Search
Close this search box.
นาฬิกาชีวภาพ Biological Clock

คุณเป็นมนุษย์แบบไหน? เข้าใจนาฬิกาชีวภาพตามบุคลิกของตัวเอง

คุณเคยสงสัยไหม? ว่าทำไมวันนี้ตื่นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น หรือเหมือนกับว่าเมื่อคืนไม่ได้นอนเลยด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะทุกคนมีนาฬิกาชีวภาพ (Biological Clock) เป็นของตัวเอง ซึ่งแต่ละคนก็จะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน วันนี้เราจะมาสำรวจตัวเองจากพฤติกรรมการนอนว่าตัวเองมีบุคลิกแบบไหนตามนาฬิกาชีวภาพ โดยเปรียบเทียบจากลักษณะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้ง 4 แบบ จากประสบการณ์ทำการศึกษา และรักษาผู้ป่วยมาอย่างยาวนานของ Dr. Michael Breus นักจิตวิทยาด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ

The Power of When | พลังแห่งเมื่อไหร่”

Dr. Michael Breus นักจิตวิทยาด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ ผู้เขียนหนังสือ “The Power of When” หรือ “พลังแห่งเมื่อไหร่” จะทำหน้าที่บอกว่า นาฬิกาชีวภาพของคุณมีบุคลิกแบบไหน จากทั้ง 4 ประเภท โดยเปรียบจากลักษณะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่าง โลมา สิงโต หมี และหมาป่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะ นาฬิกาชีวภาพแต่ละคนแตกต่างกัน

จากพฤติกรรมของบรรพบุรุษในอดีตจะแบ่งบุคลิกเป็น 3 ประเภท คือ นกลาร์ก คนที่ตื่นตัวตอนเช้า, นกฮัมมิงเบิร์ด คนที่ตื่นตัวตามเวลาปกติ และนกฮูก คนที่ตื่นตัวตอนเย็น แต่ความจริงแล้วนิสัยของมนุษย์เราไม่เหมือนนกสักเท่าไหร่ ซึ่งมนุษย์ก็นับเป็นหนึ่งในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม จึงทำให้เกิดการแบ่งบุคลิกขึ้นใหม่ตามสัตว์ทั้ง 4 นี้

แต่ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจนาฬิกาชีวภาพของทั้ง 4 บุคลิก Thomas อยากให้ทุกคนเข้าไปทำแบบทดสอบว่าตัวเองมีนาฬิกาชีวภาพเป็นแบบสัตว์ประเภทไหน สามารถทำ Bio-Time Quiz ได้ที่ https://thepowerofwhenquiz.com/

บุคลิกตามนาฬิกาชีวภาพของคุณเป็นแบบไหน?

นาฬิกาชีวภาพ โลมา

“โลมา”

หากบุคลิกตามนาฬิกาชีวภาพของคุณคือ “โลมา” ถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีเพียง 10% เท่านั้น เป็นพวกนอนแบบครึ่งหลับครึ่งตื่น จะตื่นง่าย เจอแสงนิดหน่อยก็ตื่นแล้ว หลับไม่ลึก ไม่ค่อยสดชื่นตอนตื่นนอน และรู้สึกอ่อนเพลียไปจนถึงตอนเย็น

ลักษณะนิสัยเด่น : ฉลาด รอบคอบ เก็บตัว กังวลง่าย

ลักษณะพฤติกรรมเด่น : ชอบความสมบูรณ์แบบ หมกมุ่นกับรายละเอียด มีแนวโน้มย้ำคิดย้ำทำ

นาฬิกาชีวภาพ สิงโต

“สิงโต”

หากบุคลิกตามนาฬิกาชีวภาพของคุณคือ “สิงโต” จะเป็นพวกหลับง่าย นอนเร็ว ตื่นเช้า และรู้สึกกระฉับกระเฉงมากในช่วงเช้า แต่ตอนเย็นจะอ่อนล้า ไม่สนุกกันงานปาร์ตี้สักเท่าไหร่

ลักษณะนิสัยเด่น : มองโลกในแง่ดี ทุ่มเท มั่นคง

ลักษณะพฤติกรรมเด่น : ชอบวางกลยุทธ์ มักทำอะไรได้ดีเกินคาด ให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นอันดับแรก

นาฬิกาชีวภาพ หมี

“หมี”

หากบุคลิกตามนาฬิกาชีวภาพของคุณคือ “หมี” จะตื่นขึ้นมาแบบงัวเงีย หลังจากที่กดเลื่อนนาฬิกาปลุกแล้ว เป็นพวกหลับลึก แต่นอนได้ไม่นาน ชอบนอนชดเชยช่วงสุดสัปดาห์ จนกระทบให้นอนไม่หลับในคืนวันอาทิตย์

ลักษณะนิสัยเด่น : คุยง่าย เป็นมิตร ชอบเข้าสังคม

ลักษณะพฤติกรรมเด่น : ให้ความสำคัญกับความสุข สบายใจเมื่ออยู่กับสิ่งที่คุ้นเคย หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

นาฬิกาชีวภาพ หมาป่า

หมาป่า

หากบุคลิกตามนาฬิกาชีวภาพของคุณคือ “หมาป่า” จะนอนดึก ตื่นสาย แต่หากต้องตื่นเช้าก็ตื่นได้ แต่จะยากหน่อย ทำให้ช่วงเช้าสมองตื้อ แต่ช่วงดึกจะคึกมาก ชอบกินมื้อดึกแต่ไม่กินมื้อเช้า

ลักษณะนิสัยเด่น : มีความคิดสร้างสรรค์ แต่มักมองโลกในแง่ร้าย และขี้หงุดหงิด

ลักษณะพฤติกรรมเด่น : มองหาความแปลกใหม่ กล้าเสี่ยง มีการตอบสนองทางอารมณ์ที่รุนแรง

ซึ่งในหนังสือ The Power of When มีให้คำแนะนำการใช้ชีวิตตามตาราง นาฬิกาชีวภาพ ของบุคลิกแต่ละประเภทเอาไว้ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยต่าง ๆ รอบโลกไว้เยอะมาก ซึ่งเราก็ได้หยิบยกตัวอย่างมาให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น

  • เมื่อหมาป่านอนดึก มื้อเย็นที่เหมาะสมจึงเป็นช่วง 20.00 – 21.00 น. เพื่อจะได้ไม่กินจุกจิกในมื้อดึกอีก
  • สิงโตช่วงเช้า หมีช่วงสาย โลมาช่วงบ่าย หมาป่าช่วงเย็น นี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะต่อการใช้ความคิด ทั้งเชิงวิเคราะห์ และสร้างสรรค์
  • เวลาออกกำลังกายที่เหมาะที่สุดสำหรับหมี คือช่วง 07.00 – 07.30 น. เพื่อเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และระดับคอร์ติซอลในร่างกาย หรือหากพลาดไปแล้ว ช่วง 18.00 – 19.00 น. คุณสามารถแก้ตัวได้อีกครั้ง
  • โลมาไม่ควรงีบระหว่างวัน และเลี่ยงที่จะดื่มกาแฟช่วงบ่าย ถ้ารู้สึกล้าให้ออกไปเดินเล่น รับแสงแดด

หากคุณเลือกทำกิจกรรมตามนาฬิกาชีวภาพ ที่เหมาะสมต่อบุคลิกของตัวเอง นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาการนอนไม่หลับได้อย่างเหลือเชื่อแล้ว ยังทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันได้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น การนอนและตื่น กินข้าวแต่ละมื้อ ออกกำลังกาย การทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความสัมพันธ์ด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าคุณจะมีนาฬิกาชีวภาพแบบใดก็ตาม หากเข้าใจ flow ชีวิตที่ต่างกัน แล้วเคารพซึ่งกันและกัน การใช้ชีวิตร่วมกันก็จะมีความสุขยิ่งขึ้น

The Power of When “พลังแห่งเมื่อไหร่” Michael Breus, Ph.D.

SHARE

RELATED POSTS