ทำความรู้จัก “Metaverse” แพลตฟอร์มใหม่
ในคอนเซ็ปต์ “โลกเสมือนจริง”
เมื่อไม่นานมานี้มีการประกาศครั้งใหญ่จาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่จะปรับเปลี่ยนชื่อและรีแบรนด์อย่าง Facebook ให้กลายเป็น Metaverse พร้อมกับฟังก์ชันใหม่ ๆ ในอนาคต และแพลนการพัฒนาอีกเพียบ ว่าแต่ Metaverse คืออะไร? วันนี้เราไปทำความรู้จักพร้อมกันเลยครับ
ถือว่าเซอร์ไพรส์และเป็นที่ตื่นตาตื่นใจต่อใครหลาย ๆ คน เพราะนี่อาจจะเป็นการก้าวไปอีกขั้นของวงการเทคโนโลยีในรอบหลายปี เพราะทาง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าของ Facebook ได้ทำการรีแบรนด์ไปในชื่อของ Metaverse โดยการปล่อยคลิปออกมาในชื่อ Connect 2021 : Our vision for the Metaverse เพื่อประกาศอย่างเป็นทางการ เพราะนี่ไม่ใช่การรีแบรนด์หรือเปลี่ยนชื่อแค่เพียงอย่างเดียว แต่ทาง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยังได้กล่าวว่าจะผลักดันโครงการนี้ภายใต้คอนเซ็ปต์จักรวาลโลกเสมือนจริงที่จะปรับเปลี่ยนโลกโซเชียลไปในทิศทางใหม่ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้
Metaverse คืออะไร?
Metaverse คือ โลกเสมือนจริงโดยการใช้ Interface ใหม่ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในโลกดิจิทัล โดยปกติเดิมจาก Facebook เป็นการพูดคุยกันผ่านทางข้อความ ภาพ และเสียง ที่ใช้สื่อสารกันโดยปกติ แต่สำหรับทาง Metaverse นั้นจะเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ที่จะทำให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ได้อย่างหลากหลายมากขึ้นและไม่มีที่สิ้นสุด เช่น การสร้างอวตารไปใช้ชีวิตในโลกโซเชียลมีเดียอย่างไร้ขีดจำกัด การได้ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานแม้ร่างกายจะอยู่บ้าน หรือการจับสิ่งของต่าง ๆ ที่ให้ความรู้สึกจริง ๆ ในโลกเสมือนจริงได้ด้วย
เจาะประเด็น Metaverse จะมีทิศทางอย่างไร
กลยุทธ์ในการสร้างโลกเสมือนจริง
เป็นคำถามที่ชวนสงสัยว่าทาง Metaverse จะมีลูกเล่นอะไรที่จะมาสร้างโลกใบใหม่ใน 10 ปีข้างหน้า ปัจจุบันทุกคนอาจจะมีประสบการณ์เคยสัมผัสโลกเสมือนจริงมาแล้วนั่นก็คือ VR Glasses ทั้งในวงการภาพยนตร์เองหรือ แม้กระทั่งวงการเกม ซึ่งเจ้าแว่น VR นี้จะเป็นแบบอย่างและต้นแบบของโปรเจกต์นี้ ซึ่งไม่แปลกอะไร เพราะทาง Metaverse เองก็เป็นเจ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มากมายรวมไปทั้ง Ocular VR Glasses ที่เคลมว่าเป็นแว่น VR ที่ดีที่สุดในโลกอยู่ตอนนี้เช่นกัน
เชื่อได้เลยว่าการรีแบรนด์ครั้งนี้ทาง Metaverse เอาจริง เอาจัง อย่างแน่นอน เพราะว่าการเปลี่ยนชื่อบริษัทที่มูลค่าทรัพย์สินมากมาย รวมทั้งทาง Facebook เก่านั้นก็ยังมีช่องทางต่าง ๆ ของโลกเทคโนโลยีที่สามารถลงทุน หรือสร้างกำไรได้ อาทิ การโฆษณา สตรีมเมอร์ หรือเพจต่าง ๆ เราลองคิดเล่น ๆ ว่าถ้านักลงทุนทั้งหลายมีช่องทางใหม่ ๆ ในการลงทุนในอนาคตอาจจะตอบโจทย์และล่อตาล่อใจนักลงทุนให้เข้ามาใน Metaverse เลยก็ว่าได้ เพราะการรีแบรนด์เป็นกลยุทธ์ทางตลาดอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าแบรนด์นั้นมีความนิ่งและไม่มีลูกค้าใหม่เพิ่ม ถ้าไม่เกิดการรีแบรนด์ หาลูกค้าใหม่ๆ หรือการพัฒนาอาจทำให้ Facebook หายไปจากวงการเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถมั่นใจได้ว่าโครงการ Metaverse มีความจริงจังในการพัฒนาอย่างแน่นอน เราอาจจะเห็นโลกเสมือนจริงภายใน 10 ปีนี้ก็ไม่แปลกอะไร
กระแสตอบรับของ “Metaverse”
แน่นอนว่าหลังประกาศเปิดตัวไปแล้ว ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ในมุมมองที่แตกต่างกันออกไปอย่างล้นหลาม กระแสตอบรับในทิศทางที่ดีของทาง Metaverse คงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของการตลาด และ การลงทุน ซึ่งถ้าโปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจริง ช่องทางธุรกิจตลาดใหม่ ๆ อาจเกิดอีกเยอะแยะมากมาย เราอาจจะได้เห็นอาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งแพลตฟอร์มใหม่ที่จะได้เห็นกิจกรรมบนโลกของ Metaverse สร้างสิ่งเซอร์ไพรส์ตามมาอีกมากมาย เพราะหลังจากประกาศรีแบรนด์หุ้นของทางบริษัทก็ขึ้นไปอีก 1.51 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีของ Metaverse ที่นักลงทุนเริ่มหันมาสนใจเพิ่มขึ้น เพราะว่าถ้าใครที่ถือ Cryptocurrency ต่าง ๆ เรียกได้ว่ามีแนวโน้มที่จะไปด้วยกันได้ดีมาก ๆ กับ Metaverse เลยทีเดียว
กระแสตอบรับในทิศทางลบ ก็มีพูดถึงกันอยู่บ้างในเรื่องของ การที่ Facebook มีความอิ่มตัวของตัวแบรนด์ ทำให้เกิดจุดวิเคราะห์ที่ว่า Metaverse อาจมีขึ้นเพื่อเบี่ยงเบนจุดสนใจในตลาดการลงทุนและหลัง ๆ ยังมีข่าวไม่ดีที่เกิดขึ้นจากทาง Facebook เช่น เรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน หรือเว็บล่มบ่อย และทาง Frances Haugen อดีตนักวิเคราะห์ของ Facebook ได้ออกมาแฉเพิ่มเติมว่า บริษัทคิดถึงแต่เรื่องของเม็ดเงินและผลกำไร และไม่เคยยึดมั่นกับคำว่าการสื่อสารเพื่อสังคมอย่างแท้จริง ทำให้การรีแบรนด์นี้ถูกมองว่าอาจจะไม่ได้ทำจริงจัง หรือถูกปล่อยทิ้งไว้ก็เป็นได้.
มาถึงตรงนี้แล้วรูปแบบการทำงานของ Metaverse นั้นวาดฝันใครต่อใครหลาย ๆ คนได้ดีเลยทีเดียว ใครที่ยังนึกภาพไม่ออกก็คงคล้ายกับภาพยนตร์เรื่อง “Ready Player One” ที่เรามีร่างอวตารไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในโลกเสมือนจริง เช่น การพูดคุย เล่นเกม พบปะสังสรรค์ ทำงาน เรียกได้ว่าเหมือนหลุดไปอยู่ในโลกของเกม และโลกอนาคตเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้แล้วทางพวกเราก็คงเฝ้าดูการพัฒนานี้ต่อไป ไม่แน่อาจจะไม่ถึง 10 ปี คงจะได้เจอกันใน Metaverse แล้วก็ได้… แต่ก็ต้องดูกันต่อไปยาว ๆ เพราะว่าทุกสิ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราอาจจะยังไม่รู้ข้อเสียของโครงการนี้ในอนาคตว่ามันจะใช้ได้จริงหรือไม่ ฉะนั้น พวกเราคงต้องคอยติดตามกันต่อไปกับโปรเจกต์นี้ว่าจะคลอดออกมาอย่างไร ทางพวกเราก็คงได้แต่เอาใจช่วย คุณมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ว่าจะทำให้พวกเราได้ยลโฉมวงการเทคโนโลยีอันน่าเหลือเชื่อนี้หรือไม่…