Search
Close this search box.
UPTIS นวัตกรรมยางรถยนต์ไร้ลม

‘UPTIS’ นวัตกรรมยางรถยนต์ไร้ลม
ความปลอดภัยที่เหนือกว่าบนท้องถนน

ยางรถยนต์ทั่วไปขับเคลื่อนได้ดีก็ต่อเมื่อ มีการอัดแรงดันลมยางเข้าไปในปริมาณที่เหมาะ แต่ปัญหามักเกิดจากผู้ขับขี่ไม่รู้แน่ชัดว่า ค่าแรงดันลมยางที่เหมาะสมคือเท่าไรกันแน่! แม้จะมีคู่มือแนะนำแต่เราต่างต้องใช้รถในกรณีที่ต่างกัน บ้างเดินทางไกล บ้างบรรทุกหนัก บ้างขับหน้าฝน บ้างเลี่ยงการเติมลมตอนยางยังร้อนจัดไม่ได้ ทำให้กะค่าแรงดันไม่ถูก หลากหลายปัญหาเหล่านี้กลายมาเป็นข้อมูลตั้งต้นให้ Michelin ค่ายยางรถยนต์ระดับโลก และ General Motors (GM) ค่ายรถยนต์จากสหรัฐอเมริกา ร่วมกันคิดค้นยางรถยนต์รูปแบบใหม่ เพื่อปลดล็อกทุกปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยางแบบเติมลม จนเกิดเป็น ‘UPTIS’ หรือ ‘ยางรถยนต์ไร้ลม’

การทำงานของ UPTIS ยางรถยนต์ไร้ลม

UPTIS คือชื่อรุ่นยางรถยนตร์ไร้ลมจาก Michelin ย่อมาจากชื่อเต็มคือ ‘Unique Puncture-proof Tire System’ มีลักษณะเป็นล้อยางแบบกลวง ตรงกลางออกแบบให้เป็นซี่ยางเรียงตัวซ้อนกันถี่ ๆ
ซึ่งผลิตขึ้นด้วยระบบเจาะยางแบบพิเศษ ช่วยให้ล้อยางมีความยืดหยุ่น วิ่งได้ดีบนหลากหลายพื้นผิว ไม่ว่าจะเป็นพื้นถนนยางมะตอย, พื้นดิน และพื้นผิวที่ขรุขระ โดยไม่ต้องเติมลม แม้จะเหยียบของมีคม เช่น ตะปู เศษแก้ว หรือเศษหิน ก็ไม่ทำให้เกิดรอยรั่วและไม่ยุบตัว (ยางแบน) เหมือนยางเติมลมทั่วไป 

นอกจากนี้ผู้ผลิตยังยืนยันด้วยว่ายางรถยนต์ไร้ลมที่ออกแบบมา มีความแข็งแรง ทนทาน และรองรับน้ำหนักตัวรถพร้อมสัมภาระที่บรรทุกได้ดีไม่แพ้ยางเติมลมทั่วไป โดยวัสดุหลักที่ใช้ผลิตยางรุ่นนี้ทำจาก ยางคอมโพซิต (composite rubber), ยางเรซิ่นยืดหยุ่นสูง (high-strength resin),
และพลาสติกไฟเบอร์กลาส (embedded fibreglass) 

ทั้งนี้ UPTIS คือวิวัฒนาการของเทคโนโลยียางรถยนต์ ที่ต่อยอดมาจากเทคโนโลยีล้อยางไร้ลมที่มีชื่อว่า ‘Tweel’ ซึ่ง Michelin เคยพัฒนาเอาไว้ในอดีต โดย Tweel เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าหลักคือ กลุ่มรถ ATV, รถกอล์ฟ, รถไถกลบ และรถที่ใช้ในกลุ่มงานปรับสภาพพื้นผิวอีกหลายประเภท แต่สำหรับ UPTIS ดูเหมือนจะเป็นยางรถยนต์ไร้ลมรุ่นแรก ที่ออกสู่ท้องถนนสาธารณะอย่างเต็มตัว กลายเป็นนวัตกรรมยางรถยนต์ไร้ลมแห่งการใช้งานได้จริง

UPTIS นวัตกรรมยางรถยนต์ไร้ลม

เป้าหมายที่หลากหลายของยางรถยนต์ไร้ลม

นอกเหนือจากการปลดล็อกปัญหาในการใช้ยางแบบเติมลม Michelin ยังมุ่งหวังให้ UPTIS แก้ไขปัญหาจากการใช้ยางรถยนต์ในอีกหลากหลายมิติ

ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง

จากประสบการณ์ใช้รถใช้ถนน พวกเราคงทราบกันดีว่าเวลาที่อุบัติเหตุยางรั่ว ยางแบน และยางระเบิดนั้นมีโอกาสเกิดได้บ่อย และทำให้ผู้ขับขี่ต้องเสียค่าซ่อมสูงเสมอ UPTIS จึงมุ่งแก้ปัญหานี้ด้วย เพราะยางไร้ลมตัวนี้ผ่านการออกแบบมาให้ลุยกับพื้นผิวขรุขระได้เต็มที่ แม้จะมีวัสดุแหลมคมฝังตัวเข้าไปในล้อ รถก็ยังวิ่งต่อบนท้องถนนได้แบบสบาย ๆ

UPTIS นวัตกรรมยางรถยนต์ไร้ลม

ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

ยางรั่ว ยางแบน ยางระเบิด เป็นสาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุได้เช่นกัน เพื่อลดอัตราการเกิดเหตุไม่คาดฝันบนท้องถนน ผู้ผลิตจึงมุ่งออกแบบ UPTIS ให้มีประสิทธิภาพสูง ยืดหยุ่น ยึดเกาะถนนได้แน่น ทรงตัวและเข้าโค้งได้ดี เพื่อให้นวัตกรรมยางรถยนต์ไร้ลมสามารถใช้แทนยางรถยนต์ในรูปแบบปกติได้อย่างไร้ที่ติ

UPTIS นวัตกรรมยางรถยนต์ไร้ลม

ลดขยะจากยางรถยนต์ที่เสื่อมสภาพ

ทีมงานผู้ทดลองยางชนิดนี้ระบุว่าหากยาง UPTIS ถูกนำไปใช้จริงอย่างเต็มรูปแบบ จะช่วยลดปริมาณขยะจากล้อยางที่เสื่อมสภาพ เพราะการใช้งานและการบำรุงรักษาผิดวิธีในแต่ละปีลงได้ถึง 20% หรือประมาณ 200 ล้านเส้นทั่วโลก นอกจากนี้ยังช่วยลดมลพิษจากกระบวนการกำจัดขยะประเภทยางรถยนต์ลงได้อีกด้วย ซึ่งนั่นย่อมเกี่ยวโยงไปถึงการลดปริมาณการผลิตยาง และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ลงตามไปด้วย 

UPTIS นวัตกรรมยางรถยนต์ไร้ลม

อย่างไรก็ตามปัจจุบันยางรถยนต์ไร้ลมรุ่นนี้ ยังอยู่ในกระบวนการทดสอบและพัฒนา คาดว่าจะสามารถนำออกมาใช้จริงได้ในปี 2024 และจะมีการเจาะตลาดกลุ่มรถขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ด้วย ที่น่าสนใจคือ Michelin ไม่ใช่ผู้ผลิตยางรายแรกที่มีแนวคิดสร้างยางรถยนต์ไร้ลม ออกมาแก้ไขปัญหาการใช้ล้อเติมลม แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Goodyear ก็ได้ออกมาเปิดตัวแนวคิดผลิตยางชนิดนี้เช่นกัน ใช้ชื่อว่า ‘Aero’ โดยตั้งใจออกแบบให้เป็นทั้งล้อที่ใช้วิ่งบนถนน และเป็นใบพัดสำหรับรถยนต์บินได้แห่งโลกอนาคต (Flying Cars)

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สองยักษ์ใหญ่แห่งวงการยางรถยนต์ ใครจะเป็นผู้ชนะในสนามประลองประสิทธิภาพของยางรถยนต์ไร้ลมบนท้องถนนจริง ภายใต้นวัตกรรม ‘Airless Technology’ 

ที่มา:

https://www.dezeen.com/2019/06/19/michelin

https://www.designboom.com/technology/michelin

https://www.autodeft.com/deftreport/michelin-uptis-air-free-tyre-prototype

SHARE

RELATED POSTS

ปฏิวัติการดื่มกาแฟในบ้านด้วยโมเดลธุรกิจของ Nespresso ที่กว่าจะประสบความสำเร็จนี้ต้องล้มเหลวมากี่ครั้งจนกลายเป็น Business…