้ำแข็งที่ละลายจากภาวะโลกร้อน ไม่เพียงแต่ทำให้การล่าของหมีขั้วโลกลำบากมากขึ้น แต่ยังทำให้ระบบนิเวศภายในมหาสมุทร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อาหารของหมีขั้วโลกถูกทำลายด้วย โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร PLoS ONE เมื่อปี 2018 อธิบายให้เห็นภาพว่า ธารน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือเป็นที่เจริญเติบโตของสาหร่ายหลายชนิด ที่ล้วนเป็นอาหารชั้นดีของแพลงก์ตอน จากนั้นแพลงก์ตอนเหล่านี้จะตกเป็นอาหารของกุ้งและปลานานาพันธุ์ ซึ่งเป็นเมนูเลิศรสที่แมวน้ำและวาฬเบลูกาชอบ และแน่นอนว่าท้ายที่สุด แมวน้ำและวาฬก็ตกเป็นเหยื่อของหมีนักล่าเป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้หลักฐานที่ชี้ชัดถึงความเชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดก็คือ การพบร่องรอยของสาหร่ายบนธารน้ำแข็งในกระเพาะอาหารของหมีขั้วโลก ธารน้ำแข็งจึงเปรียบเป็นต้นกำเนิดของแหล่งพลังงานชั้นล่างสุด ในวงจรการดำรงชีวิตของหมีขั้วโลกนั่นเอง

บ้านของหมีขั้วโลกถูกทำลาย

เมื่อบ้านของหมีขั้วโลกกำลังถูกทำลาย เมืองใหญ่จึงอาจกลายมาเป็นบ้านหลังที่สอง เพราะเป็นที่ที่มันสามารถเสาะหาอาหารประทังชีวิตได้ แม้ต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสนไกลก็ตาม โชคดีที่ปีนี้พวกมันถูกจัดให้อยู่ในลิสต์สัตว์ถูกคุกคาม และได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติว่าด้วยสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ปี พ.ศ.2551 ของสหรัฐอเมริกา (US Endangered Species Act) รวมถึงถูกขึ้นบัญชี 2 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES: อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์) แล้ว จึงมีระเบียบระบุให้ควบคุมการลดจำนวนของหมีขั้วโลกลงลง เมื่อโซซัดโซเซเข้ามาในเมือง พวกมันจึงไม่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงทิ้งเหมือนเมื่อ 40 ปีก่อน

ปัจจุบันหมีขั้วโลกตัวที่พบล่าสุด ถูกเจ้าหน้านำตัวไปพักพิงที่สวนสัตว์ในเขตไซบีเรียแล้ว และอยู่ระหว่างได้รับการฟื้นฟูร่างกาย พร้อมวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง ที่ผลักดันให้มันระเหเร่ร่อนเข้ามาในเมือง แม้หนึ่งในสมมติฐานจะระบุว่า ดวงตาที่พร่ามัวอาจทำให้มันหลงทาง แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ก็เลี่ยงไม่ได้เลย ที่จะกระตุ้นให้คนหยิบประเด็นเรื่องผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมาถกเถียงกันอย่างจริงจังอีกครั้ง

SHARE

RELATED POSTS

ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ถึงเบือนหน้าหนีกับการทำประกัน รู้หรือไม่? ประเทศไทยมีจำนวนการทำประกันหรือซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตน้อยกว่าประเทศอื่นอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่เฉลี่ยแล้วคนญี่ปุ่น 1…