Search
Close this search box.
โรคฝันกลางวัน Maladaptive Daydreaming

โรคฝันกลางวัน อันตรายของการก้าวข้ามเส้นจินตนาการสู่การเพ้อฝัน

เคยรู้สึกไหม? กับการติดอยู่กับความคิดบางอย่างที่พยายามจะลืมหรือสลัดออกจากหัวเท่าไหร่ก็ทำไม่ได้ จนทำให้ความคิดนั้นเริ่มแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันและแยกออกจากความเป็นจริงไม่ได้ นี่อาจเป็นสัญญาณของ ‘โรคฝันกลางวัน’ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เรื่องสนุกสนาน แต่สามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตจริงได้อย่างคาดไม่ถึง

โรคฝันกลางวันคืออะไร

โรคฝันกลางวัน คือ

โรคฝันกลางวัน หรือ Maladaptive Daydreaming คือภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถแยกระหว่างโลกความจริงกับความฝันได้ จึงมักสูญเสียความเป็นตัวเองและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ชั่วขณะ ซึ่งบางครั้งอาจกินเวลาหลายชั่วโมง โดยอาการจะปรากฏในช่วงที่ตื่นไม่ใช่ขณะนอนหลับ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงเรียกโรคนี้ว่า

โรคฝันกลางวัน หรือ Maladaptive Daydreaming ได้รับการนิยามขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2002 โดยเอลี โซเมอร์ (Eli Somer) นักจิตวิทยาคลินิกชาวอิสราเอล แต่ขณะนั้นยังไม่ได้รับการระบุลงในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติการผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 5 ( DSM-5 ) เนื่องจากยังไม่ทราบถึงสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่ดูเหมือนว่าโรคฝันกลางวันจะพบได้บ่อยในผู้ที่มีความวิตกกังวล ซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต

โดยปัจจุบันแพทย์ระบุว่าโรคฝันกลางวันอาจเกิดจากกลไกการป้องกันตัวของร่างกายหลังจากเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือมีความเครียด วิตกกังวล และถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น เสียง กลิ่น หรือบทสนทนาที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้น จึงทำให้แสดงออกด้วยการไม่พูดคุยกับผู้คนรอบข้าง หรือละทิ้งสิ่งที่ทำ บางครั้งอาจแสดงพฤติกรรมหรือพูดตามตัวละครในจินตนาการโดยไม่รู้ตัว

อาการของโรคฝันกลางวัน

อาการ โรคฝันกลางวัน

โดยทั่วไปแล้วอาการของโรคฝันกลางวันจะแตกต่างกับการฝันทั่วไป และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาการของโรคฝันกลางวันมักปรากฏในหลายลักษณะ ดังนี้

  • ความฝันชัดเจน เป็นเรื่องเป็นราว และสมจริงกว่าฝันทั่วไป โดยเรื่องราวความฝันของคนที่เป็นโรคฝันกลางวันจะมีความซับซ้อน มีตัวละคร สถานที่ และเนื้อเรื่อง
  • แสดงออกทางสีหน้าและพฤติกรรม เพื่อตอบสนองเรื่องราวในความฝัน โดยที่ผู้ที่เป็นโรคฝันกลางวันมักจะไม่รู้ตัวว่ากำลังแสดงพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากโลกความจริง ซึ่งอาการเหล่านั้นอาจอยู่นานหลายนาทีถึงหลายชั่วโมง โดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมได้
  • จมอยู่กับความฝันจนตัดขาดกับทุกสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นผู้คนหรือกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเรียน การทำงาน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน จนทำให้ผู้ป่วยโรคฝันกลางวันประสบปัญหาในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
  • ประสบปัญหาการนอนหลับ เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคฝันกลางวันอาจจมอยู่กับเรื่องราวความฝันจนทำให้นอนหลับยาก และเรื่องราวความฝันอาจดำเนินต่อในขณะนอนหลับ จนทำให้คุณภาพในการนอนหลับลดลง จึงรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่สดชื่นหลังตื่นนอนในตอนเช้า
  • เริ่มเสพติดการฝันกลางวันและตั้งใจให้เกิดขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคฝันกลางวันอยากหลบหนีจากโลกความจริง และเข้าสู่โลกแห่งความฝันที่สวยงามกว่า นอกจากนี้ บางครั้งผู้ป่วยอาจรู้สึกหงุดหงิดหรือไม่พอใจหากไม่ได้ฝันกลางวันอีกด้วย
  • ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หลุดพ้นจากโรคฝันกลางวันได้ แม้จะพยายามลดหรือเลิกฝันกลางวัน เนื่องจากรู้สึกแย่กับอาการที่เกิดขึ้น แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้อยู่ดี

โรคฝันกลางวันอันตรายกว่าที่คิด

ผลกระทบ โรคฝันกลางวัน

หลายคนอาจมองว่าโรคฝันกลางวันเป็นเพียงจินตนาการหรือการหลุดเข้าไปในแห่งความฝันที่ไม่มีอันตรายใด ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคนี้อาจมีผลกระทบที่ซับซ้อนและรุนแรงต่อจิตใจ ร่างกาย และความสัมพันธ์ในอนาคต

  • ผลกระทบด้านจิตใจของโรคฝันกลางวัน

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการทำงานที่ผิดปกติของสมองอาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคฝันกลางวัน ซึ่งส่งผลต่อความทรงจำ ความเชื่อ และอารมณ์ ผู้ป่วยโรคฝันกลางวันจึงอาจประสบปัญหาในการตัดสินใจ เนื่องจากจมอยู่ในความฝันและมีความยากลำบากในการเผชิญหน้ากับความจริง ซึ่งอาจนำไปสู่ความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าในระยะยาว

  • ผลกระทบด้านร่างกายของโรคฝันกลางวัน

การพักผ่อนที่ไม่มีประสิทธิภาพจากโรคฝันกลางวัน อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ  เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึง อาจทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลียจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตโดยรวมลดลง

  • ผลกระทบด้านสังคมของโรคฝันกลางวัน

ผู้ป่วยโรคฝันกลางวันมักมีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เนื่องจากมีปัญหาในการจัดการอารมณ์ของตนเอง และรู้สึกว่าไม่สามารถเชื่อมต่อกับคนรอบข้างได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคฝันกลางวันยังมักจะปิดกั้นตนเองจากสังคมภายนอก และเลือกที่จะจมอยู่ในโลกแห่งความฝันแทน การแยกตัวออกจากสังคมเป็นเวลานานอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความโดดเดี่ยวและความเครียดเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว

การวินิจฉัยและรักษาโรคฝันกลางวัน

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการวินิจฉัยโรคฝันกลางวันได้โดยตรง แพทย์อาจใช้การทดสอบ Maladaptive Daydreaming Scale (MDS) เพื่อประเมินสัญญาณโรคฝันกลางวัน และอาจทำการวินิจฉัยร่วมกับโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD), โรคย้ำคิดย้ำทำ, ภาวะซึมเศร้า, ภาวะวิตกกังวล และโรคหลายอัตลักษณ์ (DID) เพื่อวิเคราะห์ว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคฝันกลางวันหรือไม่

นอกจากนี้ การรักษาโรคฝันกลางวันยังไม่มีวิธีการรักษาอย่างแน่ชัด ดังนั้น การรักษาโรคฝันกลางวันจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาฟลาโวซามีน (Fluvoxamine) ซึ่งเป็นยาสำหรับรักษาอาการย้ำคิดย้ำทำ (OCD) และการหาปัจจัยกระตุ้นเพื่อฟื้นฟูอาการ รวมถึงมุ่งเน้นไปที่การลดความเสี่ยงของการเกิดโรคฝันกลางวัน ซึ่งอาจทำได้โดยวิธีการ ดังนี้

วิธีป้องกัน โรคฝันกลางวัน
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพการนอน

การปรับเปลี่ยนนิสัยการนอนเป็นวิธีการที่ช่วยป้องกันโรคฝันกลางวันได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาจทำได้โดยการกำหนดเวลาเข้านอนที่แน่ชัดเพื่อสร้างกิจวัตรการนอนให้ร่างกายคุ้นเคย และควรให้เวลากับการพักผ่อนอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน

  • ลดความเหนื่อยล้า

ความเหนื่อยล้าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคฝันกลางวัน ดังนั้น การปล่อยให้ตัวเองได้รับแสงแดดธรรมชาติในช่วงกลางวัน การหลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนในปริมาณมาก หรือหากดื่มกาแฟก็ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนนอน เพื่อให้ร่างกายได้รับการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม

  • สำรวจตัวเองและทำความเข้าใจ

ลองสำรวจตัวเองอยู่เสมอว่ากำลังมีอาการโรคฝันกลางวันอยู่หรือไม่ อาจใช้วิธีการจดบันทึกลงสมุดเล็ก ๆ หรือโทรศัพท์ เพื่อสำรวจว่าอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคฝันกลางวัน และหลีกเลี่ยง

  • อยู่กับความเป็นจริง

วิธีการเริ่มต้นที่จะพาให้ตัวเองหลุดพ้นจากโรคฝันกลางวันได้ คือต้องมีสติอยู่กับปัจจุบัน พยายามควบคุมตัวเองเมื่อมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการฝันกลางวัน และตื่นตัวต่อสิ่งกระตุ้นที่อาจเกิดขึ้น เช่น ละคร บทสนทนา ความขัดแย้ง หรือเหตุการณ์คล้ายเดิม

  • ใจดีกับตนเอง

การยอมรับว่าโรคฝันกลางวันไม่ใช่ข้อบกพร่องเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะช่วยทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวเอง และค่อย ๆ ลดการถูกครอบงำจากโลกความฝันได้ จนสามารถเอาชนะโรคฝันกลางได้ในท้ายที่สุด

  • ทำกิจกรรมทางกาย

การทำกิจกรรมทางกายที่ต้องใช้สมาธิจดจ่อ เช่น การวาดภาพ การเขียนหนังสือ การทำงานประดิษฐ์ หรือถ่ายภาพ เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยดึงตัวเองออกจากโรคฝันกลางวันและอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น

  • ขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจ

หากการรับมือกับโรคฝันกลางวันเพียงลำพังเป็นเรื่องที่ยากเกินไป อาจมองหาการสนับสนุนจากคนรอบข้างที่ไว้ใจได้ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ และลดความรู้สึกโดดเดี่ยว

  • เข้ารับบำบัดทางจิตใจ

นอกจากการขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง การเข้ารับการบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญก็เป็นอีกแนวทางในการจัดการกับความรู้สึกบอบช้ำจากเหตุการณ์สะเทือนใจซึ่งเป็นต้นเหตุหลักของการเกิดโรคฝันกลางวัน

โรคฝันกลางวันอาจทำให้เรารู้สึกเหมือนหลุดพ้นจากโลกความจริงอันโหดร้าย แต่แท้จริงแล้วนั่นอาจเป็นกับดักแสนหวานที่ทำร้ายกายและใจเราอย่างรุนแรง การเข้าใจตนเองและรู้เท่าทันการป้องกันอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณหลุดพ้นจากโรคฝันกลางวัน และกลับสู่เส้นทางการใช้ชีวิตปัจจุบันที่ดีได้

SHARE

RELATED POSTS

ไม้พื้นเฌอร่า วัสดุทางเลือกสามารถทดแทนไม้จริงได้หรือไม่? เลือกไม้พื้นเฌอร่าดีไหม? คงเป็นคำถามของคนที่กำลังทำบ้านอยู่แล้วอยากตกแต่งสไตล์…