สงครามโลกครั้งที่ 3 อิหร่าน สหรัฐ

สงครามโลกครั้งที่ 3 : ใครทำใครก่อน (สหรัฐฯ – อิหร่าน)

หลังจากเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ “โดนัลด์ ทรัมป์” ออกคำสั่งปลิดชีพ “กาเซม สุไลมานี”  นายพลคนสำคัญของอิหร่าน โดยใช้โดรนถล่มสนามบินนานาชาติในกรุงแบกแดกของอิรัก ทำให้อิหร่านยกเลิกข้อตกลงที่จะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งหลายคนหวั่นว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะตอนนี้อิหร่านได้นำธงแดงขึ้นเหนือยอดโดมศักดิ์สิทธิ์ของมัสยิดจามคาราน (Jamkarān) อันเป็นสัญลักษณ์ของการแก้แค้นด้วยเลือด ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อิหร่านมีการนำธงแดงขึ้นเหนือยอดมัสยิด

หลายคนคงแว่ว ๆ มาว่าสหรัฐฯกับอิหร่านนั้นห้ำหั่นกันมานาน นับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ที่ความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้น มีการตู้มต้ามใส่กันบ้าง แต่ประเด็นที่คนสงสัยคือ “ใครผิดใครถูกกันแน่” เพราะตอนนี้มีทั้งคนที่มองว่าทรัมป์เป็นผู้จุดชนวนสงคราม ตัวการทำให้โลกวุ่นวาย ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าอิหร่านก็ไม่แพ้กัน เพราะทั้งระเบิดเรือน้ำมันซาอุฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ แถมยังยิงโดรนสอดแนมของสหรัฐฯ อีกด้วย ที่นี้มาดูกันให้ชัดว่าใครกันที่เริ่ม

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้น : ใครทำใครก่อน

อิหร่าน – สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรคู่ใจ อะไรก็ยอม

(1) ในช่วงทศวรรษ 1950 จนถึงปลาย 1970 สหรัฐฯ จับมือกับอิหร่านหลายด้าน รวมถึงจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนานิวเคลียร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับ พระเจ้าชาห์ มุฮัมมัด เรซอ กษัตริย์ของอิหร่าน”  ในช่วงยุคสงครามเย็น

(2) ช่วงนั้นอิหร่านถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อสหรัฐฯ มาก เพราะเป็นประเทศที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมระหว่างเอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก คอยสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์จากสหภาพโซเวียต

ชนวนสงครามเริ่มเกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลอิหร่านขอสิทธิ์ในการผลิตน้ำมันคืน

(3) ความขัดแย้งเริ่มขึ้นเมื่อ นายกรัฐมนตรี “มุฮัมมัด มุศ็อดดิก” ประกาศยึดสิทธิการผลิตน้ำมันกลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งในช่วง 1951 ได้ตกเป็นสมบัติชาติ โดยอยู่ในการควบคุมของประเทศอังกฤษ เหตุผลที่ยึดคืนก็เพราะว่าชาวอิหร่านส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันของประเทศตัวเองเลย

(4) การยึดสิทธิการผลิตน้ำมันส่งผลให้สหรัฐฯ เสียผลประโยชน์มหาศาล และเชื่อว่านายกรัฐมนตรี มุฮัมมัด มุศ็อดดิก กำลังเอนเอียงไปทางฝั่งคอมมิวนิสต์ ทำให้สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ ร่วมมือกับอังกฤษสนับสนุนพระเจ้าชาห์ มุฮัมมัด เรซอ ให้ทำการรัฐประหารโค่นล้มนายก มุฮัมมัด มุศ็อดดิก (1953) และยึดอำนาจในการปกครองประเทศมาเป็นของตน

(5) ภายใต้ระบอบการปกครองของพระเจ้าชาห์ ทำให้อิหร่านกลายเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐฯ จังหวะนี้อิหร่านก็ได้ซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ทันสมัยจากสหรัฐฯ และร่วมกันก่อตั้งโครงการพัฒนานิวเคลียร์ สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอำนวยความสะดวกสำหรับการพัฒนาวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ แต่มีข้อแม้ว่าห้ามผลิตอาวุธนิวเคลียร์

สหรัฐฯ รับรู้ว่าพระเจ้าชาห์ลักลอบผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ยังหนุนหลัง

(6) ช่วงปลายทศวรรษ 1970 หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เริ่มรับรู้ว่าพระเจ้าชาห์ได้ลักลอบผลิตอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากพบว่านักวิทยาศาสตร์อิหร่านทดลองเสริมสมรรถนะยูเรเนียมด้วยการอาบแสงเลเซอร์ และสกัดพลูโตเนียมจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้วด้วยสารเคมี ซึ่งเป็นสารที่นำไปผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ เหตุผลที่ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ก็เพื่อช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจในตะวันออกกลาง แข่งกับประธานาธิบดีในอิรักที่มีอาวุธนิวเคลียร์ครอบครองอยู่เหมือนกัน

(7) อย่างไรแล้ว สหรัฐฯ ก็ยังหนุนหลังให้กับพระเจ้าชาห์อยู่ ทำให้พระเจ้าชาห์ประกาศตนเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ และกดขี่ข่มเหงประชาชน โดยการใช้ตำรวจลับกำจัดคนที่เป็นศัตรูต่อความคิดของตน หนึ่งในนั้นคือ ผู้นำทางศาสนา “อายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ มูซาวี โคมัยนี” ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ แต่ยังใช้แถบบันทึกเสียงเป็นเครื่องมือในการส่งสารไปยังชาวอิหร่านให้ลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและโค่นล้มพระเจ้าชาห์ที่เป็นหุ่นเชิดให้สหรัฐฯ

สงครามเริ่มก่อตัวภายในประเทศ: อิหร่านต่อต้านพระเจ้าชาห์กับสหรัฐฯ จนถูกคว่ำบาตร!

(8) กระแสต่อต้านระบอบการปกครองของพระเจ้าชาห์ค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้น เพราะอิหร่านมองว่าสหรัฐฯ จะเข้ามาแทนที่อังกฤษที่กำลังเสื่อมอำนาจลง ด้วยการฉกฉวยทรัพยากรของอิหร่าน และเข้ามาแทรกแซงการเมือง เศรษฐกิจ ทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือด จนพระเจ้าชาห์ต้องลี้ภัยไปสหรัฐฯ

(9) กุมภาพันธ์ 1979 ผู้นำทางศาสนา “อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี” ได้กลับมาที่อิหร่าน และเปลี่ยนแปลงระบอบกษัตริย์ให้เป็นระบอบสาธารณรัฐอิสลาม

(10) พฤศจิกายน 1979 นักศึกษาอิหร่านไม่พอใจที่สหรัฐฯ ให้พระเจ้าชาห์ลี้ภัย จึงไปบุกยึดสถานทูตสหรัฐฯ ที่กรุงเตหะราน และจับตัวประกันไว้ 52 คน นานถึง 444 วัน เหตุการณ์นี้ทำให้สหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านทันที! และโครงการพัฒนานิวเคลียร์ก็หยุดชะงักตามไปด้วย

(11) ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ของอิหร่านที่ส่วนใหญ่มาจากตะวันตกก็หนีกลับประเทศ ทำให้อิหร่านมีผู้เชี่ยวชาญลดลง และรัฐบาลชุดใหม่ก็ไม่สนใจสานต่อโครงการพัฒนานิวเคลียร์ เนื่องจากอายะตุลลอฮ์ โคมัยนี มองว่าเป็นนวัตกรรมของตะวันตก แต่หลังจากอายะตุลลอฮ์ โคมัยนี ถึงแก่อสัญกรรม รัฐบาลชุดใหม่ก็ได้ดำเนินการต่อ

อิหร่านหาพันธมิตรร่วมเพื่อพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ต่อ สหรัฐฯ เคลือบแคลงใจว่าอิหร่านแอบทำอาวุธนิวเคลียร์อีกแล้ว

(12) แต่ก็ยังต้องหาผู้สนับสนุน ซึ่งไม่ง่าย เพราะสหรัฐฯ กดดันไม่ให้พันธมิตรร่วมมือกับอิหร่าน จนสุดท้ายได้จีนมาช่วยเหลือ แต่ก็ต้องยุติลง เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ จะส่งออกพลังงานนิวเคลียร์ให้กับจีน โชคดีที่ได้ความช่วยเหลือจากรัสเซีย และได้จัดทำข้อเสนอลับที่รัสเซียจะถ่ายทอดความรู้ด้านวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์สำหรับใช้งานในพลเรือนให้อิหร่านอย่างเต็มรูปแบบ

(13) แล้วอิหร่านก็โดนอีก เพราะหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เริ่มตรวจพบความพยายามในการจัดหาวัสดุนิวเคลียร์ผ่านเครือข่ายลับ เพื่อนำไปผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่มองว่ากล่าวเกินจริง เพราะสหรัฐฯ เองก็มีปัญหากับอิหร่านอยู่

(14) ทางรัฐบาลอิหร่านเลยอนุญาตให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เข้าไปตรวจสอบ แต่ก็ไม่พบหลักฐานที่ชี้ว่าอิหร่านกำลังดำเนินโครงการนิวเคลียร์โดยมีวัตถุประสงค์ทางการทหาร หลังจากนั้นอิหร่านก็ได้ย้ายศูนย์วิจัยนิวเคลียร์เตหะรานไปยังที่ตั้งลับนอกเมือง เพื่อลดความเสี่ยงที่คณะผู้ตรวจสอบของ IAEA จะตรวจพบกิจกรรมที่ผิดปกติ

อิหร่านถูกเปิดโปงว่าแอบตั้งโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียม และต้องระงับโครงการ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับสหรัฐฯ ว่า “ฉันเปล่าผลิตอาวุธนิวเคลียร์จริง ๆ นะ”

(15) เมื่ออิหร่านเลือกที่จะไม่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวเองมีโรงงานส่งเสริมสมรรถนะยูเรเนียม แม้จะบอกว่าเป็นยูเรเนียมสมรรถนะต่ำที่นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ไม่ใช่ยูเรเนียมสูงที่ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ก็ตาม จึงทำให้สหรัฐฯ คลางแคลงใจมากขึ้นไปอีก ทั้งที่จริง ๆ แล้วอิหร่านไม่ต้องแจ้งให้ IAEA ทราบถึงการมีอยู่ของโรงงานก็ได้ เว้นเสียแต่มีแผนต้องนำวัสดุนิวเคลียร์ (ยูเรเนียม พลูโตเนียม ทอเรียม) เข้าไปใช้ในโรงงานล่วงหน้า 180 วัน

(16) แม้ว่าอิหร่านจะยังแค่สร้างโรงงานและไม่ได้นำวัสดุนิวเคลียร์เข้าไปใช้ แต่การถูกเปิดเผยข้อมูลการสร้างโรงงานดังกล่าวก็ทำให้อิหร่านถูกประชาคมระหว่างประเทศกดดันมากขึ้น เนื่องจากกังวลว่าจะมีการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งภายหลังก็พบว่ามีร่องรอยของยูเรเนียมสมรรถนะสูงที่สามารถนำไปทำระเบิดนิวเคลียร์ได้ แต่ตรวจสอบแล้วก็คือยูเรเนียมที่ปะปนมากับเครื่องหมุนเหวี่ยงที่นำเข้าจากปากีสถานตามที่อิหร่านบอกไว้ ทำให้ไม่มีหลักฐานว่าอิหร่านลักลอบผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่โครงการก็ยังถูกระงับชั่วคราว เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับมหาอำนาจตะวันตก

เปลี่ยนประธานาธิบดี สงครามก็ยิ่งทวีความรุนแรง อิหร่านทนสหรัฐฯ ไม่ไหวแล้วนะ จะคว่ำบาตรก็ทำไปเลย ฉันเตรียมพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รอแจก

(17) เมื่อถึงสมัยที่อะห์มัดดีเนญอดเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ได้ตัดสินใจเดินหน้าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ต่อและเริ่มแข็งข้อขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีท่าทีว่าจะประนีประนอมเหมือนรัฐบาลชุดก่อน เพื่อยืนยันจุดยืนของประเทศว่าต้องมีอิสระในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ และพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องอาศัยมหาอำนาจอีกต่อไป จึงทำให้อิหร่านถูกคว่ำบาตรอีกครั้ง แต่ครั้งนี้โดนคว่ำบาตรจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เสียด้วยสิ ใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มเลยหละ

(18) ในช่วงที่ประธานาธิบดีอะห์มัดดีเนญอดรื้อฟื้นโครงการ สหรัฐฯ ก็ได้ส่งคนมาปิดล้อมที่อิรักและอัฟกานิสถานซึ่งเป็นพรมแดนที่ติดกับอิหร่าน ทั้งสองประเทศนี้ก็เป็นประเทศที่สหรัฐฯ โจมตีมาเหมือนกัน ด้วยเหตุผลที่อัฟกานิสถานก่อวินาศกรรม 9/11 และอิรักก็รื้อฟื้นโครงการพัฒนาอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง ซึ่งจริง ๆ ตรวจพบแล้วว่าไม่มี

(19) การถูกปิดล้อมด้วยกำลังของสหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรกว่า 200,000 คน จึงทำให้อิหร่านถือว่าสหรัฐฯ นี่แหละเป็นศัตรูตัวฉกาจที่น่าหมั่นไส้ รวมถึงอิสราเอล และประเทศรอบบ้านอย่างซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต กาตาร์ โอมาน และบาห์เรน ก็ไปเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ด้วย สถานการณ์ดังกล่าวจึงอาจเป็นแรงผลักให้อิหร่านจำเป็นต้องเร่งรื้อฟื้นการพัฒนานิวเคลียร์ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นป้องปรามสหรัฐฯ และพันธมิตรในอนาคต มิใช่เพียงเพื่อประโยชน์เชิงสันติในด้านพลเรือนอย่างที่อ้างมาโดยตลอด

ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 สหรัฐฯ ได้ปิดล้อมอิหร่านที่อิรักและอัฟกานิสถาน

2015 บารัก โอบาม่า เจรจาขอให้พักโครงการนิวเคลียร์ แล้วจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรให้

(20) ปี 2015 เมื่อบารัก โอบาม่าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้มีการเรียกอิหร่านมาเจรจากันว่าจะไม่พัฒนานิวเคลียร์เป็นเวลา 15 ปี และด้วยผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตร เศรษฐกิจไม่ค่อยดี เริ่มไม่มีอันจะกิน อิหร่านจึงค่อย ๆ อ่อนข้อลงเพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี สงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดแน่ ?

(21) แต่เมื่อทรัมป์ชนะเลือกตั้ง กลับกลายเป็นว่าทรัมป์ฉีกข้อตกลงฉบับนี้ทิ้ง และคว่ำบาตรอิหร่านต่อ เพราะได้ยินมาว่าอิหร่านแอบไปพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โหดสุดคือยังสั่งห้ามประเทศอื่น ๆ ไม่ให้ไปคบค้าสมาคมกับอิหร่านด้วย ถ้าใครคบค้ากับอิหร่านจะจับคว่ำบาตรให้หมด เอาให้ไม่ต้องมีต้องใช้กันไปเลย

(22) อิหร่านไม่ยอมเลยงัดไม้แข็งขึ้นมาสู้ โดยบอกว่าถ้าคว่ำบาตรอีกจะปิดช่องแคบฮอร์มุชทันที ซึ่งช่องแคบนี้เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันดิบที่สำคัญของโลก ถ้าปิดแล้วประเทศรอบบ้านที่เป็นพันธมิตรสหรัฐฯ ได้เดือดร้อนกันทั้งบางแน่ แล้วทั่วโลกก็จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงปี๊ดตามมาด้วย

(23) หลังจากนั้นสหรัฐฯ กับอิหร่านก็ตู้มต้ามใส่กันรุนแรงขึ้น อิหร่านไประเบิดเรือบรรทุกน้ำมันของซาอุฯ และยิงโดรนสอดแนมของสหรัฐฯ จนทรัมป์ขึ้นทะเบียนว่ากองทัพอิหร่านเป็นองค์การก่อการร้าย ถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ยื่นข้อครหานี้ให้แก่กองทัพของรัฐบาลต่างชาติ แถมยังโจมตีกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนอิหร่านอีกด้วย และอิหร่านเองก็เอาคืนด้วยการขึ้นบัญชีดำว่ากองทัพสหรัฐฯ เป็นกลุ่มก่อการร้ายเหมือนกัน (จริง ๆ โป้งป้างใส่กันหลายยก 11 ต.ค. 62 อิหร่านเองก็โดนระเบิดเรือบรรทุกน้ำมันด้วยขีปนาวุธ ขณะขนน้ำมันไปให้รัฐบาลซีเรียด้วยเหมือนกัน)

สวัสดีปีใหม่สงครามโลกครั้งที่ 3 กับ #WWIII ในทวิตเตอร์

(24) 31 ธ.ค. 62 ชาวอิรักข้างอิหร่านไปโจมตีสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดด เหตุเพราะโกรธแค้นที่สหรัฐฯ ไปโจมตีทางอากาศ “คาเต็บ ฮิซบุลเลาะฮ์” กลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านหนุนหลังอยู่ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 25 คน ทำให้ชาวอิรักที่อยู่ข้างอิหร่านลุกขึ้นมาประท้วงพังประตู ทุบกระจก จุดไฟเผารั้วและธงชาติอเมริกัน แล้วเขียนบนผนังว่า “Soliemani is our leader” รวมถึงให้สภาขับไล่ทหารสหรัฐฯ ออกไป ไม่อย่างนั้นพวกเราจะทำเอง

(25) ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าทรัมป์หัวร้อนหน้าแดงขนาดไหน จนล่าสุดวันที่ 3 ม.ค. 63 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ส่งโดรนไปลอบสังหารนายพล “กาเซม สุไลมานี” ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดและเป็นขวัญใจของชาวอิหร่าน ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีสหรัฐฯ และหลาย ๆ ประเทศก็มองว่านายพลคนนี้เป็นตัวเชื่อมระหว่างอิหร่านกับกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลาง

(26) หลังจากนายพล “กาเซม สุไลมานี” เสียชีวิต ชาวอิหร่านนับแสนคนได้ออกมาไว้อาลัยและประท้วงสหรัฐฯ โดยเฉพาะผู้นำสูงสุดของอิหร่านที่ประกาศว่าจะแก้แค้น ถึงขั้นยกธงแดงเหมือนประกาศสงคราม ซึ่งตอนนี้ตั้งราคาค่าหัวทรัมป์แล้ว 2,400 ล้านบาท จับเป็นก็ได้ จับตายก็ดี และข้อตกลงที่จะไม่พัฒนานิวเคลียร์ต่อก็ขอฉีกทิ้งเหมือนกัน

(27) ล่าสุด 8 ม.ค. 63 อิหร่านได้ตอบโต้กลับด้วยขีปนาวุธหลายลูกใส่ฐานทัพสหรัฐฯ ที่อิรัก มี 2 ฐานทัพที่ถูกโจมตีเต็ม ๆ แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และถ้าสหรัฐฯ ตอบโต้กลับมาล่ะก็…นครดูไบและเมืองไฮฟาในอิสราเอลได้เละตุ้มเป๊ะแน่ แถมพันธมิตรประเทศไหนที่ให้ความช่วยเหลือสหรัฐฯ จะถือว่าเป็นการประกาศศัตรูกับอิหร่าน

และในวันเดียวกันนี้ก็มีเหตุการณ์เครื่องบินโบอิ้ง 737 ของสายการบินยูเครนตกใกล้กับสนามบินในกรุงเตหะรานที่อิหร่าน มีผู้เสียชีวิต 176 ราย ไม่มีใครรอดแม้แต่คนเดียว 

ล่าสุดออกมาเผยแล้วว่าสาเหตุเครื่องบินตกเกิดจากความผิดพลาดของอิหร่าน ซึ่งสื่อของสหรัฐอเมริกาได้สันนิษฐานว่าช่วงเวลาของปะทะกันบ่งบอกว่าเครื่องบินอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเครื่องบินรบของสหรัฐ เนื่องจากอิหร่านกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการตอบโต้ 

อ่านถึงตรงนี้ก็พอจะเดาได้ว่าใครทำใครก่อน แต่เอาเข้าจริงก็ตัดสินไม่ได้ว่าใครถูกใครผิด เพราะไม่มีใครรู้ว่าความจริงเบื้องหลังทั้งหมดที่เกิดขึ้น และทุกสถานการณ์อาจไม่ได้ถูกบันทึกไว้

รุนแรงขนาดนี้ แล้วสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นจริงไหม

หลายคนคงกังวลว่าตัวเองจะต้องเจอกับสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งไม่คาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น แต่จากที่ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี  หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์เหตุการณ์หลังจากนี้เอาไว้ว่า ศึกครั้งนี้อาจมีแนวโน้มนำไปสู่สงครามอ่าวเปอร์เซีย (อีกครั้งหนึ่ง!) แต่ขอบเขตของสงครามไม่น่าจะขยายไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 แต่อย่างใด …สงครามอ่าวในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ แต่อาจเป็นสงครามนอกรูปแบบในลักษณะต่าง ๆ ที่ดึงประเทศในอ่าวเปอร์เซียเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่เกิดขึ้น

สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดหรือไม่เกิด แต่จากการตอบโต้กันไปมา ณ ตอนนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแล้ว หุ้นบางตัวติดลบอย่างหนัก ส่วนทองคำราคาขึ้นสูง (อันนี้ดีใจด้วย) และที่แน่ ๆ เลยก็คือไทยเรานี่แหละที่จะโดนผลกระทบหนักพอสมควร

วิจัยเรื่อง “การดำเนินนโยบายต่างประเทศของอิหร่านสมัยประธานาธิบดีมะมูดห์ อะห์มัดดีเนญอด (2005-2012) : กรณีรื้อฟื้นโครงการนิวเคลียร์ที่นำไปสู่ความขัดแย้งกับมหาอำนาจตะวันตก” โดย นิรันดร หนูมา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_3329798

https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_261969

https://www.facebook.com/BBCnewsThai/videos/2513648135410378/

SHARE

RELATED POSTS