ทักษะในการขับขี่บิ๊กไบค์
ที่นักบิดต้องแม่น! ก่อนออกถนนจริง
หลังมีข่าวคราวน่าสลดใจ ของอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่บิ๊กไบค์ออกมาอย่างต่อเนื่อง หลายคนคงพอทราบกันบ้างแล้วว่า อุปกรณ์ Safety ไม่ว่าจะเป็นหมวกกันน็อก, เสื้อเกราะกันกระแทก, ถุงมือ, กางเกงเสริมกันกระเเทกช่วงเข่า และรองเท้าบูธนั้น มีความสำคัญสำหรับการขับขี่ยานพาหนะประเภทนี้มาก
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุไม่คาดฝันบางกรณี ก็ทำให้เราตระหนักถึงอีกมุมมองคือ อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยทั้งหลาย อาจปกป้องชีวิตเราไม่ได้เลย หากเราละเลยการฝึกฝนทักษะในการขับขี่ให้ชำนาญ และรักษาวินัยจราจรอย่างเข้มงวด ก่อนสตาร์ทรถออกจากบ้านวันนี้ มาทบทวนกันก่อนว่า คุณเชี่ยวชาญ ‘ทักษะในการขับขี่บิ๊กไบค์’ เหล่านี้ดีพอหรือยัง?
ทักษะที่ไบค์เกอร์ต้องฝึกให้แม่น ก่อนออกถนนจริง
ใช้งานคลัตช์และคันเร่งได้ถูกวิธี
การใช้งานคลัตช์และคันเร่ง ถือเป็นเทคนิคเบสิกหลังสตาร์ตเครื่องเลยก็ว่าได้ โดยก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าคลัตช์มีไว้ใช้งานหลักๆ 3 ช่วง คือ ‘ใช้เวลาเข้าเกียร์ที่สูงขึ้นและลดเกียร์’, ‘ปล่อยคลัตช์เป็นจังหวะพร้อมกับบิดคันเร่งเวลารถออกตัว’ และ ‘กำเพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์ดับ’ ทั้งนี้นักบิดมือใหม่มักกังวลปัญหาเครื่องยนต์ดับมากที่สุด ทำให้พะวงอยู่กับการใช้คลัตช์มากจนเกินไป พลอยส่งผลให้ประสิทธิภาพในการขับขี่ลดลงตามไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่า ตราบใดก็ตามที่ล้อยังหมุนอยู่ บิ๊กไบค์ของคุณจะไม่มีวันดับแน่นอน จึงไม่จำเป็นที่ต้องกำคลัทช์ตอนเข้าโค้ง ตอนชะลอตัว หรือตอนเบรกเลย แต่เลือกกำเฉพาะตอนที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อคงประสิทธิภาพการขับขี่ไว้ตลอดเส้นทาง
เบรกเพื่อหยุดรถได้อย่างปลอดภัย
รถบิ๊กไบค์มีขนาดใหญ่มาก ตาม CC ของเครื่องยนต์ที่มีกำลังมหาศาล ผู้ขับขี่จึงต้องใช้สมาธิสูงในการประคองรถไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง อีกทั้งการขับขี่บิ๊กไบค์ยังนิยมใช้ความเร็วสูง ทำให้ต้องฝึกฝนเทคนิคการเบรกในช่วงเวลาฉุกเฉินให้ชำนาญ เทคนิคคือ คืนคันเร่งให้หมดเวลาเบรก เพื่อให้ Engine Brake หรือแรงฉุดเครื่องยนต์ทำงาน จนเกิดความหน่วงขึ้นเรื่อยๆ และหยุดรถได้ในที่สุด ข้อควรระวังคือหากขับรถมาเร็ว ไม่ควรกำคลัตช์และเบรกพร้อม เพราะจะทำให้เบรกทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้รถลื่นไถล ล้อหลังล็อก จนหยุดรถไม่ได้และเกิดอุบัติเหตุตามมา นอกจากนี้อาจเลือกใช้เทคนิคเบรกหลังเพื่อลดความเร็วก่อน แล้วค่อยใช้เบรกหน้าตามก็ได้
ที่มาภาพ: https://www.aphonda.co.th/hondabigbike
ยูเทิร์นเพื่อกลับรถได้อย่างคล่องตัว
จุดยูเทิร์นบนท้องถนนนับว่าเป็นจุดเสี่ยงสำหรับคนขับบิ๊กไบค์มาก เพราะมักอยู่ในช่วงที่การจราจรหนาแน่น ผู้ขับขี่จึงต้องเจอทั้งความกดดัน จากรถที่ผ่านไปมาหรือรถที่ต่อท้าย นอกจากนี้ยังต้องคอยพะวงด้วยว่าจะตีโค้งได้แม่นยำและประคองน้ำหนักรถอยู่หรือไม่ เทคนิคช่วยเพิ่มความมั่นใจในการตีโค้งคือ ก่อนยูเทิร์นต้องจัดระเบียบร่างกายให้ดี อย่างเกร็งจนขยับร่างกายได้ไม่เป็นธรรมชาติ เวลาเข้าโค้งให้รักษาความเร็วในระดับคงที่ เอียงตัวในท่า Lean Out โดยผลักรถออกจากตัวไปในทิศทางเดียวกับทางโค้งที่เราจะมุ่งหน้าไป ส่วนสายตามองไปที่จุดหมายปลายทางที่ต้องการยูเทิร์น
เข้าเกียร์และลดเกียร์อย่างมืออาชีพ
การเข้าและลดเกียร์เป็นอีกหนึ่งเทคนิคท้าท้ายนักบิดหน้าใหม่ หรือแม้แต่ผู้อยู่ในวงการบิ๊กไบค์มานาน เพราะไม่ใช่ว่าอยากจะเข้าหรือถอนเกียร์ตอนไหนก็ได้ เนื่องจากหากใช้เกียร์ผิดจังหวะ เครื่องยนต์จะอยู่ในสภาวะผิดปกติตามไปด้วย เช่น อาจเกิดแรงพุ่ง แรงฉุด รถกระตุก หรือล้อล็อกได้กะทันหัน อาการเหล่านี้มักทำให้ผู้ขับขี่ตกใจจนควบคุมรถไม่อยู่ สำหรับวิธีใช้เกียร์อย่างนิ่มนวล ให้เริ่มต้นจากการชะลอความเร็วเพื่อให้เครื่องยนต์เดินเครื่องในรอบที่ต่ำลงก่อน จากนั้นกำคลัตช์ไปพร้อมกับการเพิ่มหรือลดเกียร์ (หากไม่กำคลัตช์รถจะดับ) ทั้งนี้ถ้ารถไม่มีระบบ Slipper Clutch ติดตั้งมาด้วย สามารถใช้เทคนิคปั๊มคันเร่งขึ้นเล็กน้อย แล้วค่อยคลายคลัตช์ออก จากนั้นค่อยบิดคันเร่งตามปกติเพื่อเดินเครื่องต่อไป วิธีนี้ช่วยป้องกันรถดับก่อนออกตัวได้
เข้าโค้งอย่างนิ่มนวลช่วยลดอุบัติเหตุ
เทคนิคการเข้าโค้งที่นิยมใช้กันส่วนใหญ่ เทคนิค ‘Counter Steering’ หรือ ‘การเข้าโค้งด้วยความเร็วที่มากกว่าปกติ’ โดยเมื่อเจอทางโค้ง ให้ผู้ขับขี่หักแฮนด์ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับทางโค้งชั่วขณะ เพื่อให้รถเอียงไปในทิศทางตรงข้ามกับทางโค้งเล็กน้อย จากนั้นรีบหักแฮนด์กลับด้วยความเร็ว เพื่อหันทิศทางรถให้อยู่ในทิศทางเดียวกับเส้นโค้ง จากนั้นประคองรถให้มั่นคงไปจนถึงเส้นทางตรง เทคนิคนี้เหมาะกับการใช้เวลาที่รถวิ่งมาด้วยความเร็ว และเหมาะกับการเข้าโค้งในวงแคบ
อย่าลืมนะว่าแม้เราจะเตรียมอุปกรณ์ Safety และฝึกฝนเทคนิคการขับขี่มาพร้อมแค่ไหน ถ้าขับขี่แบบขาดสติ และไม่เคารพกฎจราจร คุณเองก็เป็นเหยื่อของถนนและโค้งมรณะต่างๆ ได้ตลอดเวลา