สำรวจตัวเองผ่านแบบทดสอบบุคลิกภาพทั้ง 5
“The Big Five: OCEAN”
แบบทดสอบบุคลิกภาพ The Big Five: OCEAN จะช่วยคลายข้อสงสัยว่า…ทำไมบางคนถึงคิดมาก วิตกกังวลอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม แต่ในขณะที่บางคนก็สามารถชิล ผ่อนคลายได้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด และมักไม่ค่อยแสดงความกังวลให้เห็น ผ่านการศึกษาของนักจิตวิทยา ซึ่งจำแนกบุคลิกภาพที่หลากหลายของมนุษย์ออกมาได้ 5 กลุ่ม นั่นก็คือทฤษฎี The Big Five: OCEAN
วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับทฤษฎีนี้ พร้อมชวนทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ แล้วลองมาสังเกตบุคลิกและนิสัยของคนที่คุณใกล้ชิดด้วยดูสัก 5 คน แล้วคุณจะแปลกใจว่าตัวเองดันมีบุคลิกและนิสัยบางอย่างที่ใกล้เคียงกับคนเหล่านั้น จะเป็นเพราะอะไร เราตามไปหาคำตอบพร้อมกันเลยครับ
ที่มาของทฤษฎี The Big Five: OCEAN
ก่อนที่จะเกิดเป็นแบบทดสอบบุคลิกภาพนี้ขึ้นมันมีจุดเริ่มต้นมาจากนักจิตวิทยา Gordon Allport และ Henry Odbert ได้แยกคำศัพท์ 4,500 คำที่เกี่ยวข้องกับลักษณะบุคลิกภาพ และได้กลายเป็นต้นฉบับที่เป็นประโยชน์ต่อนักจิตวิทยาคนอื่น ๆ ต่อมา Raymond Cattell ได้จำกัดคำเรียกลักษณะบุคลิกภาพลงเหลือเพียง 16 คำ กลายเป็น Sixteen Personality Factor Questionnaire (16PF) จนในที่สุด Robert McCrae และ Paul Costa ได้พัฒนาเป็นทฤษฎี Five-Factor Model (FFM) ซึ่งอธิบายบุคลิกภาพในแง่ปัจจัยกว้าง ๆ ได้ 5 กลุ่ม และโด่งดังจนเป็นที่รู้จักในชื่อ “Big Five” นั่นเอง ทีนี้เรามาเข้าเรื่องแบบทดสอบบุคลิกภาพ The Big Five: OCEAN กันเลยครับว่า มีอะไร และแต่ละแบบบ่งบอกถึงอะไรได้บ้าง
ตัวเราคือค่าเฉลี่ยของคน 5 คนที่เราใกล้ชิดและพูดคุยด้วยมากที่สุด"
Jim Rohn นักพูดระดับโลก
แบบทดสอบบุคลิกภาพ The Big Five: OCEAN
O : Openness to Experience
ตัวแรก O คือ การเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ เป็นคนเปิดกว้าง เต็มใจที่จะลองทำกิจกรรมใหม่ที่หลากหลาย เป็นคนช่างคิด จินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่
- ช่างฝัน
- มีความสุนทรีย์
- เน้นอารมณ์ความรู้สึก
- พร้อมลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ
- มีความคิดสร้างสรรค์
- ยอมรับค่านิยม
ในทางกลับกันหากคุณพบว่ามีความ Openness ต่ำ แสดงว่าคุณมีความเป็นคนหัวโบราณค่อนข้างสูง (conservative) เปิดรับสิ่งแปลกใหม่ได้ยาก และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง หากมี Openness สูง คุณเป็นคนมีจินตนาการ ชอบเสพงานศิลป์ หลงใหลในประสบการณ์ทางศิลปะและวัฒนธรรม ชอบใช้สติปัญญา รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ดี
C : Conscientiousness
ตัว C คือ การมีจิตสำนึก เป็นคนมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบสูง รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ตั้งเป้าหมายที่จะทะเยอทะยาน และมีแรงจูงใจที่จะบรรลุให้สำเร็จ ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่
- มีความสามารถ
- มีความเป็นระเบียบ
- รับผิดชอบในหน้าที่
- แสวงหาความสำเร็จ
- มีวินัยต่อตัวเอง
- มีความระมัดระวัง รอบคอบ
คนที่มีคะแนน Conscientiousness สูง มักจะเป็นคนลงรายละเอียดอย่างมาก ใส่ใจในทุก detail ต้องการความสมบูรณ์แบบ และใช้เหตุผลในการตัดสินใจเสมอ ชอบวางแผนล่วงหน้า สามารถควบคุมการกระทำของตัวเองได้ หลีกเลี่ยงทำในสิ่งที่อาจก่อให้เกิดปัญหา ทำให้ดูเหมือนเคร่งเครียดตลอดเวลา จึงไม่ค่อยมีชีวิตชีวา เมื่อเทียบกับคนที่มีคะแนน Conscientiousness ต่ำ มักจะทำอะไรตามความต้องการของตัวเอง สามารถปรับตัวได้ มีความยืดหยุ่น แต่จะไม่ค่อยทะเยอทะยาน ไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต
E : Extraversion
ตัว E คือ การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น/การแสดงตัว ชอบเข้าสังคม ช่างพูดคุย ช่างเจรจา เปิดเผยตัวเอง ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่
- อบอุ่น
- ชอบพบปะสังสรรค์
- การยืนยันรักษาสิทธิ์
- ชอบมีกิจกรรม
- แสวงหาความตื่นเต้น
- มีอารมณ์ทางบวก
โดยทั่วไปคนที่มี Extraversion สูง จะชอบเข้าสังคม มีนิสัยร่าเริง เป็นมิตร มองโลกในแง่ดี ชอบความตื่นเต้นเร้าใจ และชอบเป็นผู้นำ แต่หากมี Extraversion ต่ำ หรือที่เรียกว่า Introvert แสดงว่าเป็นคนชอบเก็บตัว ค่อนข้างเงียบ ไม่ชอบเข้าสังคม ชอบทำกิจกรรมอะไรที่ทำได้คนเดียวมากกว่า หรือจะเลือกอยู่กับคนที่มีความชอบแบบเดียวกัน
A : Agreeableness
ตัว A คือ ความเป็นมิตร เป็นคนที่นึกถึงใจคนอื่น เข้าใจและเป็นมิตร มองข้ามความจำเป็นส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่
- จิตใจอ่อนโยน
- ไว้วางใจผู้อื่น
- ตรงไปตรงมา
- เห็นแก่ผู้อื่น
- อ่อนน้อมถ่อมตน
- การยอมให้ผู้อื่น
คนที่มี Agreeableness ต่ำ มักจะเป็นคนที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ตัวเองต้องได้ก่อนแล้วคนอื่นค่อยได้ตาม มีความหวาดระแวง สงสัยในการกระทำของคนอื่น ไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่ ส่วนคนที่มี Agreeableness สูง มักเป็นกันเองกับคนอื่น มีความซื่อสัตย์ จิตใจดี ไว้วางใจได้ คิดถึงประโยชน์ของส่วนรวมก่อนเสมอ และชอบทำให้คนอื่นสบายใจ
N : Neuroticism
ตัว N คือ ความวิตกกังวล มีความหวั่นไหวทางอารมณ์สูง เจ้าอารมณ์ วิตกกังวล เครียด และหงุดหงิดง่าย ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่
- วิตกกังวล
- ซึมเศร้า
- อารมณ์เปราะบาง
- หุนหันพลันแล่น
- ระมัดระวังตัว
- ก้าวร้าว
แนวโน้มของคนที่มี Neuroticism สูง มักจะเครียดง่าย เจอเรื่องอะไรก็เก็บมาคิดมาก วิตกกังวล มีความคิดที่ขาดเหตุผล ส่วน Neuroticism ต่ำ จะค่อนข้างมั่นคงทางอารมณ์ มีสมาธิสูง เป็นคนสบาย ๆ
เมื่อเข้าใจถึงแบบทดสอบบุคลิกภาพ The Big Five: OCEAN แล้ว เราไม่แนะนำให้คุณทึกทักเอาเองว่าตัวเองมีบุคลิกไหนจากความรู้สึก เราแนะนำให้คุณ 2 ทาง คือ 1. ทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ ทั้ง 25 ข้อ เป็นการจำลองสถานการณ์ของบัณฑิตจบใหม่ที่กำลังมองหางานและถูกเรียกสัมภาษณ์ เป็นภาษาไทย https://www.arealme.com/big-five-personality-traits-test/th/
2. หากอยากรู้แบบละเอียด ให้เข้าไปทำแบบทดสอบบุคลิกภาพที่นี่ https://bigfive-test.com/ จะแสดงผลเป็นกราฟ และอธิบายแต่ละหัวข้อที่เราได้อย่างละเอียดเป็นภาษาอังกฤษ
หากเราเข้าใจและนำผลลัพธ์ของแบบทดสอบบุคลิกภาพ The Big Five ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เราอาจจะได้มุมมองใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิต และไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหน ทุกบุคลิกภาพย่อมมีข้อดี–ข้อเสีย แตกต่างกันไปเสมอ อาจเรียกได้ว่าเป็นความสมดุล เพราะหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปสังคมเราคงจะสุดโต่งไปในทางเดียวกันทั้งหมดเลยก็ได้ ว่าไหมครับ หากใครอยากสำรวจตัวเองในด้านอื่นอีก เรามี คุณเป็นมนุษย์แบบไหน? เข้าใจนาฬิกาชีวภาพตามบุคลิกของตัวเอง