รายการลดหย่อนภาษี 2567 เตรียมพร้อมก่อนหมดปี
ในช่วงปลายปีแบบนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่ามีเรื่องต่าง ๆ มากมายให้จัดการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปีใหม่ และหนึ่งในเรื่องที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนทุกคนไม่ควรมองข้ามคือ ‘การลดหย่อนภาษี 2567’ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยให้คุณประหยัดเงินไปได้ไม่น้อย หากรู้จักใช้สิทธิ์และมีวิธีการลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยให้คุณบริหารจัดการเงินได้ดียิ่งขึ้น และมีโอกาสได้รับผลประโยชน์จากมาตรต่าง ๆ ที่ทางรัฐกำหนด สำหรับปีนี้จะมีรายการไหนที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้บ้าง ไปดูกันเลย!
สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2567
ค่าลดหย่อนภาษี 2567 หมวดส่วนตัวและครอบครัว
- ลดหย่อนภาษีส่วนตัว
ลดหย่อนภาษีได้ทันที 60,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไข
- ลดหย่อนภาษีคู่สมรส
ลดหย่อนได้ 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น โดยคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ (สูงสุด 1 คน)
- ลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร
ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท (กรณีลูกแฝดนับเป็นครรภ์เดียว) โดยสิทธินี้ให้แก่ภรรยาที่มีรายได้ และหากภรรยาไม่มีรายได้ สามีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ในกรณีนี้ ทั้งนี้ครอบคลุมถึงค่ายา เวชภัณฑ์ และค่าดูแลในสถานพยาบาล
- ลดหย่อนภาษีบุตร
ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สำหรับบุตรที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปีที่กำลังศึกษาอยู่ หากเป็นบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยสิทธินี้ครอบคลุมบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ไม่จำกัดจำนวน แต่บุตรบุญธรรมจำกัดไม่เกิน 3 คน นอกจากนี้ หากบุตรมีอายุเกิน 25 ปี แต่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็สามารถลดหย่อนได้
- ลดหย่อนภาษีบิดามารดา
ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สำหรับการดูแลบิดามารดาที่อายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยใช้สิทธิ์ซ้ำระหว่างพี่น้องไม่ได้ สิทธินี้ครอบคลุมถึงพ่อแม่ของคู่สมรสด้วย ทำให้สามารถลดหย่อนได้สูงสุดถึง 120,000 บาทสำหรับการดูแลบิดามารดาทั้งสองฝ่าย (สูงสุด 4 คน) ทั้งนี้ ไม่ครอบคลุมพ่อแม่บุญธรรม
- ลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ
ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท สำหรับการดูแลผู้พิการที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการและหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ หากผู้พิการเป็นบิดามารดา บุตร หรือคู่สมรส สามารถลดหย่อนได้ทั้งสองส่วน เช่น คู่สมรสที่ไม่มีรายได้และเป็นผู้พิการ จะได้รับสิทธิลดหย่อนสูงสุด 120,000 บาท (รวมค่าลดหย่อนคู่สมรสและอุปการะผู้พิการ)
ค่าลดหย่อนภาษี 2567 หมวดประกัน เงินออม และการลงทุน
- เงินประกันสังคม
ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องเป็นประกันชีวิตที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และทำกับบริษัทประกันในประเทศไทย หากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าผิดเงื่อนไขและไม่สามารถนำมาลดหย่อนได้
- เบี้ยประกันสุขภาพของตัวเอง
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์แล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดาที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และสามารถรวมสิทธิลดหย่อนสำหรับประกันสุขภาพของพ่อแม่ของคู่สมรสได้ หากคู่สมรสไม่มีรายได้
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 15% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท (หรือ 300,000 บาท หากไม่มีการลดหย่อนจากเบี้ยประกันชีวิต) โดยเมื่อรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF: Retirement Mutual Fund)
ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท โดยสามารถใช้สิทธิ์กับกองทุน Thai ESG และกองทุน RMF รวมถึงกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ได้ด้วย
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF: Super Saving Funds)
ลดหย่อนได้ 30% ของรายได้รวมทั้งปี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับกองทุน SSF ต้องถือหน่วยลงทุนเกิน 10 ปีถึงจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้
- เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม)
ผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ Social Enterprise ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)
ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท โดยไม่ต้องนับรวมกับเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ และต้องถือหน่วยลงทุนเกิน 5 ปีขึ้นไป (นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน)
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับ กองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ร่วมกับประกันสังคมได้
- กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.)
ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ค่าลดหย่อนภาษี 2567 หมวดเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป
การบริจาคให้วัดหรือมูลนิธิต่าง ๆ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ดังนั้น จึงควรขอใบเสร็จทุกครั้งที่บริจาคเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ
ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ
- เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง
ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
ค่าลดหย่อนภาษี 2567 หมวดมาตรการรัฐ
- Easy e-Receipt
ลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท ตามที่จ่ายจริง สำหรับการซื้อสินค้าและบริการที่มีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยสินค้าที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ ได้แก่ สินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ (รวมถึง E-Book)
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย
ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง 2567
ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ซึ่งรวมถึงค่าบริการมัคคุเทศก์, ค่าแพ็กเกจทัวร์, ค่าที่พัก ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567
- ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567-2568
ลดหย่อนได้ 10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุก 1 ล้านบาท (รวม VAT แล้ว) รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท โดยจำกัดค่าก่อสร้างบ้านใหม่ไม่เกิน 1 หลัง สูงสุดไม่เกิน 10,000,000 บาท เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านใหม่ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568
ได้รู้กันแล้วว่ารายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง อย่าลืมตรวจสอบสิทธิ์ลดหย่อนให้เรียบร้อยที่เว็บไซต์กรรมสรรพากร เพื่อการวางแผนภาษีในปีนี้ให้พร้อมก่อนยื่นภาษีในปีหน้า