รู้จัก รถยนต์ไฟฟ้า คืออะไร ทำไมถึงเป็นทางเลือกใหม่ของคนรักษ์โลก
รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) อาจฟังดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับยุคนี้ แต่ความจริงแล้วรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของโลกเกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณปี 1900 แล้ว แต่เพิ่งจะได้รับความสนใจและมีการหันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 21 (ตั้งแต่ พ.ศ. 2544-2643) ด้วยหลักการทำงานที่ขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ น้ำมันหรือพลังงานอื่น ๆ ที่มีการเผาไหม้ จึงทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญเพื่อช่วยโลกให้สะอาดและน่าอยู่ขึ้น
วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกันว่ารถยนต์ไฟฟ้าคืออะไร แล้ว นอกเหนือจากเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ายังมีข้อดีอะไรอีกบ้าง
รู้จัก ‘รถยนต์ไฟฟ้า’
รถยนต์ไฟฟ้า คือ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากไฟฟ้า 100% โดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่ถูกเก็บไว้ในแบตเตอรีหรืออุปกรณ์เก็บพลังงานไฟฟ้าแบบต่าง ๆ หรือให้เข้าใจง่าย ๆ ก็เป็นการแปลงพลังงานจากแบตเตอรีมาใช้ในการขับรถ ไม่มีกลไกลอะไรซับซ้อนเหมือนรถยนต์ใช้น้ำมันที่ต้องอาศัยการจุดระเบิดเผาไหม้เพื่อขับเคลื่อน จึงทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีเครื่องยนต์เงียบ และไม่มีไอเสียจากการเผาผลาญพลังงาน และนอกจากรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีข้อดีอื่นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น
- ประหยัดค่าซ่อมบำรุง ค่าน้ำมัน เพราะใช้พลังงานมาทดแทนน้ำมันเชื้อเพลงที่นับวันมีแต่จะยิ่งมีราคาพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยความที่ไม่มีเครื่องยนต์ ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง การดูแลรักษาจึงง่ายและประหยัดกว่า
- อัตราเร่งให้แรงบิดที่เร็วทันใจแทบจะทันที เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ใช้เครื่องยนต์สันดาป ส่งผลให้การทำงานมีเสียงเบาเงียบกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน และทำให้มีอัตราการเร่งที่เร็ว ปราดเปรียว ตอบสนองความต้องการในการขับขี่ของผู้ขับได้ดั่งใจ
- ไม่เสียเวลาแวะเติมน้ำมัน โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งรีบตอนเช้าที่น้ำมันในถังใกล้จะหมดแล้วไม่มีเวลาแวะเติมหรือประเมินแล้วว่าขับไปไม่ถึงปั๊มแน่ ๆ แต่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถชาร์จแบตที่บ้านได้ เสียบชาร์จทิ้งไว้ระหว่างที่เราหลับ พักผ่อน พอตื่นเช้ามาก็สามารถใช้งานได้ทันที
ในปัจจุบันประเทศไทยเองก็มีการสร้างและพัฒนาสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าหรือสถานี EV Charger ในวงกว้างมากขึ้น หมดปัญหาหากรถแบตหมดระหว่างทาง สามารถแวะชาร์จตามสถานีที่ให้บริการได้เลย
ระบบของรถยนต์ไฟฟ้า แบ่งออกได้หลายประเภท ดังนี้
1. รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) – ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรีเพียงอย่างเดียว ไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน สามารถชาร์จไฟได้สม่ำเสมอ โดยใช้เวลาชาร์จประมาณ 6-8 ชั่วโมง สำหรับการชาร์จปกติ หรือ 2-4 ชั่วโมง สำหรับการชาร์จแบบเร็ว
2. อี พาวเวอร์ (E-Power) – เป็นเทคโนโลยีที่มีการผสมผสานการทำงานระหว่างระบบ Hybrid กับ EV ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยมีเครื่องยนต์ขนาดเล็กทำหน้าที่ปั่นกระแสไฟฟ้าเก็บไว้ที่แบตเตอรี แล้วส่งพลังงานไปยังมอเตอร์ไฟฟ้า หรือให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ พลังงานไฟฟ้าจะถูกสร้างขึ้นจากเครื่องยนต์ แต่ตัวรถจะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (แบบรถยนต์ไฟฟ้า EV) ไม่มีการชาร์จไฟ เพียงเติมน้ำมันก็ใช้งานได้ตามปกติแล้ว
3. รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) – มีรูปแบบการทำงานที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ผสมกับ พลังงานไฟฟ้า ระบบจะทำงานเองอัตโนมัติ โดยมอเตอร์จะช่วยออกตัวด้วยระบบไฟฟ้า ก่อนที่เครื่องยนต์จะทำงานต่อ หากในกรณีรถติดหรือรถหยุดนิ่ง ถ้ารถมีแบตเตอรีมากพอเครื่องยนต์จะดับ แล้วดึงไฟจากแบตเตอรีมาใช้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ไฟหน้ารถ แอร์ เครื่องเสียง
4. รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) – หนึ่งในรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริด ผสานระหว่างเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซล เข้ากับ แบตเตอรีขนาดใหญ่ที่ชาร์จไฟได้ ใช้เวลาชาร์จแบตเตอรีให้เต็มประมาณ 4-6 ชั่วโมง สามารถวิ่งได้โดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรีอย่างเดียวประมาณ 20-50 กิโลเมตร แต่ก็ยังสามารถกลับมาใช้ระบบไฮบริดที่ใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าได้
5. รถพลังงานไฮโดรเจน (Fuel Cell) – รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน (พลังงานสะอาด) มาแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อนำไปขับเคลื่อนให้รถยนต์แล่นไปได้ โดยในโครงสร้างจะมีแผงเซลล์เชื้อเพลิงที่เก็บไฮโดรเจนในรูปแบบของเหลว มอเตอร์ไฟฟ้าทำหน้าที่ขับเคลื่อนควบคู่กับการชาร์จกระแสไฟฟ้าและแบตเตอรี โดยมีหลักการทำงานคือ ส่งไฮโดรเจนและอากาศที่มีออกซิเจนเข้าไปสู่แผงเซลล์เชื้อเพลิง สร้างกระแสไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี แล้วกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรีก็จะถูกส่งไปที่มอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์
6. รถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว (Plug-in Electric Vehicle: PEVS) – คล้ายกับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ PHEV แต่จะมีแบตเตอรีขนาดใหญ่เป็นแหล่งพลังงานหลักเพียงอย่างเดียว เมื่อแบตเตอรีหมดจะต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จประจุใหม่ แยกตามการใช้งานได้ดังนี้
- รถยนต์ไฟฟ้าประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) ขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี 100% ไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่มีแบตเตอรีขนาดใหญ่ มีระยะทางการวิ่งที่จำกัด ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรีและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ในการใช้งานและเส้นทางการเดินทาง
- รถยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles: FCEV) เป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากการเติมเชื้อเพลิงภายนอก ไม่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศจากรถยนต์โดยตรง มีเพียงการปลดปล่อยน้ำเท่านั้น โดยโครงสร้างจะมีแบตเตอรี, แผงเซลล์เชื้อเพลิงหรือ Fuel Cell Stack, ถังแรงดันสูงเพื่อเก็บไฮโดรเจนในรูปแบบของเหลว, มอเตอร์ไฟฟ้า ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและชาร์จกระแสไฟฟ้า ส่วนหลักการทำงานจะส่งไฮโดรเจนและอากาศที่มีออกซิเจนเข้าไปสู่แผงเซลล์เชื้อเพลิง เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในแบตเตอรี จากนั้นกระแสไฟฟ้าจะถูกส่งไปที่มอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์
แนะนำรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขายในประเทศไทย 2020
พอพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า หลายคนคงจะนึกถึงแต่ Tesla เพราะถือเป็นแบรนด์ที่บุกเบินรถยนต์ไฟฟ้าเจ้าแรก ๆ เลย แต่สำหรับชาวไทยแล้วอาจจะยังเป็นเรื่องยากอยู่ในการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า Tesla เราจึงทำการรวบรวมรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขายในประเทศไทย ปี 2020 มาฝากกัน
รถยนต์ไฟฟ้า MG ZS EV ราคา 1,190,000 บาท
รถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf ราคา 1,990,000 บาท
รถยนต์ไฟฟ้า FOMM ONE ราคา 664,000 บาท
รถยนต์ไฟฟ้า Hyundai Ioniq Electric ราคา 1,749,000 บาท
รถยนต์ไฟฟ้า MINI Cooper SE ราคา 2,290,000 บาท
รถยนต์ไฟฟ้า Audi e-tron 55 quattro ราคา 5,099,000 บาท
รถยนต์ไฟฟ้า Jaguar I-Pace ราคา 5,499,000-6,999,000 บาท
รถยนต์ไฟฟ้า Porsche Taycan ราคาเริ่มต้นที่ 6,990,000 บาท
สำหรับใครที่เล็งจะเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนนะครับว่าเหมาะกับไลฟ์สไตล์การใช้งานของตัวเองหรือเปล่า และขอบอกไว้เลยว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าจะไปในทิศทางใดต่อไป แต่ที่สำคัญเลยคือการเป็นเจ้าของรถยนต์ต้องหมั่นดูแลรักษาให้ดี เราขอแนะนำ รักรถ ชอบรถ ต้องรู้ 7 วิธีการบำรุงรักษารถยนต์ ที่ถูกต้อง