Search
Close this search box.
Warren Buffett

ถอดรหัสกลยุทธ์ความสำเร็จ
ของพ่อมดวงการหุ้น ‘Warren Buffett’

กฎเหล็กแห่งความสำเร็จของ ‘Warren Buffett’ หนึ่งในนักลงทุนหุ้นที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก อย่างกฎ 5 ชั่วโมง (5-hour rule) หรือการให้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน (5 วันต่อสัปดาห์) เพื่อการเรียนรู้ และทุ่มเทเวลาส่วนตัวกว่า 80% ไปกับการอ่านหนังสือและการใช้ความคิด เป็นกฎที่หลายคนวิจารณ์ว่า “ปู่แกทำได้เพราะเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก คนธรรมดาอย่างเราจะไปทำได้อย่างไร” ด้านนักเขียนคนหนึ่งออกมาโต้กลับว่า การให้คำตอบกับความสำเร็จของปู่ Buffett เช่นนี้ อาจช่วยทำให้คุณรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น แต่มันไม่ได้ทำให้คุณฉลาดขึ้นเลย  

ต่อไปนี้คือเรื่องเล่าเกี่ยวกับ 6 กลยุทธ์ที่ปู่ Buffett ใช้บริหารเวลาในชีวิต เพื่อให้ได้เรียนรู้ อ่านหนังสือ และใช้ความคิดอย่างที่ใครหลายคน ‘คิดว่าทำไม่ได้’ โดยผู้เขียนไม่รับประกันว่าหากนำไปปรับใช้ตาม ทุกคนจะประสบความสำเร็จขั้นสุดเท่าปู่แกหรือไม่ เพียงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณจะเก็บเกร็ดสาระดีๆ จากแนวคิดของพ่อมดแห่งวงการหุ้นไปได้บ้างไม่มากก็น้อย

Warren Buffett กำจัดภาระงานที่ขัดขวางความสำเร็จ

กลยุทธ์ที่ 1: กำจัดภาระงานที่ขัดขวางความสำเร็จ 

Warren Buffett ใช้เกือบทั้งชีวิตอยู่ที่ เมือง Omaha รัฐ Nebraska สหรัฐอเมริกา ไม่ถือคติดำรงตนแบบ CEO หน้าม่าน ไม่เข้าประชุม ไม่นิยมพูดคุยกับนักวิเคราะห์ ไม่ชอบร่วมงานพบปะสังสรรค์ของบรรดานักธุรกิจ และนานๆ ครั้งถึงจะยอมให้สัมภาษณ์กับสื่อ ทั้งหมดคือหนึ่งในวิธี ‘กำจัดภาระงานที่ขัดขวางความสำเร็จ’ นั่นเอง 

วิธีการที่คุณปู่มักแชร์ให้คนใกล้ตัวนำไปปรับใช้ เพื่อกำจัดงานที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ออกไปคือ ฝึกจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องโฟกัสในชีวิต เริ่มจากการเขียนเป้าหมายที่สำคัญในชีวิต 25 ข้อ ลงบนกระดาษ จากนั้นมาร์กข้อที่คุณคิดว่าสำคัญที่สุด 5 ข้อ มองไปยัง 20 ข้อที่ไม่ถูกเลือก แล้วบอกตัวเองว่าอย่าเพิ่งสนใจกับ 20 ข้อนี้ จนกว่าคุณจะทำ 5 ข้อที่มาร์กไว้ได้สำเร็จ หากยังมองไม่ออกว่า อะไรกันแน่ที่สำคัญหรือไม่สำคัญ ลองเริ่มต้นง่ายๆ จากการวาง ‘งานหนักที่ทำให้คุณเหนื่อยแต่ไม่ได้พัฒนาตัวเองลง’ แล้วจะพบว่าการจัดลำดับความสำคัญ ไม่ใช่เรื่องยากเลย

Warren Buffett ทำงานกับคนที่คุณมองเห็นอนาคตร่วมกับเขา

กลยุทธ์ที่ 2: ทำงานกับคนที่คุณมองเห็นอนาคตร่วมกับเขา

‘หากนึกภาพชีวิตการทำงานของคุณ กับใครบางคนไปตลอดชีวิตไม่ออก ก็สวมคอนเวิร์สได้เลย’ ประโยคนี้น่าจะอธิบายกลยุทธ์ที่ 2 ในการทำงานของ Buffett  ได้ดี เพราะเขาเป็นอีกหนึ่งคนที่พิถีพิถันในการเลือกเพื่อนร่วมงานเสมอ คุณปู่จะเลือกทำงานเฉพาะกับคนที่เขาไว้วางใจ และเห็นอนาคตร่วมกันเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเขาใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจเข้าซื้อกิจการบางแห่ง เพราะปู่จะไม่เสียเวลาเจรจาให้ยืดเยื้อ หากเล็งเห็นแต่แรกว่าสามารถไปด้วยกันได้ นอกจากใช้เกณฑ์นี้ในการเลือกพาร์ตเนอร์แล้ว Buffett ยังนำมาตรฐานเดียวกันไปใช้กับการสรรหาพนักงานด้วย สังเกตได้เลยว่าพนักงานจำนวนมากในทีม ล้วนทำงานร่วมกับเขามานานหลายสิบปี

Warren Buffett ทำทุกอย่างด้วยความเรียบง่าย เพื่อรักษาความสำเร็จให้อยู่ได้นาน

กลยุทธ์ที่ 3: ทำทุกอย่างด้วยความเรียบง่าย
เพื่อรักษาความสำเร็จให้อยู่ได้นาน 

กลยุทธ์ที่ 3 เปรียบเปรยได้กับวลีที่ว่า ‘ชัยชนะนั้นได้มายาก แต่การรักษาไว้…ยากยิ่งกว่า’ Buffett คือบุคคลตัวอย่างที่ใช้วิถีชีวิตส่วนตัว เป็นบทเรียนให้กับผู้คนมากมาย เริ่มต้นจากวิถีชีวิตที่แสนเรียบง่ายในบ้านหลังธรรมดา ที่อาศัยอยู่มานานกว่า 60 ปี กับยอดเงินประมาณ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3 ล้านบาท ที่คุณปู่ใช้จ่ายไปกับชีวิตส่วนตัวในแต่ละปี ซึ่งนับว่าไม่มากเลย เมื่อเทียบกับไลฟ์สไตล์ของเศรษฐีคนอื่น

ต่อมาคือวัฒนธรรมองค์กรของ ‘Berkshire Hathaway’ บริษัทแม่ด้าน Holding Company ภายใต้การดูแลของ Buffett ที่แม้ถือจะครองหุ้นในบริษัทลูกระดับโลกไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Coca Cola, Walmart, Mastercard, Apple, Dairy Queen ฯลฯ แต่ที่ออฟฟิศบริษัทแม่กลับมีพนักงานทำงานอยู่เพียง 24 คน และเพื่อความเรียบง่าย คุณปู่ยังได้ตัดตอนพิธีรีตองระหว่าง CEO กับพนักงานออกทั้งหมด ด้วยเล็งเห็นว่าการจ้างงานเพิ่มหรือใช้จ่ายมากขึ้นตามการเติบโตของบริษัทนั้น ไม่มีความจำเป็นเลย หากเรารู้จักบริหารสิ่งที่มีอยู่เดิมได้อย่างชาญฉลาด 

Warren Buffett เริ่มต้นจากความถนัด และกล้าเดิมพันกับความเสี่ยง

กลยุทธ์ที่ 4: เริ่มต้นจากความถนัด
และกล้าเดิมพันกับความเสี่ยง

Buffett เชื่อมั่นเรื่องผลตอบแทนที่น่าพอใจจากการทุ่มเทอย่างเต็มกำลัง เขาจึงให้ความสำคัญกับการศึกษารายละเอียดของแต่ละบริษัท ก่อนเข้าไปลงทุนเสมอ เพื่อมองให้เห็นภาพว่าจะมีอนาคตร่วมกันหรือไม่ พร้อมกันนี้ยังเชื่อด้วยว่า การลงทุนที่เริ่มต้นจากความถนัดและการรู้จริงของเรา ย่อมลดความเสี่ยงในการผิดพลาดได้มากกว่า เช่นคุณปู่ที่ชื่นชอบและสนุกกับการทำกำไรจากการเล่นหุ้น เหมือนกับการเล่นเกม จึงมุ่งมั่นลงทุนกับสิ่งนี้จนประสบความสำเร็จ คุณก็เช่นกัน หากค้นพบแล้วว่าตัวเองมีความถนัดสิ่งใด ควรศึกษามันให้ถ่องแท้ ฝึกฝนมันให้ช่ำชอง เมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึง ความพร้อมที่สั่งสมจะผลักดันให้เรากล้าออกไปเผชิญทุกความเสี่ยงได้อย่างน่าอัศจรรย์

Warren Buffett ลงทุนกับสิ่งที่นำไปต่อยอดได้ในระยะยาว

กลยุทธ์ที่ 5 ลงทุนกับสิ่งที่นำไปต่อยอดได้ในระยะยาว

หนึ่งในสิ่งที่จะอยู่กับเราไปได้ตลอดคือ ‘ความรู้’ ปู่ Buffet จึงให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือ เพื่อเติมความรู้ให้ตัวเองเสมอ โดยมีจุดเด่นคือต้องเป็นความรู้ที่ทันสมัย กอปรกับทำให้คนศึกษาฉลาดขึ้นและนำไปใช้ต่อยอดได้ ไม่ใช่เรื่องราวล้าหลังที่เรียนรู้ไปก็อาจไม่มีใครสนใจ นอกจากนี้ยังควรลงทุนกับสิ่งที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และช่วยให้ตัวเองได้ก้าวออกจากกรอบเดิมๆ 

อย่างคุณปู่ซึ่งเดิมทีเป็นคนกลัวการพูดในที่สาธารณะ แต่เมื่อเล็งเห็นว่าความกลัวนี้เป็นอุปสรรคต่อการถ่ายทอดไอเดียในการลงทุนไปสู่ผู้อื่น คุณปู่จึงตัดสินใจลงทุนกับการเรียน ‘เรื่องการพูดในที่สาธารณะ’ ซึ่งนั่นก็เปิดโอกาสให้ได้ก้าวออกไปทำในสิ่งผลักดันให้ตัวเองประสบความสำเร็จมากกว่าเดิม

Warren Buffett ใช้เทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมาย ไม่ใช้ตามกระแสนิยม

กลยุทธ์ที่ 6: ใช้เทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมาย 
ไม่ใช้ตามกระแสนิยม

ใครจะไปคิดล่ะว่านักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ตลอดการ ทั้งยังรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่ทันสมัยเสมออย่าง Buffett ไม่เคยมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวในที่ทำงาน ไม่มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ตโฟน ไม่ใช้แม้แต่เครื่องมือช่วยเปรียบเทียบราคาหุ้นในตลาด ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่เขาต้องคลุกคลีกับมันประจำ แต่ Buffett กลับแตกฉานในข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เขาต้องการลงทุนเสมอ มีความมั่นใจในตัวเองแม้ไม่ได้ตามกระแสอย่างกลุ่มนักลงทุนอื่นๆ นี่เองอาจเป็นหนึ่งวิธีที่คุณปู่ใช้เพื่อกำจัดสิ่งเร้าจากเทคโนโลยี ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ตัวเองพัฒนาขึ้นแต่อย่างใด

เห็นได้ชัดเลยว่า ‘การจัดลำดับสำคัญ’ คือหัวใจหลักที่ซ่อนอยู่ในช่วงทุกช่วงเวลาแห่งสำเร็จของ Warren Buffett เสมอ หวังว่าเกร็ดสาระนี้ ช่วยให้ทุกคนพบวิธีปูทางให้ตัวเองไปสู่ความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ

SHARE

RELATED POSTS

ตั้งเป้าหมายไว้ทีไรพอถึงเวลาทำจริงกลับเหลวไม่เป็นท่า มาหาสาเหตุ พร้อมเฉลยวิธีตั้งเป้าหมายปีใหม่ ตั้งอย่างไรให้ทำสำเร็จได้จริง…