Search
Close this search box.
ร่างทรง

เจาะลึกหนัง ร่างทรง” Vs “จิตวิทยาความเชื่อ ศรัทธา หรืออาการทางจิต

ถ้าจะให้พูดถึงภาพยนตร์แนว Horror/Supernatural แห่งปี 2021 ที่มาแรงมาก ๆ ในประเทศไทย รวมทั้งต่างประเทศก็คงจะหนีไม่พ้นภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่มีกระแสตอบรับดีเป็นอย่างมาก

ภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ ขึ้นแท่นเข้าชิงรางวัล Oscar อีกด้วย โดยเรื่องนี้เป็นความภาคภูมิใจของวงการภาพยนตร์ไทยที่กำกับโดย คุณโต้ง บรรจง และยังรวมทั้ง นา – ฮงจิน โปรดิวเซอร์ชื่อดังจากประเทศเกาหลีที่มาร่วมกันรังสรรค์ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาได้อย่างลงตัว สร้างความหลอนได้อย่างเข้มข้น จนคอหนังผีต้องร้องเป็นเสียงเดียวกันว่าน่ากลัวสุด ๆ ยิ่งคอหนังผีชาวไทยยิ่งอินไปกับบรรยากาศ วัฒนธรรม ที่คุ้นเคยและพบเห็นกันได้อยู่บ่อยครั้ง

‘ร่างทรง’ เดินเรื่องไปในแนวของ Mockumentary (การเล่าเรื่องคล้ายแนว Documentary แต่ต่างกันที่เนื้อเรื่องจะถูกแต่งขึ้นมา) ทำให้บรรยากาศ การเล่าเรื่องที่หยิบยกขึ้นมาเข้าถึงคนดูได้ง่ายมาก ๆ อีกทั้งอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ถ้ายิ่งเป็นคนไทยที่ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วนั้นจะอินเอามาก ๆ ด้วยวัฒนธรรม ความเชื่อ รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่ใกล้ตัว เรียกได้ว่าเหมือนหลุดไปอยู่ในหนังเรื่องนี้จริง ๆ

ซึ่งทาง คุณโต้ง บรรจง อยากให้หนังภาพยนตร์ ‘ร่างทรง’ เกิดการคิดตาม ถกเถียงกันในเรื่องของความเชื่อ วัฒนธรรม ออกมาเสนอในแง่มุมต่าง ๆ ข้อคิดนัย ของภาพยนตร์เรื่องนี้

วันนี้ทาง Thomas Thailand อยากนำเสนอหนังภาพยนต์เรื่อง ‘ร่างทรง’ ในแนวคิดเชิงจิตวิทยาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ที่มีจริง หรือแค่หลักการของโรคทางจิตชนิดหนึ่ง

*ทั้งนี้ เนื้อหาต่อไปนี้อาจมีสปอยล์ และควรใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยนะครับ*

‘ร่างทรง’ ไสยศาสตร์ ความลี้ลับตรงหน้ามีจริง หรือแค่หลักการของวิทยาศาสตร์ และโรคทางจิต

ร่างทรงไสยศาสตร์ ความลี้ลับตรงหน้ามีจริง
หรือแค่หลักการของวิทยาศาสตร์ และโรคทางจิต

ภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ ดำเนินเรื่องในแนวสารคดีที่เกี่ยวกับร่างทรง โดยผู้เดินเรื่องหลักมี “ป้านิ่ม” ที่เป็นร่างทรงย่าบาหยันของตระกูลที่สืบทอดต่อกันมา และ “มิ้ง” ผู้ที่รอสืบทอดการเป็นร่างทรงของตระกูล (หรือเปล่า?) โดยทุกคนอยู่ในตระกูล “ยะสันเทียะ” หรือผู้เกี่ยวข้องจะค่อย ๆ คลายปมเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งร่างทรงที่สืบทอดต่อกันมา ความเชื่อ เวรกรรม บาป คำสาปแช่ง การผิดศีลธรรม และสิ่งเหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับ “ตระกูลยะสันเทียะ”

ซึ่งการเปลี่ยนไปของ มิ้ง ทำให้คนดูระทึกไล่ลำดับไปเรื่อย ๆ ว่าที่สิงอยู่ร่างของมิ้งนั้นใช่ ‘ย่าบาหยัน’ หรือใครกันแน่ที่กำลังสิงร่างของมิ้งอยู่ วันนี้เราจะมาพูดถึงในอีกแง่นึงที่นอกจากเรื่องไสยศาสตร์ นั่นก็คือหลักจิตวิทยาในแต่ละเหตุการณ์ว่ามีอะไรที่เกี่ยวโยงกับอาการเหล่านี้ได้บ้าง (เนื้อหาต่อไปนี้มีสปอยล์)

- การตายของ “ป้านิ่ม” มาจาก “กรรมพันธุ์” หรือคำสาปแช่ง ความแค้นจากวิญญาณ ?

การตายของป้านิ่มมาจากกรรมพันธุ์ หรือคำสาปแช่ง ความแค้นจากวิญญาณ ?

เรื่องราวดำเนินมาจนถึงวันที่จะทำพิธีไล่ผีออกจากตัวมิ้ง แต่เหตุไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อป้านิ่มป้าคนเดียวที่เป็นที่พึ่งเรื่องไสยศาสตร์ได้ตายอย่างไม่ทราบสาเหตุในบ้านของตัวเอง

ความเชื่อ : การที่จะช่วยมิ้งที่โดนเข้าสิงจากวิญญาณอาฆาตได้ก็คือ การทำพิธีจากป้านิ่มเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่เป็นที่พึ่งของคนในบ้าน แต่กลับต้องตายจากไปอย่างไม่ทราบสาเหตุก่อนจะเริ่มพิธี โดยหลักความเชื่อจะเป็นในเรื่องของ “ตระกูลยะสันเทียะ” ได้โดนคำสาปแช่งจากผู้คน รวมทั้งบาปกรรมที่ได้ก่อไว้มากทั้งคนและสัตว์ ทำให้เหล่าวิญญาณอาฆาตต่าง ๆ ไม่ยอมที่จะให้ใครมาขัดขวางคำสาปนี้ได้

วิทยาศาสตร์ : ในเส้นเรื่องของ ‘ร่างทรง’ ทางทีมงานในหนังมีการสัมภาษณ์ป้านิ่ม รวมทั้งป้าน้อย (น้องสาวป้านิ่ม) ว่าป้านิ่มนั้นมี “อาการเป็นลมหมดสติไปโดยไม่ทราบสาเหตุ” ซึ่งในเรื่องก็โยงว่าเป็นการสืบทอดร่างทรงของตระกูล แต่ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาการรูปแบบนี้เป็นจุดเริ่มต้นของโรคประจำตัวที่มีชื่อว่า Brugada Syndrome หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้เกิดการไหลตาย หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคที่ส่งต่อทางพันธุกรรม โดยไม่มีภาวะเสี่ยงอื่น ๆ

- การเปลี่ยนไปจนคลุ้มคลั่งของ มิ้ง มาจากผีเข้า หรือ ปัญหาครอบครัวต่างหากที่สร้างความเครียด ?

การเปลี่ยนไปจนคลุ้มคลั่งของ มิ้ง มาจากผีเข้า หรือ ปัญหาครอบครัวต่างหากที่สร้างความเครียด ?

ภาพยนตร์ ‘ร่างทรง’ พยายามจะสื่อถึง มิ้ง ที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไล่ลำดับทวีความรุนแรงจนสติหลุดไม่เป็นตัวของตัวเอง จนสุดท้ายแล้วนั้นเป็นการถูกเข้าสิงแบบ 100%

ความเชื่อ : อาการนี้คืออาการผีเข้าด้วยสาเหตุที่มีมากมาย เช่น การผิดผี โดนคุณไสย และคำสาปแช่งจากผู้คน รวมถึงมิ้งมีนิสัยเก็บของไม่ดี ของต่ำ ที่ไม่ควรเก็บมาไว้ที่บ้านอยู่หลายอย่าง ทำให้การถูกแทรกแซงด้วยวิญญาณร้ายก็สามารถเข้าถึงตัวเธอได้ง่าย

วิทยาศาสตร์ : ครอบครัวของมิ้งไม่ได้สมบูรณ์ ทำให้มิ้งเริ่มมีอาการเปลี่ยนไปตั้งแต่เสียคุณพ่อที่เป็นที่รัก รวมทั้งก่อนหน้านี้ยังเสียน้องชายที่ตนรักมาก ๆ ไปอีก ยังไม่รวมถึงการกระทำของ น้ามานิต น้าชายคนเดียวในบ้านที่มีพฤติกรรมส่อถึงการคุกคามทางเพศ ทั้งหมดนี้อาจเป็นแหล่งสะสมความเครียดจนทำให้มิ้งขาดสติจนกลายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชที่เรียกว่า Possession Syndrome และกลายเป็นอีกคนไปโดยปริยายนั่นเอง

- สิ่งที่เกิดขึ้นกับ มิ้ง คือจุดเริ่มต้นของการเป็นทายาทร่างทรง หรือโรคชนิดหนึ่ง

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘มิ้ง’ คือจุดเริ่มต้นของการเป็นทายาทร่างทรง หรือโรคชนิดหนึ่ง

ความเชื่อ : การที่มิ้งเริ่มมีประจำเดือนมามากผิดปกติ อาการชักกระตุก หูแว่ว อารมณ์หงุดหงิดง่าย ในภาพยนตร์ ‘ร่างทรง’ ได้กล่าวถึงอาการเหล่านี้ว่าเป็นอาการก่อนการรับสืบทอดร่างทรงต่อจากคนในตระกูล รวมไปถึงการที่มิ้งมีอาการโทรม ผอมซีด ซึ่งก็คืออาการผีเข้าเพราะ อดข้าว อดน้ำ วิญญาณร้ายกำลังกลืนกินร่างกายของมิ้งไป

วิทยาศาสตร์ : NMDA Encephalitis เป็นอาการโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งตรงกับวัยของมิ้ง หลังจากนั้นคนไข้จะเหม่อลอย มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป อาละวาด ชักเกร็งกระตุก ส่วนสาเหตุอาการโทรม ผอมซีดของมิ้งนั้นเกิดมาจาก โรคซิฟิลิส หรืออาจจะเป็น HIV เนื่องมาจากในภาพยนตร์ มิ้งมีพฤติกรรมทางเพศที่สุ่มเสี่ยงต่อโรคพวกนี้เป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน

- การเข้าทรงของลูกศิษย์โดยพร้อมเพรียงกันในอาศรมเป็น “การเข้าทรงที่แท้จริง หรือการเหนี่ยวนำชักจูงทางจิต”

การเข้าทรงของลูกศิษย์โดยพร้อมเพรียงกันในอาศรมเป็น การเข้าทรงที่แท้จริง หรือการเหนี่ยวนำชักจูงทางจิต

ความเชื่อ : ไม่ว่าจะในภาพยนตร์หรือในชีวิตจริง การเข้าทรง ที่พร้อมเพรียงกันในสำนักต่าง ๆ ก็มีภาพแบบนี้ให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งหมดทางความเชื่อเป็นการอัญเชิญเทพในตัวของแต่ละคนลงมาเพื่อรับพร แสดงอิทธิฤทธิ์ สร้างสิริมงคลให้แก่ตนเอง หรือเพื่อถือศีลต่าง ๆ 

วิทยาศาสตร์ : อาการเหล่านี้เรียกว่า Shared Psychotic Disorder ลักษณะของโรคนี้มักจะมีผู้ชักจูงที่เป็นผู้นำ โดยคนที่จะถูกชักจูงส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเฉพาะ เช่น คนที่ไม่มีความรู้เยอะ หรือมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้นำมาก ๆ เช่น การไว้เนื้อเชื่อใจ ความน่าเชื่อถือก็สามารถถูกชักจูงได้ง่าย หรือครอบครัว

- วิญญาณตามติด หรือภาพหลอนที่อาจจะคิดไปเอง

วิญญาณตามติด หรือภาพหลอนที่อาจจะคิดไปเอง

ความเชื่อ : ในเนื้อเรื่องเริ่มต้น ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งหมดนั้น มิ้ง ได้เห็นภาพหลอนคุณยายท่านหนึ่งที่มาคอยมองมิ้งในงานศพ และตามสถานที่ต่าง ๆ แถมยังมีวิญญาณหญิงสาวนิรนามโผล่มาให้เห็นด้วยก่อนที่มิ้งจะมีอาการพูดคนเดียว ทำตัวแปลก ๆ ความเชื่อจะสื่อให้เห็นว่า การที่ได้เห็นวิญญาณก่อน จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดโลกที่ 3 ให้วิญญาณจะถึงตัวได้ง่าย รวมถึงอาจจะมีวิญญาณที่ดีหรือไม่ดีตามติดมาในชีวิตจากการกระทำต่าง ๆ

วิทยาศาสตร์ : อาการที่เห็นภาพหลอน คุยคนเดียว ทางด้านจิตเวชกล่าวไว้ว่า “การที่เห็นผี หรือวิญญาณอาจจะมีอยู่จริง แต่การที่ได้พูดคุย สื่อสารเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีโอกาสเข้าข่ายอาการทางจิตที่เรียกว่า Visual Hallucination (การเห็นภาพหลอน) หรือ Auditory Hallucination (อาการหูแว่ว) เป็นการทำงานที่ผิดแปลกไปของระบบประสาทบริเวณสมองที่เรียกว่า Mesolimbic pathway เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ติดสารเสพติด ซึ่งมิ้งอาจเข้าข่ายสถานการณ์นี้ทั้งหมด เนื่องมาจาก ความเครียดสะสม สูบบุหรี่ และการปาร์ตี้ที่ได้เห็นในภาพยนตร์อาจจะสื่อไปในทิศทางนี้ก็ได้ อีกทั้งยังมีอีกมุมหนึ่งที่ชวนคิดว่า คุณยายที่มายืนมองอาจจะเป็นคนอยู่ไม่ใช่ผีสางอะไรก็ได้

- การโดนเข้าสิงช่วงกลางคืนเพราะผี หรือ แค่โรคละเมอที่สร้างวิญญาณร้ายขึ้น

การโดนเข้าสิงช่วงกลางคืนเพราะผี หรือ แค่โรคละเมอที่สร้างวิญญาณร้ายขึ้น

ความเชื่อ : แน่นอนนี่คือฉากที่หลอนสุด ๆ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ ที่เมื่อตกดึกในเวลาที่ทุกคนเข้านอน มิ้งมักจะออกมาเดินในทำตัวประหลาด ๆ ในบ้าน รื้อข้าวของ เข้าไปอยู่ในซอกหลืบ รวมทั้งไปยืนมองคนในบ้าน ทำหน้าตาแปลก ๆ แน่นอนอาการแบบนี้ในทางความเชื่อคือ “อาการผีเข้า”

วิทยาศาสตร์ : หลักวิทยาศาสตร์มักจะมีคำตอบเสมอ เมื่อเทียบกับอาการที่กล่าวมาข้างต้น อาการเหล่านี้ถูกจัดว่าเป็นอาการทางจิตที่เรียกว่า การนอนละเมอ และมีพฤติกรรมแปลก ๆ ขณะหลับ (Parasomnia) โดยจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ ผิดเวลา ความเครียด และพันธุกรรม ซึ่งบ้านของมิ้งเป็นบ้านที่สืบทอดเรื่องร่างทรงก็ไม่ผิดแปลกอะไรที่จะเชื่อแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้ว อาจจะเป็นระบบทางพันธุกรรมที่มีมาแต่เนิ่นนาน รวมทั้งความเครียดสะสมต่าง ๆ อาจทำให้เก็บไปฝันละเมอ ปรุงแต่งเรื่องราวจนตนเองละเมอ ออกมาในรูปแบบนี้ก็ได้ ซึ่งนอกจากในภาพยนต์ก็มีเคสให้เห็นกันเยอะมากกับการที่เดินละเมอออกมานอกบ้านจนเกิดอันตราย

ร่างทรง

จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เล่ามานั้นเป็นแนวคิดในเชิงความเชื่อ และวิทยาศาสตร์ที่นำมาเปรียบเทียบกัน ด้วยเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ ทาง คุณโต้ง บรรจง ได้มีคอนเซ็ปต์ภาพยนตร์ ที่อยากให้เปิดเป็นมุมกว้าง เกิดการถกเถียงอย่างมีนัย ซึ่งก็ถือว่าตอบโจทย์ได้ดีมากทีเดียว ทำให้ทางคนดูอย่างเรา ๆ คิดต่อยอดไปได้ต่าง ๆ นา ๆ เป็นวงกว้าง เกิดคำถามมากมายในหัว

รวมทั้งเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนถึง ศรัทธา ความเชื่อ ของตัวมนุษย์เราเอง ที่ทางภาพยนตร์สะท้อนกลับมาได้อย่างเจ็บแสบด้วยการเล่นกับความศรัทธาในมุมมองที่ว่าวันใดวันหนึ่ง ศรัทธาและความเชื่อของเรากลับพึ่งพาไม่ได้อีกต่อไปจะเป็นอย่างไรต่อ ซึ่งถือว่าเป็นการทำภาพยนตร์ที่กล้าเล่นเอามาก ๆ

สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นด้านความเชื่อ หรือวิทยาศาสตร์ ก็อยากให้ทุกท่านที่อ่านได้ใช้วิจารณญาณอย่างถี่ถ้วน… ถ้าเชื่อสิ่งไหนแล้วทำให้เราเดินหน้าใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ อย่างนั้นแหละที่คือคำตอบของภาพยนตร์ชีวิตจริงครับ

SHARE

RELATED POSTS

รวมฮิตการ์ตูนญี่ปุ่นสุดโปรดที่คนยุค 90’s จะต้องคิดถึง การ์ตูนญี่ปุ่นสมัยใหม่แม้จะมีให้เลือกชมมากมายและเข้าถึงผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างง่ายดาย…