เช่าหรือซื้อบ้านดีกว่ากัน? ในยุคดอกเบี้ยสูงแบบนี้
เช่าหรือซื้อบ้านดีกว่ากัน? เทรนด์ในการเลือกอยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไป การซื้อบ้านเป็นของตัวเองอาจไม่ใช่ตัวเลือกเดียวและดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันคนรุ่นใหม่นิยม ‘เช่าบ้าน’ มากกว่า ‘ซื้อบ้าน’ จริงหรือไม่? เมื่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยก็พุ่งสูงแบบนี้ กลายเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะเช่าหรือซื้อบ้านดี ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มต้นสร้างเนื้อสร้างตัว หรือแม้แต่ครอบครัวที่กำลังขยายตัว ต่างก็ต้องเผชิญกับคำถามที่ท้าทายนี้อย่างแน่นอน
แล้วการเช่าหรือการซื้อบ้าน แบบไหนถึงคุ้มค่ามากกว่ากัน? ทั้งสองทางเลือกนี้มีข้อดีและข้อเสียที่ต้องพิจารณา โดยเฉพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงจนส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจและวางแผนทางการเงิน มาพิจารณาไปพร้อม ๆ กัน
แนวโน้มเศรษฐกิจแบบนี้ เช่าหรือซื้อบ้านดี
ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัว 1.9% ชะลอตัวจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565 โดยคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวในช่วง 2.2–3.2% ซึ่งลดน้อยลงจากค่ากลางการประมาณการที่ 2.7% นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ส่งให้ใครหลายคนที่กำลังตัดสินใจว่าจะเช่าหรือซื้อบ้านดีกว่ากันต้องเตรียมพิจารณาและวางแผนให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ในด้านการขอสินเชื่อก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ เพราะสำหรับคนที่อยากซื้อบ้านเป็นของตัวเองมีน้อยรายนักที่ซื้อด้วยเงินสด เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ส่วนมากจึงมักยื่นขอสินเชื่อในการซื้อบ้าน แต่เชื่อว่าในปัจจุบันหลายคนคงกังวลเกี่ยวกับ ‘หนี้ครัวเรือนของประเทศไทย’ ที่พุ่งไปสูงกว่า 90% ของ GDP ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตกว่า 69% ของบัญชีหนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูง ทำให้ต้องแบกภาระรายจ่ายเพื่อผ่อนต่อเดือนที่สูงมาก อาจก่อให้เกิดเป็นความเครียด ชักหน้าไม่ถึงหลัง จนเกิดเป็นหนี้เสีย (NPL : หนี้ที่ไม่ได้รับการชำระคืนตามข้อกำหนดตกลงกันตามสัญญา)
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเช่าบ้านและการซื้อบ้านต่างก็มีข้อดี-ข้อเสียไม่เหมือนกัน เรามาพิจารณาความเหมาะสมว่า…เช่าหรือซื้อบ้านดีกว่ากัน เพื่อประกอบการตัดสินใจของทุกคน
เช่าบ้านในยุคดอกเบี้ยสูง ดีกว่าอย่างไร?
1. การเช่าบ้านมีค่าใช้จ่ายคงที่และคาดการณ์ง่ายกว่า
การเช่าบ้านไม่ได้ใช้เงินก้อนใหญ่ ไม่ต้องแบกรับภาระหนี้สิน หรือการผ่อนชำระรายเดือนเท่ากับการซื้อบ้าน ช่วยให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายที่แน่อนได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงอัตราดอกเบี้ยในการผ่อนบ้านที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้มีอิสระทางการเงินมากกว่า
2. ลดภาระค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา
เมื่อเป็นผู้เช่าบ้านจะไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนของการบำรุงรักษาบ้านหรือค่าซ่อมแซมใหญ่ ๆ ที่เกิดจากอายุการใช้งาน สลับกันหากเป็นการซื้อบ้านค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเป็นการรับผิดชอบเองทั้งหมดและค่อนข้างที่จะสูงอีกด้วย
3. ความยืดหยุ่นในการย้ายที่อยู่
การเช่าบ้านมีความยืดหยุ่นสูงในการเปลี่ยนสถานที่อยู่อาศัย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคล่องตัว หากต้องการย้ายที่อยู่ ย้ายงานบ่อย หรือยังไม่แน่ใจว่าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ใดอย่างถาวร การเช่าบ้านถือว่าตอบโจทย์เลย
✅ ใครที่เหมาะกับการเช่าบ้าน
- ผู้ที่มีงบจำกัด
- ผู้ที่ต้องการความยืดหยุ่นในการย้ายที่อยู่
- ผู้ที่ไม่ต้องการแบกรับภาระค่าซ่อมบำรุง
ซื้อบ้านในยุคดอกเบี้ยสูง ดีกว่าอย่างไร?
1. ซื้อบ้านเป็นการลงทุนระยะยาว สร้างสินทรัพย์ส่วนตัว
แม้ว่าการซื้อบ้านเป็นของตัวเองจะมีค่าใช้จ่ายสูงและต่อเนื่อง แต่จะเป็นการสร้างสินทรัพย์ระยะยาว เมื่อผ่อนชำระจนครบ เราจะได้เป็นเจ้าของบ้านที่มีกรรมสิทธิ์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสามารถสร้างความมั่นคงในอนาคตได้ และที่สำคัญยังสร้าง Passive Income ได้อีกด้วย
2. เพิ่มมูลค่าทรัพย์สิน
ราคาบ้านและที่ดินและมีโอกาสเพิ่มมูลค่าในระยะยาว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความต้องการสูง ทำให้การซื้อบ้านเป็นการลงทุนที่มีโอกาสเติบโต นอกจากนี้การปรับปรุงให้เพื่อเพิ่มมูลค่าทั้งการรีโนเวทหรือตกแต่งทรัพย์สินยังช่วยส่งผลในอนาคตในการปล่อยเช่าหรือขายต่อได้ดี
3. ลดหย่อนภาษี
สำหรับการขอสินเชื่อเพื่อกู้ซื้อบ้าน สามารถใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีได้ เช่น การหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัย ทำให้ผู้ซื้อบ้านสามารถลดภาระภาษีบางส่วนได้ ถือเป็นผลพลอยได้ในการจัดสรรการเงินที่ดีเลย
✅ ใครที่เหมาะกับการซื้อบ้าน
- ผู้ที่มีความสามารถทางการเงินและจัดการภาระหนี้สินได้
- ผู้ที่มีความมั่นคงและมีแผนอยู่อาศัยระยะยาว
- ผู้ที่ต้องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อทำกำไรในอนาคต
เช่าหรือซื้อบ้านดีในยุคดอกเบี้ยสูงนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการและสถานการณ์ทางการเงินของแต่ละคน หากต้องการความยืดหยุ่นและไม่ต้องแบกภาระเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม การเช่าอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่า ในขณะเดียวกัน การซื้อบ้านก็เป็นการลงทุนระยะยาวที่สามารถสร้างมูลค่าในอนาคตได้แม้ต้องวางแผนการเงินเพื่อรองรับและเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงอย่างเหมาะสม