จัดเต็ม 10 เอฟเฟ็กต์กีตาร์ แนะนำมือใหม่ต้องมีติดบอร์ดเอาไว้!
ใครเป็นสายกีตาร์ไฟฟ้าแล้วอยากเริ่มต้นเล่นเอฟเฟ็กต์กีตาร์สักก้อน อาจสงสัยว่าเอฟเฟ็กต์กีตาร์แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร แต่ละอันให้เสียงแบบไหน วันนี้ THOMAS มี 10 เอฟเฟ็กต์กีตาร์มาแนะนำให้สำหรับมือใหม่ พร้อมข้อมูลที่เป็นประโยชน์สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อได้ครับ พร้อมแล้วไปลุยกันเลย
โดยทั่วไปแล้วชนิดของเอฟเฟ็กต์กีตาร์แบ่งได้ 2 ชนิด คือ เอฟเฟ็กต์กีตาร์แบบก้อน (stomp box effect pedal) และ เอฟเฟ็กต์กีตาร์แบบมัลติ (multiple effect pedals) แต่วันนี้เราจะมาแนะนำเอฟเฟ็กต์กีตาร์แบบก้อน หรือ Stomp Box เป็นเอฟเฟ็กต์เสียงแตกสไตล์ดั้งเดิม มาในลักษณะก้อนเดี่ยว สร้างเสียงเอฟเฟ็กต์จากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ สามารถสร้างได้เพียงเสียงเดียว ถ้าอยากได้เสียงเอฟเฟ็กต์มากกว่านั้นก็ต้องหาเอฟเฟ็กต์ก้อนมาเพิ่ม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเอฟเฟ็กต์ที่มือกีตาร์หลายคนนิยมใช้กันเลยนะครับ
แนะนำเอฟเฟ็กต์กีตาร์ 10 ตัวนี้ต้องมีติดบอร์ด
1. “Tuner (จูนเนอร์)” พื้นฐานเอฟเฟ็กต์กีตาร์ที่ควรมี
จูนเนอร์ หรือที่เรียกกันว่า เครื่องตั้งสาย เป็นเอฟเฟ็กต์กีตาร์ที่สำคัญในการเล่นอย่างมาก และเทคโนโลยีในสมัยนี้ก็ได้พัฒนาขึ้นมาก ทำให้จูนเนอร์มีให้เลือกเล่นหลากหลายทั้งขนาดเล็ก และแบบหนีบหัวกีตาร์ รวมถึงบนแอปพลิเคชัน ซึ่งตัวจูนเนอร์เองอาจไม่ได้สร้างเสียงอะไรให้กีตาร์ แต่ใช้สำหรับตั้งสายกีตาร์ เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่จะช่วยให้การเล่นกีตาร์มีคุณภาพ สร้างความมั่นใจให้กับผู้เล่นได้
2. เอฟเฟ็กต์กีตาร์ “Overdrive (โอเวอร์ไดร์ฟ)” ให้เสียงแตกน้อย จนถึงใช้เล่น Power chords
เอฟเฟ็กต์กีตาร์เสียงแตกชนิดแรก ๆ ของโลก ให้ระดับเสียงแตกได้หลากหลายตั้งแต่เสียงแตกอ่อน ๆ ใช้หางเสียงในการตีคอร์ด ถึงระดับปานกลางเป็นเสียงแตกที่ยังได้ยินเนื้อเสียงจริงของกีตาร์อยู่ ไปจนถึงเสียงแตกมากขึ้น ใช้ในการเล่น Rhythm, Power chord และใช้ในการบูสเสียง solo ความจริงแล้วเอฟเฟ็กต์กีตาร์ Overdrive ให้เสียงได้หลายคาแรกเตอร์ ขึ้นอยู่กับผู้เล่นจะดีไซน์เสียงออกมา
3. เอฟเฟ็กต์กีตาร์ “Distortion (ดิสทรอชัน)” เพิ่ม gain เสียงแตกให้สะใจ
เอฟเฟ็กต์กีตาร์ประเภทนี้ให้เสียงแตกแบบดุดัน พลุ่งพล่าน หนักแน่น เหมาะสำหรับผู้ที่เล่นดนตรีแนวร็อกและเมทัล ตัวนี้จะให้เสียงแตกมากกว่าแบบ overdrive เพิ่มปุ่ม gain เข้ามาให้เสียงแตกแบบสะใจกันไปเลย สำหรับสายร็อกอาจจะต้องมีเอฟเฟ็กต์ก้อนนี้ติดบอร์ดสักหน่อยนะครับ
4. “Chorus (คอรัส)” เอฟเฟ็กต์กีตาร์เสียงคลีน
เสียงเอฟเฟ็กต์กีตาร์ประเภทนี้ช่วยเพิ่มมิติให้เสียงคลีน ให้เสียงที่มีความหนา สั่น และหวานมากขึ้น คล้ายกับมีคอรัสมาร่วมแจมด้วยนั่นเอง เสียงจะไม่บางจนเกินไป ใช้กับเสียงคลีนเล่นแบบ picking chord ทำให้เสียงกังวานและเพราะขึ้น เหมาะกับแนวเพลงร็อก บลูส์ และแจ๊ส ที่ต้องเพิ่มเสียงหวาน ๆ เข้าไป
5. เอฟเฟ็กต์กีตาร์ “Delay (ดีเลย์)” ช่วยเพิ่มความหนาให้เสียง
เอฟเฟ็กต์กีตาร์ตัวนี้ให้ผลลัพธ์ตามชื่อเลย เป็นการคัดลอกเสียงที่เราดีดไว้ก่อนหน้านี้ โดยสามารถปรับที่ตัวเอฟเฟ็กต์ได้ว่าจะให้ดีเลย์ตามหลังมากี่วินาที แล้วค่อยปล่อยเสียงนั้นออกมาตามที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ยังปรับแต่งได้อีกว่าต้องการเสียงแบบไหน เอฟเฟ็กต์นี้จะช่วยเพิ่มความหนาให้เสียง วงที่มีมือกีตาร์คนเดียวอาจใช้เพื่อทำให้การเล่นดูเต็มมากขึ้นได้
6. “Reverb (รีเวิร์บ)” เอฟเฟ็กต์กีตาร์ช่วยเพิ่มมิติให้เพลง
หลักการทำงานของ Reverb คล้ายกับแบบ Delay คือการคัดลอกโน้ตแรกที่เล่น แต่เอฟเฟ็กต์กีตาร์ประเภทนี้จะเพิ่มมิติของเสียงสะท้อนหรือเสียงก้องเข้ามา เป็นการจำลองเสียงก้องในห้องขนาดต่าง ๆ ซึ่งระดับความก้องขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ที่จำลอง เช่น หอประชุมใหญ่ก็จะมีความก้องที่แตกต่างจากห้องเล็ก ให้เสียงที่มีความลึกและมีมิติ
7. เอฟเฟ็กต์กีตาร์ “Flanger (แฟรงเจอร์)” เพิ่มมิติให้รู้สึกล่องลอย
สำหรับสายร็อกจะขาดเอฟเฟ็กต์กีตาร์ตัวนี้ไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะแนว electronic music ที่ต้องใช้เอฟเฟ็กต์ตัวนี้เพื่อสร้างเสียงเคว้งคว้าง ล่องลอยในอวกาศ ส่วนใหญ่มักจะใช้กับการตีคอร์ดและ solo ใครที่เบื่อเสียงคลีนเดิม ๆ ลองเปลี่ยนมาบิดสัญญาณเสียงให้แปลกใหม่กับเอฟเฟ็กต์ตัวนี้เลยครับ
8. “Wah Wah (วาว)” เอฟเฟ็กต์กีตาร์ตัวเสริม
ลองเหยียบเอฟเฟ็กต์กีตาร์ตัวนี้ดูแล้วจะได้เสียง วาว วาว ตามชื่อของมันเลย มักได้ยินจากดนตรีแนวร็อกและ funk ซะส่วนใหญ่ ถือว่าหายากเลยทีเดียวสำหรับเพลงหรือวงที่ใช้เอฟเฟ็กต์ประเภทนี้ แต่ด้วยเอกลักษณ์ของเสียงทำให้มือกีตาร์หลายคนอาจมีติดตัวเอาไว้สร้างสีสัน แต่สำหรับมือใหม่อาจเป็นเอฟเฟ็กต์ตัวท้าย ๆ ที่คิดจะซื้อ ด้วยลักษณะการเล่นที่ค่อนข้างควบคุมยากต้องคุมจังหวะเท้าให้ดี แต่ก็แนะนำให้มีติดบอร์ดเอาไว้นะครับ
9. เอฟเฟ็กต์กีตาร์ “Phaser (เฟสเซอร์)” ให้เสียงที่แปลกหู
อีกหนึ่งเอฟเฟ็กต์กีตาร์ที่ช่วยเพิ่มมิติให้เสียง มีความคล้ายกับเอฟเฟ็กต์แบบ Flanger แต่ให้ลักษณะเสียงที่ไวกว่าและเคว้งน้อยกว่า มีหลักการสร้างเสียงโดยเปลี่ยนแปลงความถี่ของคลื่นเสียงให้มีความแปลกหู
10. “Booster (บูสเตอร์)” เอฟเฟ็กต์กีตาร์
เป็นเอฟเฟ็กต์กีตาร์ที่มีหลักการทำงานคือบูสต์ความดังของเสียงกีตาร์ก่อนส่งไปที่แอมป์ ช่วยเสริมเสียงแตกหรือเสียงคลีนให้ทรงพลังมากขึ้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของ Booster ด้วย แต่ละตัวจะมีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง
- Treble Boost – เน้นบูสต์ย่านเสียงสูง จะได้เสียงกร้าน ๆ (Crunchy) เหมาะเล่นกับเพลงแนวเก่า ๆ หรือวินเทจ
- Dirty Boost – เป็นบูสต์ที่มีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเองให้เสียงเหมือนผ่านแอมป์หลอดและออกสาก ๆ หน่อย
- Clean Boost – จุดเด่นคือถ้ายัดใส่แอมป์แล้วจะได้เสียงแตกที่นุ่มละมุน ไม่เน้นย่านเสียงใดเป็นพิเศษ
- Mid Boost เน้นย่านเสียงกลางให้ได้ยินโน้ตแบบออกเนื้อ เหมาะกัยสาย solo
เอฟเฟ็กต์กีตาร์ยังมีอีกหลายแบบให้เลือกใช้งาน แต่ถ้าจะให้แนะนำสำหรับมือใหม่เลยก็คงจะเป็นตัว Overdrive ก่อน เพราะยังไงก็ได้ใช้แน่นอน ลองปรับเล่นเอฟเฟ็กต์ดูแล้วจะรู้ว่าเสียงดนตรียังมีเซอร์ไพร์สให้เราอีกมากครับ