Search
Close this search box.
ช่องว่างระหว่างวัย GeneGap

เมื่อเรื่อง ‘ช่องว่างระหว่างวัย’
กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมผู้สูงอายุ

เป็นที่ทราบกันดีว่าคนแต่ละยุคเติบโตมาในสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกัน เมื่อ 3 ปัจจัยหลังที่เบ้าหลอมตัวตนของคนแต่ละยุคสมัยไม่เหมือนกัน ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ จึงกลายเป็นปัญหาหลักของสังคม ในช่วงที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มตัว และเป็นประเด็นที่ทำให้สมาชิกในบ้าน รู้สึกห่างเหินกันขึ้นทุกวัน

สาเหตุของปรากฏการณ์ช่องว่างระหว่างวัย

เมื่อผู้ใหญ่ในบ้านไม่ใช่ Role Model

เด็กรุ่นใหม่กำลังมองหาแรงบันดาลในการใช้ชีวิต มองหาคนที่ยอมรับข้อเสียของตัวเองได้ ไม่ได้มองหาบุคคลต้นแบบที่ปูมหลังสะอาดหมดจด พวกเขาจึงกล้าออกโรงต่อต้านหลายๆ เรื่องที่คนรุ่นเก่ามองว่าดี แต่กลับไม่ใช่เรื่องที่มีสาระสำคัญอะไร กับวิถีชีวิตในเจเนอเรชันของพวกเขา 

ซึ่งนั่นเองคือเหตุผลหลักที่ทำให้สื่อในยุคปัจจุบัน เข้ามามีอิทธิพลกับความคิดและแนวทางในการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก แม้บางสื่อจะมีรูปแบบเนื้อหาไม่ตรงตามครรลองคลองธรรมที่ผู้ใหญ่เห็นว่าดี แต่ด้วยเนื้อหาที่โดนใจ ก็ทำให้สื่อเหล่านี้สามารถเข้าไปนั่งในใจคนดูวัยเกรียนได้ไม่ยาก 

ช่องว่างระหว่างวัย

รูปแบบสังคมส่งผลต่อปัญหาช่องว่างระหว่างวัย

ไม่เพียงแต่ประเด็นเรื่องมุมมองความสุขของคนแต่ละเจเนอเรชันที่ต่างกัน ยังมีการศึกษาด้วยว่าสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยได้ด้วย อย่างในประเทศจีนนักวิเคราะห์เชื่อว่า นโยบายในอดีตอย่าง ‘One-Child Policy’ หรือนโยบายรณรงค์ให้ครอบครัวคนจีนมีลูกเพียงคนเดียวนั้น มีส่วนทำให้คนรุ่นใหม่ในแผ่นดินใหญ่ กลายเป็นคนประเภท ‘Spoiled Children’ หรือเด็กที่เติบโตมาด้วยการถูกพ่อแม่ตามใจ ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงดูที่เกิดกับบ้านที่มีลูกเพียงคนเดียว โดยเฉพาะบ้านที่ได้ลูกชาย 

การดูแลเช่นนี้เองที่มีส่วนหล่อหลอมให้คนจีนยุคใหม่ หันมาให้ความสำคัญกับการเป็นตัวของตัวเอง ปฏิเสธการทำงานหนัก และการอดออมเงินเพื่ออนาคต แต่จะเลือกวิธีหารายได้ที่ได้มาง่ายและรวดเร็ว รวมถึงมองการไกลในเรื่องการลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งทางเลือกในการทำงานที่มากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้หนุ่มสาวชาวจีนกล้าฟุ้งเฟ้อมากกว่าคนรุ่นบรรพบุรุษ และเปลี่ยนภาพลักษณ์คนจีนรุ่นก่อนที่สมถะ มานะ และอดทนเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวไปไม่น้อย อย่างไรก็ตามเรากลับปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพสะท้อนสังคมยุคใหม่ของจีน คือสิ่งที่อธิบายแนวคิดของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกได้เช่นกัน และด้วยความแตกต่างของคนแต่ละเจเนอเรชันนี่เอง ทำให้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย เป็นเรื่องน่ากังวลใจของหลายครอบครัว

รูปแบบสังคมส่งผลต่อปัญหาช่องว่างระหว่างวัย

ทางออกของปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ที่คนทุก GEN ต้องร่วมมือ

เข้าใจและนับถือตัวตนซึ่งกันและกัน

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะพ่อแม่ คุณตาคุณยาย หรือลูกหลาน ย่อมต้องตระหนักเสมอว่าการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสถานการณ์ มีแต่จะสร้างความขัดแย้งตามมา ทางออกคืออย่าลืมนึกถึงตัวตนของผู้อื่นให้มากขึ้น เพื่อหาเหตุผลให้กับการกระทำที่แตกต่างกัน ตลอดจนเรียนรู้ที่จะเคารพผู้อื่นด้วย

รับฟังความเห็นต่างจากคนวัยอื่น 

คนเรามักมีวิธีจัดการปัญหาที่แตกต่างกัน ตามประสบการณ์ในการใช้ชีวิต ลองปรับตัวให้เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ และเป็นลูกหลานที่น่าเอ็นดู ด้วยการเป็นผู้ฟังที่ดีกว่าเดิม แล้วให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาอย่างเป็นกลาง โดยไม่ลืมที่จะพิจารณาถึงมุมมองของอีกฝ่ายอย่างเปิดใจด้วย

ช่องว่างระหว่างวัย

อนุญาตให้คนในบ้านมีส่วนร่วมในโลกของคุณ

การมีโลกส่วนตัวสูงส่วนใหญ่มักเกิดกับคนรุ่นลูกหลาน จนบางครั้งทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเกิดน้อยใจ หนักเข้าอาจกลายเป็นการทะเลาะกันจนมองหน้ากันไม่ติด พลอยทำให้เว้นระยะห่างจากกันไปเรื่อยๆ ทางออกของปัญหาที่ดีคือ หมั่นเติมความสุขด้วยการแชร์โลกของกันและกันให้อีกฝ่ายได้รับรู้ และเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่ของคุณบ้าง เช่น หลานๆ ชวนคุณตาคุณยายมารู้เทคโนโลยี ส่วนพ่อแม่ก็ปลูกฝังให้เด็กในบ้านเข้าวัดทำบุญร่วมกัน

หากิจกรรมทำร่วมกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์

การใช้เวลาร่วมกันเป็นอีกหนึ่งเทคนิคช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยได้ดี และช่วยให้ได้เรียนรู้ตัวตนกันและกันมากขึ้น โดยอาจเริ่มง่ายๆ จากการหาเวลานั่งทานข้าวแบบพร้อมหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้พูดคุยถึงเรื่องราวดีๆ ร่วมกัน ไม่แน่พอคุยกันจนติดลมอาจมีไอเดียออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม 

ภาพรวมทางสังคมของคนแต่ละเจเนอเรชัน ทำให้เราเห็นภาพชัดเลยว่า เป้าหมายในการใช้ชีวิตของคนสองวัยนั้นอาจไม่ต่างกัน แต่วิธีการเดินทางสู่เป้าหมายบางครั้งอาจดูเหมือนเหรียญสองด้าน ฉะนั้น การหาทางออกร่วมกันจึงเป็นหน้าที่ที่คนทุกวัยในครอบครัวต้องช่วยกันถมช่องว่างระหว่างวัย

SHARE

RELATED POSTS